วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปริญญาขยะล้นเมือง / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On December 11, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ระบบการศึกษาไทยที่ถูกมองว่าล้าหลัง ผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศ กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนใหญ่

โดยการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษารับผิดชอบดูแลการศึกษาระดับสูงของประเทศ ส่วนกระทรวงศึกษาธิการรับหน้าที่ดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ เพราะการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีความหลากหลายและซับซ้อน แต่การบริหารจัดการที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ

กระทรวงการอุดมศึกษาจะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์ 8 ข้อ ประกอบด้วย

1.อุดมศึกษาต้องมุ่งการผลิตคนที่แตกต่างไปจากเดิม และสนองความต้องการของประเทศ โดยบัณฑิตที่จบการศึกษาต้องมีความรู้ ทักษะ เจตคติเหมาะสมต่อการจ้างงาน สอดคล้องกับสมรรถนะความรู้ ทักษะของตน เศรษฐกิจของประเทศ

2.การศึกษาต้องมีความเข้มข้นและตรงเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสภาพปัจจุบัน ซึ่งเป็นสภาพที่ร้ายแรงพอสมควร คนที่ว่างงานส่วนใหญ่เป็นคนจบอุดมศึกษา มีทักษะไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน อีกทั้งบัณฑิตที่จบออกมาไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตตัวเองดีขึ้นได้

3.การที่ต้องใช้ผลงานวิจัยสู่เรื่องการแข่งขันระดับโลก และใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสังคมอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง โดยการวิจัยและนวัตกรรมต้องเป็นงานวิจัยที่นำไปสู่การมีนวัตกรรม

4.ระบบของอุดมศึกษาต้องเน้นเรื่องธรรมาภิบาลโดยใช้สภามหาวิทยาลัยเป็นตัวขับเคลื่อน

5.ระบบงบประมาณยังใช้ไม่คุ้มค่าทั้งเรื่องผลิตกำลังคนและการสร้างองค์ความรู้ เพราะส่วนใหญ่นำไปใช้ในเรื่องเงินเดือน ไม่มีงบประมาณที่จะผลักดันให้เกิดการปรับตัว

6.ระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยเฉพาะข้อมูลนิสิต นักศึกษา ควรมีข้อมูลกลางเพื่อให้รู้ว่ามีนักศึกษาจำนวนเท่าไร ผลิตถูกต้องหรือไม่ มีงานทำหรือไม่ ครูผู้สอนมีเท่าใด

7.การลดความเหลื่อมล้ำในโอกาส เชื่อมโยงไปถึงคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน ทำให้การเข้าถึงอุดมศึกษาไม่เท่ากัน

8.การจัดโครงสร้างแยกระบบการบริหารอุดมศึกษาของชาติ โดยเอาส่วนที่เป็นนโยบายออกจากส่วนที่เป็นการกำกับดูแลและการปฏิบัติงาน

เมื่อดูยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ข้อแล้ว ต้องบอกว่าไม่ใช่ของใหม่ เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว

คำถามคือ จำเป็นต้องตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาขึ้นมาดำเนินการหรือไม่ สามารถดำเนินการได้ภายใต้การทำงานของกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่

ในอดีตที่ผ่านมาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย แต่เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการ ทบวงมหาวิทยาลัยถูกยุบเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อลดความซ้ำซ้อน

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ปัญหาและแนวทางการพัฒนาการอุดมศึกษา จัดทำข้อเสนอนโยบายและมาตรฐานการอุดมศึกษา จัดทำแผนพัฒนาการอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ และพันธะสัญญาที่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ พร้อมทั้งวิเคราะห์หลักเกณฑ์และแนวทางการสนับสนุนทรัพยากร จัดสรรงบประมาณอุดหนุนสถาบันอุดมศึกษาและวิทยาลัยชุมชนตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด ตลอดจนเสนอแนะการจัดตั้ง ยุบ รวม ปรับปรุง และยกเลิกสถาบันอุดมศึกษาและวิทยาลัยชุมชน

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ประสานและส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และศักยภาพนักศึกษา รวมทั้งผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสในระบบอุดมศึกษา และการประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ รวมทั้งพัฒนาระบบและดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการอุดมศึกษา การรวบรวมข้อมูล จัดทำสารสนเทศด้านการอุดมศึกษา และดำเนินงานฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ที่บอกว่าไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีกว่าในอดีต ไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานรับใช้ประเทศชาติได้ ไม่สามารถผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศได้ ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ เป็นผลมาจากโครงสร้างขององค์กรหรือคุณภาพของผู้บริหารองค์กร คุณภาพของบุคลากรในองค์กรกันแน่

ประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนที่สุดคือ หากยังปล่อยให้การจัดการศึกษาเหมือนการค้า มหาวิทยาลัยมีสภาพเหมือนบริษัทห้างร้านที่หวังผลกำไรเป็นหลัก การศึกษาของไทยก็คงไม่พัฒนาไปไกลกว่านี้

เงินมีเรียนจบจนเกิดปริญญาขยะมากมายเต็มบ้านเต็มเมือง

ไม่ว่าจะเป็นทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือกระทรวงการอุดมศึกษา ไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหาใบปริญญาขยะ เพราะถ้าไม่สามารถผลักดันให้ทุกอย่างเป็นไปตามยุทธศาสตร์ได้

จะใช้ชื่อไหน จะแยกตัวเป็นเอกเทศ หรืออยู่สังกัดใด ความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาก็มารอเคาะประตูอยู่หน้ากระทรวงเหมือนเดิม


You must be logged in to post a comment Login