วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

The Hidden Answer of History / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On December 18, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

เรื่องของประวัติศาสตร์ความจริงมีอะไรที่ต้องวิวาทะกันมากมาย ซึ่งดำเนินไปตามกระบวนทัศน์ของนักประวัติศาสตร์แต่ละคนที่ใช้ทฤษฎีในการอ่านหรือวิเคราะห์ที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย กลายเป็นผลให้เรามองและเข้าใจประวัติศาสตร์แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีประวัติศาสตร์หลายเวอร์ชั่น

ข้อนี้คงไม่แปลกอะไร เนื่องจากรากศัพท์เดิมของคำว่า “History” ก็มาจากภาษากรีกที่เขียนว่า “Historio” แปลว่าการตรวจสอบหรือ “investigation” ความหมายเดิมของรากศัพท์ในภาษากรีกทำให้ปรัชญาของประวัติศาสตร์คือกระบวนการตรวจสอบนั่นเอง

มองไปอย่างนี้แล้วทำให้นักประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมีคุณสมบัติอันแรกสุดคือ ความใจกว้างและยอมรับกระบวนการตรวจสอบทางวิชาการ

การยอมรับกระบวนการตรวจสอบนี้ยังไปสอดคล้องกับทรรศนะของ E.H. Carr นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่กล่าวว่า “ก่อนที่คุณจะศึกษาข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ สิ่งแรกที่คุณต้องลงมือกระทำคือ การศึกษาถึงเรื่องราวของนักประวัติศาสตร์เสียก่อน” เหตุผลนั้นเป็นเพราะไม่มีบุคคลใดในโลกนี้ที่จะดีพร้อมสรรพได้เลย

ทั้งนี้ E.H. Carr เห็นว่า คนจะเข้าข้างหรือ bias มีการเอียงเข้าข้างตามอคติหรือภยาคตินั่นเอง คนมักมีอุดมการณ์ ซึ่งบ่อยมากที่การเขียนประวัติศาสตร์ถูกนำมารับใช้อุดมการณ์ส่วนตัวทางการเมืองของตนเอง ทำให้มีการคลั่งไคล้ใหลหลงในการเขียนประวัติศาสตร์อีกด้วย

จากความหมายเดิมของรากศัพท์ในภาษากรีกทำให้นักประวัติศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติประการแรกคือ ความใจกว้างพร้อมรับกระบวนการตรวจสอบ เพราะไม่มีใครในโลกนี้จะดีอย่างสมบูรณ์แบบได้เลย

คนเรามักจะมีอคติหรือภยาคติประการหนึ่งประการใด ซึ่งยังมีความจงรักภักดีแฝงอยู่ในกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์

ความคลั่งไคล้ใหลหลงเช่นเดียวกันที่สามารถครอบงำคนเขียนประวัติศาสตร์ได้เสมอ

งานเขียนประวัติศาสตร์ยังเป็น Discourse analysis จินตนาการในงานประวัติศาสตร์มีความเป็นไปได้เสมอ

ประวัติศาสตร์ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองและอำนาจที่ใช้เพื่อการเชิดชู หรือใช้เพื่อเหยียบย่ำทำลายกัน ประวัติศาสตร์ยังถูกเอามารับใช้ลัทธิชาตินิยมหรือการคลั่งชาติ

เมื่อเรามองประวัติศาสตร์ในแง่ Discourse คือมองเป็นวาทกรรมวิเคราะห์ ก็จะพบความจริงที่น่าสนใจอยู่อีกประการหนึ่ง ได้แก่ ประวัติศาสตร์ได้สร้างความหมายที่บิดเบือนเกี่ยวกับความเป็นชาติขึ้นมา

เรื่องความเป็นชาติหรือ Nationhood ในยุคสมัยปัจจุบันนั้น ทำให้เรามองเห็นถึงความน่าโศกเศร้าของความเป็นชนชาติต่างๆเท่าที่มีอยู่ทั่วโลก

เราจะเห็นถึงความขัดแย้งของบรรดาชาติต่างๆ เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชาติและชาตินิยมต่างๆ ได้แต่แข่งขันชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน โลกนี้จึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งมากมายระหว่างผู้คนที่นิยามตนเองว่าได้สังกัดรัฐชาติหนึ่งเพื่อไต่เต้าไปอีกรัฐชาติหนึ่ง ซึ่งเราจะเห็นแม้แต่การแข่งขันกีฬาที่ต่อสู้ ในบางครั้งถึงกับเอาเป็นเอาตายกัน การแข่งขันระหว่างชาติมีนัยของความเป็นนักกีฬาที่รักการต่อสู้แข่งขัน

การเป็นศัตรูกันในระหว่างชาติต่างๆ ซึ่งเล่นกับสิ่งที่เรียกกันว่าการรับรู้มาตรฐานหรือ normative perception เรามองจากมิตินี้แล้ว การเล่นกับความรับรู้มาตรฐานนั้นคือการทำหน้าที่หลอกลวงมนุษย์ด้วยกันเองของความเป็นประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์มีหน้าที่ในการหลอกหลอนอย่างน่ากลัวจนอาจทำให้ผู้คนเข่นฆ่าพล่าผลาญชีวิตกันได้อย่างเหี้ยมโหด แม้ในสงครามที่โหดร้ายมากที่สุด มีการหลอกลวงที่ฉาบเคลือบยาพิษร้ายต่างๆอีกมากมายในประวัติศาสตร์ รวมทั้งประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยด้วยเช่นเดียวกัน

ความหลอกลวงนั้นบางอย่างยังเชื่อมโยงไปถึงภูมิลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ด้วยซ้ำไป เป็นเรื่องของ Topography ซึ่งครอบงำอยู่ในโครงสร้างของวัฒนธรรมและจิตสำนึกทางด้านการเมือง ซึ่งชนชั้นปกครองได้ใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำสังคม เปรียบเสมือนโซ่ตรวนที่ใช้ล่ามจำขังผู้คนในสังคมเอาไว้นั่นเอง

ทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เพื่อสะท้อนว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ยังต้องกระทำกันต่อไป ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังต้องให้องค์ความรู้และทฤษฎีอย่างนี้ก้าวไปข้างหน้าและหลากหลายในวงการของนักประวัติศาสตร์ทั่วโลก


You must be logged in to post a comment Login