วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ริชาร์ด มิลล์ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On December 25, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

โทมัส เพอร์กินส์ ให้สัมภาษณ์หลังชนะการแข่งขันเรือยอชต์ Perini Navi Cup เมื่อปี 2006 โดยตอนหนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขายอมซื้อนาฬิการิชาร์ด มิลล์ 1 เรือน ในราคาที่สามารถซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์ได้ทั้งถาด ส่งผลให้ผู้คนสงสัยว่านาฬิการิชาร์ด มิลล์ มีดีอะไรจึงมีราคาแพงมโหฬารขนาดนั้น

ริชาร์ด มิลล์ เกิดเมื่อปี 1951 ที่เมือง Draguignan ประเทศฝรั่งเศส เริ่มเข้าสู่ธุรกิจผลิตนาฬิกาในปี 1974 ค่อยๆไต่เต้าจนอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารในหลายบริษัท จนถึงต้นทศวรรษ 1990 ก็ได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทผลิตนาฬิกาชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส Mauboussin

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ริชาร์ดรู้จักกับ Guilio Papi หนึ่งในช่างทำนาฬิกาที่เก่งที่สุดในยุคปัจจุบัน และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทผลิตนาฬิกายี่ห้อดัง Audemars Piguet Renaud et Papi (APR&P)

ริชาร์ดใฝ่ฝันอยากสร้างนาฬิกาหรูที่แหกคอกไปจากค่านิยมเดิมๆ ซึ่งมักนิยมใช้วัสดุล้ำค่า เช่น ทองคำและทองคำขาว มีการออกแบบโบราณคร่ำครึ อาศัยประสบการณ์หลายสิบปีในวงการทำให้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาแหล่งผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาชั้นเลิศ เหลือก็แต่เพียงการสร้างวัสดุที่แข็งแรงและทนทานแต่มีน้ำหนักเบาเหมือนขนนก

ปี 1999 ริชาร์ดตัดสินใจเปิดโรงงานประกอบนาฬิกาข้อมือของตัวเองในสวิตเซอร์แลนด์ภายใต้ชื่อ Richard Mille โดยมี APR&P เป็นผู้ถือหุ้นและให้ความช่วยเหลือในการผลิตชิ้นส่วนที่ซับซ้อน เช่น ระบบ Tourbillons และ Split Seconds Chronographs ปี 2001 นาฬิการิชาร์ด มิลล์ เรือนแรก รุ่น RM 001 ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

นวัตกรรม

ริชาร์ด มิลล์ ไม่ได้เป็นแค่บริษัทเดี่ยวๆ แต่มีลักษณะเป็นองค์กรซับซ้อน มีบริษัทที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น Horometrie SA ทำหน้าที่ดูแลทางด้านกฎหมาย และประสานงานกับบริษัท Montres Valgine ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต และการจัดจำหน่าย

บริษัท ProArt ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยวัสดุและผลิตตัวเรือน Vaucher Manufacture Fleurier ผลิตกลไกออโตเมติก ขณะที่ APR&P ผลิตกลไกที่ซับซ้อน แม้ว่าบริษัทคู่ค้าจะทำหน้าที่ผลิตกลไก แต่ริชาร์ด มิลล์ ยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพในขั้นตอนสุดท้าย

นอกเหนือไปจากการผลิตกลไกที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำสูงแล้ว นาฬิการิชาร์ด มิลล์ ยังผลิตจากวัสดุที่แตกต่างไปจากค่านิยมเก่าๆและไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นวัสดุที่สร้างขึ้นมาใหม่ มีน้ำหนักเบาแต่มีความทนทานสูงแบบเดียวกับวัสดุที่ใช้สร้างยานยนต์ อากาศยาน และเรือใบ

การสร้างวัสดุชนิดนี้ต้องใช้เวลาวิจัยนาน ใช้เม็ดเงินมหาศาล ใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ และใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการควบคุมการผลิต ลองนึกภาพว่าบริษัทใหญ่ๆทำการศึกษาและวิจัยวัสดุเพื่อสร้างตัวถังรถยนต์ อากาศยาน หรือเรือยอชต์ ขณะที่ริชาร์ด มิลล์ ใช้เวลาและเม็ดเงินลงทุนพอๆกันเพื่อผลิตตัวเรือนนาฬิกาเพียงไม่กี่เรือนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นาฬิการิชาร์ด มิลล์ ต้องตั้งราคาขายสูงลิบลิ่ว

