วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มะเร็งเต้านม : กันไว้ดีกว่าแก้ เพราะถ้าแย่เดี๋ยวจะแก้ไม่ทัน โดย ผศ.นพ ประกาศิต จิรัปปภา

On December 22, 2017

“กันไว้ดีกว่าแก้เพราะถ้าแย่เดี๋ยวจะแก้ไม่ทัน”

สุภาษิตโบราณนี้เข้ากับทุกยุคสมัยโดยเฉพาะแนวนิยมด้านสุขภาพในปัจจุบันที่เน้นเชิงป้องกันมากขึ้นทั้งการออกกำลังกายอาหารการกินอาหารเสริมและการตรวจสุขภาพประจำปี

หนึ่งในหัวข้อสำคัญสำหรับการตรวจสุขภาพได้แก่การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (การตรวจคัดกรองหมายถึงการตรวจหาโรคแม้มิได้มีอาการ)

คำถามแรกที่ควรจะต้องได้คำตอบก่อนตัดสินใจต่อไปคือโรคใดบ้างที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองและเหตุผลคืออะไรซึ่งองค์การอนามัยโลกให้คำอธิบายและหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนดังนี้

1 เป็นโรคที่พบบ่อย

2 เป็นโรคที่มีระยะเวลาที่ไม่แสดงอาการยาวนาน

3 เป็นโรคที่สามารถรักษาได้

4 วิธีการตรวจมีความแม่นยำและเชื่อถือได้

5 วิธีการตรวจเป็นที่ยอมรับ

โรคที่มีคุณสมบัติครบถ้วนชัดเจนคือมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศหญิงและเป็นโรคเงียบกล่าวคือมีระยะเวลาที่ไม่แสดงอาการยาวนานจากรอยโรคเล็กๆใช้เวลาเจริญเติบโตจนกระทั่งเป็นก้อนที่คลำได้เฉลี่ยถึงสองปีซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมจะช่วยให้เริ่มวินิจฉัยและรักษาได้เร็วขึ้นมากส่งผลถึงความยุ่งยากในการรักษาและอัตราการหายในขณะเดียวกันการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันได้ผลดีมากมากกว่า70%ของผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้

รายละเอียดวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม

วิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานได้แก่การทำแมมโมแกรมซึ่งก็คือการเอ็กซเรย์เต้านมนั่นเองแต่เป็นเครื่องมือที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อการตรวจเต้านมมีสองขั้นตอนได้แก่การบีบเนื้อเต้านมและการเอ็กซเรย์เป้าหมายของการบีบเนื้อเต้านมคือการทำให้ความหนาของเนื้อที่จะเอ็กซเรย์บางลงเพื่อลดการทับซ้อนกันของเนื้อเยื่อเต้านมส่งผลให้ตรวจพบก้อนได้ง่ายมากขึ้นและใช้รังสีน้อยลงซึ่งในปัจจุบันกล่าวได้ว่าปริมาณรังสีที่ได้รับน้อยมากๆจนไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดความผิดปกติที่อาจเกิดจากมะเร็งและสามารถเห็นในแมมโมแกรมได้แก่ก้อนในเต้านม, หินปูนเกาะผิดปกติในเนื้อเต้านมและโครงสร้างที่ผิดรูปไปของเต้านมอย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจส่งผลให้ความแม่นยำในการตรวจเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรมลดลงเช่นในผู้ที่มีความหนาแน่นของเนื้อเต้านมสูงเต้านมจะมีความทึบรังสีมากขึ้นและอาจซ้อนทับกันจนบังก้อนที่มีอยู่ได้

ในกรณีที่เนื้อเต้านมมีความหนาแน่นสูงนี้อาจส่งผลให้ความแม่นยำในการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมอย่างเดียวลดลงมากถึง50% ซึ่งการตรวจเสริมด้วยอัลตราซาวด์จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี

การตรวจอัลตราซาวด์เต้านมเป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแบบเดียวกับการอัลตราซาวด์ช่องท้องที่เราคุ้นเคยนั่นเองการทำงานของการเครื่องมือนี้คล้ายกับโซนาร์ที่ใช้หาปลาทะเลแต่ภาพที่ได้มีความละเอียดมากกว่าโดยหัวตรวจอัลตราซาวด์จะปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงออกมาและรับคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับเอามาประมวลผลสร้างเป็นภาพโดยมีหลักการว่าเนื้อเยื่อแต่ละชนิดจะสะท้อนเสียงกลับได้ไม่เท่ากันจากนั้นเอาข้อมูลที่ได้ทั้งความลึกและปริมาณเสียงที่สะท้อนกลับมาสร้างเป็นภาพอัลตราซาวด์สามารถตรวจหาก้อนในเต้านมได้แม้เนื้อเยื่อจะมีความหนาแน่นมากจนไม่สามารถตรวจด้วยแมมโมแกรมได้อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองยังจำเป็นต้องใช้การตรวจแมมโมแกรมเพราะลักษณะหินปูนที่เกาะในเนื้อเต้านมและโครงสร้างที่ถูกดึงบิดไปยังเป็นรอยโรคที่พบโดยแมมโมแกรมและแทบจะไม่เห็นในอัลตราซาวด์เลย

