- ปีดับคนดังPosted 40 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ตัวเลขไม่เคยโกหก / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เศรษฐกิจดีขึ้น ปีหน้าคนไทยจะหายจน ฯลฯ คือข่าวสารที่รัฐบาลทหาร คสช. สื่อสารกับประชาชน
แม้รัฐบาลจะมีตัวเลขการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นมายืนยัน มีตัวเลขจีดีพีที่โตขึ้นมาเป็นหลักฐาน แต่เมื่อพิจารณาหลักฐานอื่นกลับเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริงหรือไม่
ถ้าดีจริงอย่างที่รัฐบาลทหาร คสช. พูด ทำไมตัวเลขคนว่างงานไม่ลดลง แถมยังมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
นี่ไม่ใช่การดิสเครดิตรัฐบาลทหาร คสช. แต่เป็นข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐเอง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า การสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2560 พบว่าผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 56.05 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมจะทำงาน 37.22 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 36.65 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.81 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.53 หมื่นคน
ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงานมี 18.83 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา
หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ว่างงานในเดือนตุลาคม 2560 มีทั้งสิ้น 481,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 31,000 คน และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 1.3 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 38,000 คน อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 1.3
เมื่อพิจารณาตามเพศ เพศชายมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 และเพศหญิงมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 เทียบกับเดือนกันยายน 2560 จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานเพศชายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 1.4 และเพศหญิงอัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นแล้ว สถานการณ์หนี้ครัวเรือนช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ก็ยังไม่ดีขึ้น
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูล 26,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่าการเป็นหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.1 เป็นร้อยละ 51 โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนจาก 156,770 บาท เป็น 177,128 บาท เพิ่มขึ้น 20,358 บาท
เป็นที่น่าสังเกตว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงจะมีค่าใช้จ่ายและหนี้สูงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยเป็นหนี้ในระบบ 172,188 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 18,000 บาท และเป็นหนี้นอกระบบเฉลี่ยที่ 4,940 บาท สูงขึ้นจาก 3,346 บาท โดยพบว่ากรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีสัดส่วนหนี้นอกระบบสูงสุดถึงร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ กลุ่มอาชีพที่ก่อหนี้มากที่สุดคือ ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตรกร แม่ค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งกู้เพื่อลงทุน ประกอบอาชีพ และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33 ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ตามทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสินเชื่อรถยนต์เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 และ 3.1 ตามลำดับ
นอกจากนี้ข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่สำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 ก็มีความสอดคล้องกัน
จากการสำรวจทั่วประเทศ 1,191 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 กันยายน-10 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจซ้ำเดิมร้อยละ 30 พบว่ามีสัดส่วนคนไม่มีหนี้ร้อยละ 8.9 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ที่เริ่มทำสำรวจ และมีคนเป็นหนี้ร้อยละ 91.1
ยอดหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 299,266 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากปีก่อนซึ่งมียอดหนี้ 298,005 บาท ถือเป็นยอดหนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี แต่การขยายตัวต่ำสุดรอบ 10 ปี โดยแบ่งเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 74.60 และหนี้นอกระบบร้อยละ 26.40
สาเหตุที่ยอดหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นเพราะมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น ขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ และมีหนี้จากการพนันบอลเล็กน้อย
ขณะที่วัตถุประสงค์ที่ก่อหนี้ ร้อยละ 23.3 เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 21.9 ซื้อยานพาหนะ ร้อยละ 11.9 ชำระหนี้เก่า ร้อยละ 10.6 ลงทุนประกอบอาชีพ ร้อยละ 10.6 ซื้อที่อยู่อาศัย และร้อยละ 8.8 เพื่อการศึกษา
จะเห็นว่ามีการกู้ยืมเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย แม้การกู้ไปชำระหนี้เก่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ในอนาคตจะลดลง แต่จะเห็นว่าสัดส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งควรจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 20-40 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
สำหรับการผ่อนชำระหนี้เฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 15,438 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากปีก่อน แบ่งเป็นการชำระหนี้ในระบบ 14,032 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.41 ชำระหนี้นอกระบบ 5,512 บาทต่อเดือน ลดลงร้อยละ 46.33 นับว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นผลจากมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐ
ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปี 2560 พบว่าร้อยละ 20.7 ไม่เคยมีปัญหา ร้อยละ 79.3 เคยมีปัญหาเนื่องจากสินค้ามีราคาแพง เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์อุทกภัยต่างๆ รายได้ลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้น
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทั้งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะเห็นว่าสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คืออัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ยอดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
ตัวเลขไม่เคยโกหกใคร
นี่คือข้อมูลทางเศรษฐกิจอีกด้านที่สะท้อนจากความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องคิดไปเองหรือยกเมฆมาเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลทหาร คสช.
You must be logged in to post a comment Login