วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแนะประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรพกยกอมใต้ลิ้น

On December 10, 2017

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เปิดเวทีสร้างความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติสำหรับการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เผยทุกชั่วโมงคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน2ราย  แนะประชาชนควรพกยาอมใต้ลิ้น ร่วมกับ BABY แอสไพริน ติดตัวไว้ตลอดเวลาหรือตลอดการเดินทางท่องเที่ยว จี้สธ.สพฉ.เร่งจัดระบบรองรับการส่งต่อเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ให้มีประสิทธิภาพทันท่วงที

ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์  หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า จากปรากฎการณ์คนวงการบันเทิง นักการเมือง บุคคลมีชื่อเสียง ประชาชนทั่วไป ต้องมาจบชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ดังนั้นควรนำบทเรียนความสูญเสียครั้งนี้ มาสู่แนวทางปฏิบัติและป้องกันอย่างถูกวิธี จากสถิติ ทุกชั่วโมงคนไทยต้องเสียชีวิตจากหัวใจวายเฉียบพลัน 2 คน ซึ่งภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเกือบทั้งหมดเกิดจากหัวใจเต้นผิดปกติร้ายแรง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจขาดเลือดรุนแรง จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นในอก เหมือนถูกเหยียบ หรือรัดแน่น ที่อาจร้าวไปที่คอ คาง ฟัน ยอดอก หรือร้าวไปที่ไหล่และแขนโดยเฉพาะด้านซ้าย ขณะหรือหลังการออกกำลังกายหรือเครียดมากๆ ซึ่งเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือดที่จะนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้เมื่อมีอาการ ควรนั่งพักทันที ถ้านั่งพักสักครึ่งนาทีแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรอมยาแก้อาการหัวใจขาดเลือด หรือ ยาไอเอสดีเอ็น (ISDN) ให้อมยาไว้ใต้ลิ้นทันที และเรียกคนใกล้เคียงให้ช่วยเหลือ หากอาการดีขึ้นหลังอมยาควรไปตรวจหาสาเหตุที่โรงพยาบาล แต่หากภายใน 2-3 อึดใจ หรือ 2-3 นาที ยังไม่ดีขึ้นให้โทรเรียก1669 เพื่อขอให้ส่งรถฉุกเฉินให้มาช่วย จากนั้นให้แล้วอมยา ISDN อีก1เม็ด แล้วรอจนกว่ารถฉุกเฉินจะมาช่วยเหลือ นอกจากผู้ที่มีภาวะเสี่ยงแล้ว ผู้ชายอายุ40ปีขึ้นไป และในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ก็ควรพกยาอมใต้ลิ้น ติดตัวไว้ด้วยเช่นกัน

สำหรับข้อห้ามในการใช้ยาอมใต้ลิ้น ISDN มี 2 กรณี คือ 1.ผู้ที่ใช้ยากระตุ้นอวัยวะเพศชายให้แข็งตัว เช่น Viagra,Cialis 2.ผู้ที่หน้ามืดเป็นลม หรือความดันเลือดตก ทั้งนี้ ยาอมใต้ลิ้น ISDN เป็นยาขยายหลอดเลือด รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจที่ขาดเลือดได้รับเลือดไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น และทำให้หัวใจทำงานเบาลง เพราะความดันเลือดลดลงแม้จะไม่ใช่ภาวะหัวใจขาดเลือด การอมยาใต้ลิ้นไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากนัก แต่อาจเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้าแดง เล็กน้อยจากการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งจะหายไปเองใน 10-15 นาที

นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว รถการแพทย์ฉุกเฉินสามารถเข้าถึงตัวผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากเส้นเลือดหัวใจตีบ/ตันได้ภายใน 4-5 นาทีหลังจากแจ้งเหตุ ผู้ป่วยเพียงแจ้งเหตุแล้วรอก็อาจเพียงพอ แต่ในประเทศไทยเรายังไม่สามารถที่จะทำให้มีระบบที่มีประสิทธิภาพเช่นนั้น สมาคมฯจึงได้แนะนำโอกาสช่วยชีวิตให้รอดที่ประชาชนทั่วไปอาจช่วยเหลือตนเองและคนข้างเคียงได้ ด้วยการใช้ยาที่มีผลต่อการขยายตัวของเส้นเลือด เพียงหากเข้าใจผลข้างเคียงแล้วแทบจะไม่มีผลเสีย นอกจากนั้น อยากวิงวอนให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เร่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีหน่วยปฏิบัติการและชุดปฏิบัติการเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับประชากรในพื้นที่ เพื่อให้มีความรวดเร็วและทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดการเสียชีวิตโดยไม่สมควร และควรจัดระบบของโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการสวนหัวใจเพื่อรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันพร้อมประกาศให้ประชาชนและหน่วยกู้ชีพต่างๆได้รู้ เพื่อจะได้ตรงไปยังโรงพยาบาลนั้นๆ ได้โดยตรง อันจะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากขึ้น การนำส่งผิดที่ทำให้ผู้ป่วยภาวะนี้เสียชีวิตมามากแล้ว

แม้เราจะเร่งประชาสัมพันธ์และฝึกอบรมให้คนปั๊มหัวใจ มีเครื่องกระตุกหัวใจ มีหน่วยกู้ชีพรับมือต่อและช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ป่วยฟื้นมาได้ แต่ปัญหาคือไม่สามารถทราบได้ว่าโรงพยาบาลจำเพาะทางแห่งใดพร้อมรักษาต่อได้(การสวนหัวใจเพื่อรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน) การนำส่งผิดที่จึงเหมือนกับส่งผู้ป่วยไปตาย

ขณะที่ ผศ.(พิเศษ) ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม คณบดี สหเวชศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่มีอาการหัวใจวายเฉียบพลันทีไอส์แลนด์ คือในตอนนั้นนักท่องเที่ยวท่านนั้นขับรถสโนพลิกคว่ำ ซึ่งเมื่อตนประเมินอาการเบื้องต้นแล้วพบว่ามีภาวะของหัวใจวายเฉียบพลัน โชคดีที่ตอนนั้นตนได้พกยาแอสไพริน จึงให้ผู้ป่วยรีบเคี้ยวและดื่มน้ำตามมากๆ หลังจากนั้นได้มีการดูแลปฐมพยาบาลผู้ป่วยเพื่อพร้อมส่งต่อให้กับแพทย์

จากประสบการณ์ในครั้งนั้นตนอยากให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงพกยาอมใต้ลิ้น หรือ BABY แอสไพรินติดตัวไว้ เพื่อไว้ใช้กับตัวเองหรือช่วยเหลือผู้ป่วยได้ เพราะหากเราพบผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายเฉียบพลันแล้วหากมัวแต่รอรถพยาบาลฉุกเฉินมาอย่างน้อยใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง หากไม่มีการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างทันท่วงทีอาจะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ได้แก่ คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ หรือเคยมีคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว อ้วน อายุมาก มีความเครียดเป็นประจำ หรือมีการออกกำลังกายอย่างหนัก อาการเบื้องต้นที่พอจะสังเกตได้คือ เจ็บแน่นหน้าอก  เกิดอาการเจ็บร้าวไหล่ แขน จุกที่ท้อง หายใจแรง มีเหงื่ออกตามมือ เท้า หากผู้ป่วยยังมีสติ ให้รีบอมยาอมใต้ลิ้น หรือ ให้เคี้ยวยา BABY แอสไพริน 1เม็ด แล้วดื่มน้ำตามมากๆ แล้วพยายามให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกแรงๆ หรือไอแรงๆ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายรับออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวควรจะพกยาอมใต้ลิ้นหรือ BABY แอสไพริน ไว้ตลอดการเดินทาง เพื่อหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาเราจะได้ช่วยตัวเองหรือผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะแพ้ยาแอสไพริน ไม่ควรใช้

aaa2


You must be logged in to post a comment Login