วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ความเหลื่อมล้ำ? / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On December 25, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

แม้หลายคนในกลุ่มอำนาจปัจจุบันจะออกตัวว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีพรรคทหาร แต่ความพยายามให้มีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อรีเซตสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ก็ถูกมองว่าเพื่อปูทางสะดวกให้พรรคที่จะก่อตั้งใหม่

การเสนอแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองถูกถามโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และรับลูกโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ให้เหตุผลว่าไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคเก่ากับพรรคที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่

ทั้งนี้ กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 140 ประกอบมาตรา 141 (5) กำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมไม่ต้องชำระค่าบำรุงพรรค ให้มีสถานะเป็นสมาชิกต่อไปได้ และมีสิทธิเช่นเดียวกับสมาชิกพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ที่ต้องชำระทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000 บาท

นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ที่ให้รับรองสมาชิกพรรคการเมืองเดิมที่รวบรวมขึ้นตามกฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 โดยไม่ต้องแสดงความจำนงว่าประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดิมหรือไม่ และยังเห็นว่าควรปรับแก้เงื่อนไขการตั้งพรรคให้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น

ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่เสนอแนวคิดนี้ตอนที่มีการยกร่างกฎหมาย หรือตอนที่กฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ย้อนไปดูข้อกำหนดการตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ เพื่อดูว่ามีความไม่เป็นธรรมกับพรรคเก่าและพรรคที่จะก่อตั้งขึ้นมาใหม่ตามข้อกล่าวอ้างหรือไม่

ขั้นตอนการจัดตั้งพรรคใหม่ตามกฎหมายพรรคการเมืองมีข้อสำคัญดังนี้

1.การจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยให้ผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนสมทบทุนคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ต้องไม่เกินรายละ 50,000 บาท

ข้อกำหนดนี้จะว่าไปก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่บ้าง แต่ไม่มีนัยสำคัญต่อความเป็นพรรคการเมือง เพราะแม้พรรคเก่าจะก่อตั้งตามกฎหมายเดิม แต่เชื่อว่าที่ผ่านมาผู้ก่อตั้งพรรคได้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคไปแล้วไม่น้อย

ความเหลื่อมล้ำที่ว่าใครจ่ายมากจ่ายน้อยไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการครอบงำของนายทุนพรรคการเมืองมากกว่า จึงกำหนดเพดานสูงสุดที่สามารถอุดหนุนพรรคได้เอาไว้

2.ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ผู้ร่วมกันจัดตั้งต้องประชุมโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 250 คน

ข้อกำหนดนี้ก็ไม่น่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง แต่อาจทำให้การก่อตั้งพรรคใหม่มีความยุ่งยากมากขึ้น เพราะของเดิมแค่รวมตัวกันไม่กี่คนก็ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้

จุดมุ่งหมายของข้อกำหนดนี้คือ ต้องการทำให้พรรคการเมืองปลอดจากการครอบงำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มในกลุ่มหนึ่ง ให้พรรคการเมืองเป็นของส่วนรวมอย่างแท้จริง

3.รายได้ของพรรคการเมืองมาจากอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรค ซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท และอาจเรียกเก็บค่าบํารุงพรรคจากสมาชิกแบบตลอดชีพตามอัตราที่กําหนดในข้อบังคับก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท

ข้อกำหนดนี้ก็ไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ต้องเรียกเก็บเงินจากสมาชิกพรรค

จุดมุ่งหมายคือ ต้องการให้สมาชิกมีส่วนร่วมกับพรรค ไม่ใช่เป็นสมาชิกเพราะถูกขอร้องให้ร่วมลงชื่อ

4.การตั้งพรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปี

ข้อกำหนดนี้หากจะเกิดความเหลื่อมล้ำก็น่าจะอยู่ที่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คนในช่วงแรก เพราะการจะหาคนมาเป็นสมาชิกพรรค หากไม่มีฐานของตัวเอง หวังแต่จะให้คนที่มีแนวทางเดียวกันมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยาก

แม้จะมีคนคิดเหมือนกันอยู่มาก แต่อาจไม่ได้ต้องการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แค่ต้องการเชียร์อยู่วงนอก ยิ่งมีข้อกำหนดให้สมาชิกพรรคต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปียิ่งทำให้หาสมาชิกพรรคได้ยากขึ้น

กรณีนี้แม้จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำจริง แต่ไม่มีนัยสำคัญหากมีการเตรียมพร้อมมาอย่างดีในกลุ่มที่ต้องการจัดตั้งพรรคการเมือง

ว่ากันตรงๆคือ หากเวลาไม่ฉุกละหุกแบบต้องตั้งให้ทันส่งคนลงรับเลือกตั้งปลายปีหน้าตามโรดแม็พของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่อาจเรียกข้อกำหนดนี้เป็นความเหลื่อมล้ำได้

5.จัดให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา โดยแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

6.การเลือกผู้สมัคร ส.ส. ต้องรับฟังความเห็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัด คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง หากเป็นพรรคที่จัดตั้งใหม่ ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งหากยังไม่มีสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคซึ่งประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 คน และตัวแทนสมาชิก 7 คน อย่างน้อยต้องมีตัวแทนสมาชิกพรรคในแต่ละภาคตามที่ กกต. กำหนดเป็นผู้คัดเลือกคนลงสมัคร ส.ส.

2 ข้อกำหนดนี้มีลักษณะเดียวกับข้อที่ 4 คือเป็นความเหลื่อมล้ำจากเงื่อนเวลาอันฉุกละหุกที่จะต้องตั้งพรรคให้ทันส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งปลายปีหน้า

สรุปคือสิ่งที่เรียกว่าเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคเก่าและพรรคที่จะก่อตั้งใหม่นั้นไม่ได้มาจากข้อกำหนดของกฎหมาย แต่มาจากความฉุกละหุกในเงื่อนเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป

เป็นผลมาจากที่ คสช. ไม่ยอมยกเลิกประกาศคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ทั้งที่กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา จนพรรคเก่าไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดได้ทันเวลา และคนที่จะตั้งพรรคใหม่ก็ไม่สามารถทำกิจกรรมเพื่อยื่นขอจดทะเบียนตั้งพรรคได้

ส่วนจะเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือจงใจให้เหลื่อมล้ำเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายขยายเวลาเลือกตั้งออกไปอีกอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในตอนนี้หรือไม่

คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่อยู่ในกาลเวลาที่จะปรากฏชัดในอีกไม่นานหลังจากนี้


You must be logged in to post a comment Login