วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“เบสทริน”อึ้งวิธีประมูลรถ NGV สุดพิสดาร

On December 11, 2017

หลังจาก ขสมก.เปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอโดยวิธีการคัดเลือกโครงการจัดซื้อรถโดยสาร NGV พร้อมซ่อมบำรุง 489 คัน วงเงิน 4,020 ล้านบาท หลังล้มประมูลมาแล้วถึง 6 ครั้ง จนต้องเปลี่ยนมาเป็นการประมูลด้วยวิธีการคัดเลือก ปรากฏว่ามีเอกชนเพียงรายเดียวคือกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ประกอบด้วยบริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน)และบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด(มหาชน)ยื่นเสนอราคา พนักงาน ขสมก.หมดศรัทธา ช ทวี แค่อี-ทิคเก็ต ยังไปไม่รอดจี้บอร์ดพิจารณาถี่ถ้วน
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อบ่ายวานนี้ (10 ธ.ค.) นายสุนทร ชูแก้ว ที่ปรึกษากฏหมายของบริษัทเบสทริน กรุ๊ป จำกัด ได้แสดงความคิดเห็นว่า ไม่แปลกใจที่การประมูลจัดซื้อรถ NGV.ของ ขสมก.จะมาถึงจุดนี้ จุดที่ใช้วิธีการคัดเลือกแบบแปลกๆและก็เป็นไปตามคาดหมายที่มีเอกชนรายเดียวคือบริษัท ช ทวี ยื่นเสนอราคาที่สูงกว่าราคากลาง 10 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 4,400 ล้านบาท ทั้งๆที่ก่อนหน้าครั้งนี้ก็ไม่มีเอกชนรายใดเข้ายื่นเสนอราคาแม้แต่รายเดียว โดยเฉพาะบริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน)ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้าประมูลแต่กลับลำไม่เข้าร่วมดื้อๆ จนเป็นเหตุให้ ขสมก. ใช้อ้างเป็นเหตุผลเปลี่ยนมาใช้การประมูลด้วยวิธีการคัดเลือกแบบแปลกๆนี้ขึ้นมา S__190898179
ทนายเบสทรินกล่าวอีกว่า หลังผ่านการเสนอราคาด้วยวิธีคัดเลือกเพียงวันเดียว นายณัฐชาติ จารุจิดาประธานบอร์ด ขสมก.ร้อนรนต่อรองราคาผลปรากฏว่า เอกชนลดราคาให้ 5 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 4,200 ล้านบาท พร้อมทั้งประกาศจะนำเข้าเสนอบอร์ดทั้งคณะในวันที่ 20 ธันวาคม แต่ปรากฏว่ามีแรงผลักดันเร่งเวลาให้สั้นลงมาเป็นวันที่ 13 ธันวาคมนี้ ตนเชื่อเหลือเกินว่าวิธีนี้คือ “การใช้ระเบียบเป็นข้ออ้างทุจริตเอื้อต่อเอกชนทำให้รัฐเสียหาย” และต้องมีเอกชนยื่นร้องเรียน ปปช.แน่นอน ตนมีคำถามฝากถึง ขสมก.ดังนี้
1.เมื่อครั้งที่ เอกชนรายนี้ชนะการประมูลเมื่อปี 2558 ด้วยราคา 3,800 กว่าล้านบาท ขณะนั้นอัตราและเปลี่ยนยูเอสดอลล่าห์อยู่ที่ 35 บาท มาวันนี้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32 บาท ขณะที่รถบัสเอ็นจีวี.ที่นำเข้ามาส่งมอบให้ ขสมก.ก็เป็นยี่ห้อเดิม โรงงานเดิมที่ประเทศจีน จะอ้างมาว่า โรงงานขอขึ้นราคาก็อาจเป็นไปได้แต่คงไม่มากถึง 600 กว่าล้านบาท แถม ขสมก.ยังมีเงื่อนไขพิเศษกว่าเก่ามากมายหลายข้อเช่นขยายระยะเวลาส่งมอบจากเดิน 90 วันเป็น 180 วัน การจ่ายเงินใช้วิธีจ่ายเป็นงวดๆตามจำนวนรถที่ส่งมอบเป็นงวดๆไม่ต้องรอจนส่งมอบครบ 489 คันเหมือนแต่ก่อน เงื่อนไขหมูๆแบบนี้ใช่มั้ยและราคาที่สูงโอเวอร์แบบล้างผลาญประเทศชาติแบบนี้ใช่มั้ยที่ ขสมก.ต้องการ
2.ไม่แน่ใจว่า ขสมก.ได้ส่งหนังสือเชิญบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด(มหาชน)หรือไม่? เพราะบริษัทนี้ไม่ได้ซื้อซองประกวดราคามาก่อนจะผิดระเบียบหรือไม่? เพราะเท่าที่รู้มาบริษัทนี้อยู่ในแวดวงกลุ่มพลังงานภายใต้การดูแลของ ปตท. มันน่าแปลกตรงที่ ขสมก.มีประธานบอร์ดมาจาก ปตท.และยังมี รัฐมนตรีช่วยคมนาคมคนใหม่ก็มาจาก ปตท.คงต้องฝากสื่อมวลชนจับตาด้วย เพราะจะบังเอิญอะไรขนาดนั้น