เทคโนโลยี

ตัวเรือนนาฬิกาประกอบด้วย 3 ส่วนคือ กรอบหน้า ฝาหลัง และโครงส่วนกลาง การออกแบบตัวเรือนที่ผิวหน้าไม่เรียบ มีส่วนเว้าส่วนโค้ง แต่เมื่อนำตัวเรือนมาประกอบจะต้องประกบเข้ากันสนิท มีช่องว่างได้ไม่เกิน 1/100 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันฝุ่นและไอน้ำเข้าไปในตัวเรือน สิ่งนี้ทำให้เป็นงานยากยิ่งยวด

วัสดุที่ใช้ผลิตตัวเรือนได้แนวความคิดมาจากการผลิตยานยนต์ อากาศยาน และเรือใบ แต่ไม่ได้หมายความว่าใช้วัสดุแบบเดียวกันเป๊ะๆ ริชาร์ด มิลล์ มีแผนกศึกษา วิจัยและพัฒนาของตัวเอง ทำการปรับปรุงเพื่อให้ได้วัสดุที่มีความเหมาะสมกับการสร้างตัวเรือนนาฬิกาข้อมือโดยเฉพาะ

ตัวอย่างเช่น North Thin Ply Technology (NTPT) เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่คิดค้นโดยบริษัทสัญชาติสวิสที่มีชื่อเดียวกัน เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงทนทานสูง ขณะที่ริชาร์ด มิลล์ รุ่น RM 35-01 ใช้ตัวเรือนทำจาก NTPT Carbon ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าและทนทานว่า NTPT

ริชาร์ด มิลล์ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น แผนกวิจัยและพัฒนาสร้างวัสดุ TPT Quartz, Gold NTPT Carbon, Gold TPT Quartz และวัสดุอื่นๆอีกมากมาย นำวัสดุแต่ละชนิดมาเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆตามความเหมาะสม ทำให้ตัวเรือนนาฬิกามีความบาง น้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรงทนทานสูง

ไม่เพียงตัวเรือนเท่านั้นที่ได้รับการพัฒนา กลไกอันเป็นหัวใจสำคัญก็ได้รับการพัฒนาด้วยเช่นเดียวกัน กลไกในนาฬิการิชาร์ด มิลล์ ได้รับการเคลือบด้วยไอทางกายภาพ Physical Vapor Deposition (PVD) หรือชื่อที่ริชาร์ด มิลล์ จดสิทธิบัตรคือ Titalyt การใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตนาฬิกาทำให้ริชาร์ด มิลล์ มีราคาที่สูงมาก เริ่มตั้งแต่ 70,000 ดอลลาร์ ไปจนถึง 2 ล้านดอลลาร์

ลายเซ็นเงินล้าน

ริชาร์ด มิลล์ ไม่ได้ผลิตแต่นาฬิกาเท่านั้น ปี 2016 ริชาร์ด มิลล์ ผลิตปากกาหมึกซึมรุ่น RMS05 ผลิตจากวัสดุ NTPT Carbon ส่วนบนเป็นกระจกเจียระไนแสดงให้เห็นกลไกที่ทำจากไทเทเนียมและพลอย 12 เม็ด เป็นกลไกแบบเดียวกับที่ใช้ในการผลิตนาฬิกา เมื่อกดปุ่มที่หัว กลไกจะส่งกำลังไปเคลื่อนปากกาให้ออกจากที่เก็บพร้อมให้ใช้งาน

หลังจากใช้งานเสร็จก็เพียงเสียบปลอกปากกา ปลายปากกาจะเคลื่อนกลับเข้าที่เก็บและเป็นการไขลานไปในเวลาเดียวกัน หรือเรียกว่าเป็นการทำงานกึ่งอัตโนมัติ ผู้ใช้ไม่ได้ไขลานโดยตรง แต่ต้องเสียบปลอกปากกาเพื่อให้กลไกไขลานตัวเองสะสมกำลังสำหรับใช้ในการขับเคลื่อนปลายปากกาครั้งต่อไป

เนื่องจากมีกลไกตลอดตัวปากกา ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนหลอดหมึกจากด้านบนเหมือนปากกาหมึกซึมทั่วไป การเปลี่ยนหลอดหมึก RMS05 ต้องถอดเปลี่ยนทางปลายปากกา สนนราคาที่แจ้งบนเว็บไซต์ richardmille.com ตั้งไว้ที่ 105,000 ดอลลาร์

หลายคนคงหายสงสัยแล้วว่าทำไมผลิตภัณฑ์ริชาร์ด มิลล์ จึงมีราคาแพงมโหฬารทั้งๆที่เป็นแบรนด์เกิดใหม่อายุแค่ 16 ปีเท่านั้น แพงกว่าแบรนด์ในตำนานอายุนับร้อยปีเสียด้วยซ้ำไป


You must be logged in to post a comment Login