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่จะเป็นบริการที่จัดโดยรัฐให้ตรวจได้ฟรีและเป็นการตรวจแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียวจนเมื่อพบความผิดปกติจึงจะเรียกกลับมาตรวจซ้ำด้วยอัลตราซาวด์แต่ในประเทศไทยเรามักพบผู้หญิงที่เต้านมมีความหนาแน่นสูง(เต้านมเล็กกว่าแต่ปริมาณต่อมน้ำนมเท่ากัน)ซึ่งมีผลให้ความไวของแมมโมแกรมในการตรวจหาก้อนลดลงดังนั้นในประเทศไทยเราจึงตรวจทั้งแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมไปพร้อมๆกัน

จากรายงานการวิจัยพบว่าการตรวจแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียวมีความไวในการวินิจฉัยความผิดปกติได้ประมาณ85-90% แต่ในเต้านมที่มีความหนาแน่นสูงความไวในการตรวจจะลดลงเหลือเพียง35-50% แต่ถ้าได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ร่วมด้วยความไวในการตรวจพบความผิดปกติจะเพิ่มกลับไปเป็น90-95%

เกณฑ์ที่มีเหตุผลทางวิชาการเป็นที่ยอมรับทั่วโลกสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมคือควรได้รับการตรวจคัดกรองทุกปีโดยเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ40 ปีและตรวจไปเรื่อยๆตราบใดที่ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันปกติได้

เครื่องมืออื่นๆที่มีความพยายามนำมาใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแต่ยังพบว่าไม่เหมาะสมนักได้แก่

การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้่า(MRI Breast) การตรวจวิธีนี้มีความไวในการตรวจพบความผิดปกติสูงมากกว่าแมมโมแกรมมากแต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่าความไวที่มากเกินไปนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดโดยไม่จำเป็นเพิ่มมากขึ้นอาจพูดได้ว่าการตรวจวิธีนี้มีความไวมากเกินไปจนทำให้มองเห็นรอยโรคที่ไม่ใช่มะเร็งเป็นรอยโรคที่มีความน่าสงสัยดังนั้นการนำวิธีการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาใช้ในผู้ป่วยทั่วไปยังเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นแต่สามารถนำมาใช้ได้ด้วยความระมัดระวังหรือใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมากเช่นทราบแน่นอนว่ามีพันธุกรรมผิดปกติ

การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งสารบ่งชี้มะเร็งคือสารที่สร้างโดยเซลล์มะเร็งและไม่สร้างโดยเซลล์ปกติหรือสร้างในปริมาณต่ำมากๆถ้ากล่าวเพียงแค่นี้โดยคำจำกัดความแล้วสารบ่งชี้มะเร็งน่าจะใช้ในการตรวจหามะเร็งได้และมีความสะดวกในการใช้อย่างมากเพราะใช้แค่การตรวจเลือดแต่ในความเป็นจริงสารต่างๆเหล่านั้นแม้ไม่สร้างโดยเซลล์ปกติแต่กลับมีการตรวจเลือดพบสารบ่งชี้มะเร็งต่างๆได้สูงมากขึ้นในภาวะที่มีการอักเสบในอวัยวะต่างๆของร่างกาย

สารบ่งชี้มะเร็งเกือบทั้งหมดมีความไวต่ำและมีความจำเพาะต่ำกล่าวคือแม้ขณะเป็นมะเร็งก็อาจตรวจไม่พบสารบ่งชี้มะเร็งโชคร้ายไปกว่านั้นบางขณะแม้ไม่เป็นมะเร็งก็ยังอาจตรวจพบสารบ่งชี้มะเร็งสูงขึ้นได้อีกด้วยซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากอย่างมากกว่าจะสามารถวินิจฉัยได้แน่นอนว่าไม่ได้เป็นมะเร็งและยังเสียสุขภาพจิตอย่างร้ายแรงอีกด้วย

Untitled1

แมมโมแกรมแสดง ก้อนของมะเร็งในเต้านมขวา

Untitled2

การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้่า(MRI Breast)แสดง ก้อนของมะเร็งในเต้านมขวา

Untitled3

การตรวจอัลตราซาวด์แสดง ก้อนของมะเร็งในเต้านมขวา

 


You must be logged in to post a comment Login