3.ขสมก.ควรย้อนกลับไปดูคำสั่งที่ 901/2560 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 นางพนิดา ทองสุข ประธานกรรมการกำหนดราคากลางได้กำหนดราคากลางเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ผ่านมาแค่ 17 วันมานี้เอง นางพนิดาและกรรมการทั้งคณะอีก 6 คนได้อ้างถึงแหล่งที่มาของราคากลางตามคำสั่งที่ 717/2560 ลว.25 ส.ค.60 กำหนดไว้ตามหนังสือที่ ฝรอ.227/2560 ลว.2 ต.ค.60 ซึ่ง ผู้อำนวยการได้อนุมัติแล้ว โดยการสืบราคาจากท้องตลาด มีผู้เสนอราคาทั้งหมด 5 รายที่สำคัญหนึ่งในห้าบริษัทฯมี กิจการร่วมค้า เจวีซีซี.หรือ ช ทวี รวมอยู่ด้วย โดยราคากลางที่สรุปเมื่อ 171 วันที่ผ่านมาคือ 4,020,158,000 บาท ตรงนี้ถามว่า ราคากลางที่เอกชนรายนี้เห็นพ้องด้วยคือราคานี้ แต่กลับเสนอราคาสูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ คำถามจึงอยู่ที่ การสรุปราคากลางของนางพนิดาและกรรมการ เอกชนสามารถเสนอราคาที่สูงกว่าได้หรือไม่? อยากให้กลับไปอ่านระเบียบอีกครั้งว่า ทำได้หรือไม่? ที่สำคัญหาก ขสมก.ยอมให้ราคาสูงกว่าราคากลางที่กำหนด ทำไมไม่ตั้งราคากลางขึ้นมาใหม่ให้สูงกว่าเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ ทำแบบถือว่าจงใจปิดโอกาสเอกชนรายอื่นๆเข้าร่วมประมูลด้วยหรือไม่?
4.บริษัท ช ทวี ยังมีปัญหากับ ขสมก.เรื่องส่งมอบติดตั้งระบบ อี-ทิคเก็ต ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 13 นี้ว่าจะยกเลิกสัญญาหรือไม่?ตามที่นายณัฐชาติ แถลงข่าวไปเมื่อไม่นานนี้ ถ้าถูกยกเลิกสัญญาขึ้นมาจริงๆจะทำยังไง? แต่ขสมก.ก็อาจอ้างว่าเป็นคนละConsortium กันแต่อย่าลืมว่าทั้งอี-ทิคเก็ตและจัดซื้อรถNGV บริษัท ช ทวี เป็นบริษัทหลักทั้ง 2 สัญญา ตรงนี้ถือว่าเหมาะสมแล้วหรือ?
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากที่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)เช้าวันที่ 9 ธันวาคมมี นสพ.ฉบับหนึ่ง พาดหัวข่าว “บิ๊กตู่ ห่วง ขสมก.สั่งเบรกแผนลดคน” มีเนื้อหาแบบย่อว่าว่า นายณัฐชาติ อ้างคำพูดนายกฯว่าเป็นห่วงแผนลดต้นทุนของ ขสมก.ที่จะต้องลดจำนวนพนักงาน ขสมก.จากจำนวนที่มีปัจจุบัน 13,000 คนให้ลดลงเหลือ 7,500 คน โดยเฉพาะพนักงานเก็บค่าโดยสาร 2,000 คัน ทำให้ ขสมก.ต้องทบทวนปรับแผนการติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญหรือ Cash Box บนรถเมล์ 2,600 คัน โดย ขสมก.จะยึดตามสัญญาที่ทำไว้กับ บริษัท ช ทวี จำกัด ที่ต้องติดตั้งให้ครบ 800 คันภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 หรืออีกไม่กี่วันนี้ไปก่อน ส่วนที่เหลืออีก 1,800 คัน ให้ชะลอไปก่อน
ปรากฏว่าพนักงาน ขสมก.ต่างพากันตั้งข้อสังเกตว่า “พวกเราเชื่อว่านายกฯมีความเป็นห่วงพนักงาน ขสมก.จริงๆ แต่สำหรับนายณัฐชาติ น่าจะถือโอกาสเปิดช่องช่วยเอกชนมากกว่าเพราะถ้า บริษัทช ทวี มีปัญหาส่งมอบอีทิคเก็ต และ Cash Box ไม่ทันวันที่ 12 ธันวานี้แน่นอน ต้องยกเลิกสัญญา แต่พอบริษัทนี้เสนอราคาจัดซื้อรถเอ็นจีวี.พวกเราขอถามว่า ท่านเป็นห่วงพวกเราจริงๆหรือเป็นห่วงว่าเอกชนรายนี้เมื่อถูกยกเลิกสัญญาอี-ทิคเก็ตแล้วจะมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อรถเอ็นจีวี. พวกเราขอให้ทบทวนว่า ขนาดงานติดตั้งเครื่องอีทิคเก็ต ซึ่งเป็นงานเล็กๆระยะเวลาผูกพันสั้นๆไม่กี่เดือนเอกชนรายนี้ยังไม่มีความสามารถ แล้วโครงการใหญ่ๆมูลค่าสูงกว่า 4,400 ล้านบาท ระยะเวลานาน 10 ปีจะไปรอดได้อย่างไร?”
ขณะที่นายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพฯ ขสมก.กล่าวว่าตนจะเข้าพบคณะกรรมการประกวดราคาเพื่อสอบถามถึงความเหมาะสมที่จะอนุมัติให้บริษัท ช ทวี ชนะโครงการจัดซื้อในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวยังติดปัญหางานสัญญาจัดซื้อและติดตั้ง อี-ทิคเก็ต ที่มีปัญหามากมาย จนมีข้อกังวลว่าโครงการเอ็นจีวี.เป็นงานใหญ่ระดับ 4,000 ล้านบาท ช ทวี จะสามารถส่งมอบรถเมล์ได้ตามแผนในเดือนมิถุนายนปีหน้าได้จริงหรือ?


You must be logged in to post a comment Login