- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 4 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 7 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ติดเชื้อกระจกตา / โดย พญ.ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ
คอลัมน์ : โลกสุขภาพ
ผู้เขียน : พญ.ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ
จากสถิติรายงานโรคตาของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์พบว่า โรคทางตาที่พบมากขึ้นในสังคมไทยคือ การติดเชื้อที่กระจกตาจากคอนแท็คเลนส์และโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ซึ่งมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การติดเชื้อที่กระจกตาเกิดจากการใช้คอนแท็คเลนส์เป็นประจำ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการตาแดง ปวดตา ตามัว น้ำตาไหล มองสู้แสงไม่ได้ มีขี้ตา เปลือกตาบวม และอาจเห็นจุดสีขาวอยู่บนกระจกตาได้ หากไม่ได้ทำการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น จุดขาวที่เกิดขึ้นจะลุกลามเกิดเป็นหนองสีขาวในช่องหน้าลูกตา ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆที่ดวงตา เช่น กระจกตาทะลุ ต้อหิน ต้อกระจก ไปจนถึงตาบอด
สำหรับการลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่กระจกตาสามารถทำได้โดยผู้ป่วยต้องดูแลรักษาคอนแท็คเลนส์อย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ ห้ามไม่ให้คอนแท็คเลนส์สัมผัสกับน้ำทั่วไป ต้องเป็นน้ำยาที่ใช้สำหรับคอนแท็คเลนส์เท่านั้น ไม่ใส่คอนแท็คเลนส์เกินอายุการใช้งานที่ระบุไว้ข้างกล่อง ไม่ใช้คอนแท็คเลนส์มือสอง ไม่ควรใส่คอนแท็คเลนส์ขณะนอนหลับ และควรเปลี่ยนตลับแช่คอนแท็คเลนส์บ่อยครั้ง ที่สำคัญคือ การตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพตาและตรวจวัดค่าสายตาหรือคอนแท็คเลนส์ที่เหมาะสมอย่างน้อยทุก 6-12 เดือน
ขณะที่โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมคือ การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแทบเล็ตติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินความจำเป็น จะทำให้เกิดอาการทางตาต่างๆตามมาได้ สามารถพบผู้ป่วยได้มากถึงร้อยละ 70 ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นประจำ และมักพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
สาเหตุหลักเกิดจากแสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแทบเล็ต รวมถึงผิวหน้าจอที่สามารถสะท้อนแสงจากสิ่งแวดล้อมรอบๆมาสู่ตา จึงทำให้ปวดตา ตาล้าได้ง่าย อีกทั้งการกะพริบตาน้อยลงขณะที่อยู่หน้าจอจะทำให้น้ำตาระเหย ตาแห้ง แสบตา แพ้แสง หรือตามัว เมื่อสะสมเรื่อยๆอาการจะหนักขึ้น และปวดบริเวณศีรษะ คอ บ่า ไหล่
สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดยการกะพริบตาบ่อยขึ้นเวลาอยู่หน้าจอ และควรพักสายตาเป็นระยะตามกฎ 20-20-20 คือทุก 20 นาที ให้พักสายตาอย่างน้อย 20 วินาทีโดยการมองไกลๆ 20 ฟุต หรือหลับตาพักก็ได้ รวมทั้งการปรับท่าทางการทำงาน ตำแหน่งของหน้าจอ ใช้แว่นสายตาที่เหมาะสม จะช่วยลดอาการต่างๆได้มากขึ้น
นอกจากการดูแลสายตาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังสามารถดูแลสายตาได้จากภายในคือ การรับประทานวิตามินเอที่มีหน้าที่ช่วยในการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูก การแบ่งตัวของเซลล์ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ซ่อมแซมผิวของดวงตาและหลอดลม ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายยากขึ้น และยังกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของผักบุ้ง เนื่องจากผักบุ้งมีวิตามินเอสูง
การรับประทานผักบุ้งเป็นประจำจะลดอาการปวดดวงตา ลดอาการแสบตาที่เกิดจากการใช้ดวงตาหนักๆได้เป็นอย่างดี ตำลึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงสายตา ถนอมสายตาให้มีสุขภาพดี ช่วยในการมองเห็นอีกด้วย ฟักทองมีคุณค่าทางอาหารสูง เนื้อฟักทองมีวิตามินเอสูง บำรุงดวงตา และสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมสภาพได้
ดังนั้น ประชาชนคนไทยควรหันมาตระหนักถึงสุขภาพตา หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อดวงตา ตั้งแต่การใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนนานเกิน 25-30 นาที ต้องพักสายตาอย่างน้อย 1-5 นาที ควรดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อให้ดวงตามีความชุ่มชื้น และพักผ่อนนอนหลับ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ประสาทตาได้พักการใช้งาน เพื่อลดภาวะการเจ็บป่วยจากโรคยอดฮิตทางสายตาได้
You must be logged in to post a comment Login