วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ยังจำกันได้มั้ย? “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” / โดย ทีมข่าวการเมือง

On December 25, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“น่าเสียดายที่ทหารภาพลักษณ์ดีบางคนเสพติดอำนาจ เสพติดผลประโยชน์ แล้วเอาแต่ท่องคาถากูไม่โกงๆ แต่ประชาชนเห็นว่าโกงกันทั้งประเทศ เขาก็ยังปกป้องกันแบบกิ่งทองใบหยก น่ารักน่าเอ็นดู แต่ประชาชนส่ายหน้าและยากจนลงทั้งประเทศ ทหารกลุ่มนี้จึงสมคบคิดกับอดีตข้าราชการประจำ เจ้าสัว และนักการเมืองพันธุ์เก่า ดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา โดยชูนายสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) เป็นหัวหน้าพรรค และให้นายสถิตย์ (ลิ่มพงศ์พันธุ์) เป็นเลขาธิการพรรค โดยมีตัวสำรองเป็นอดีต ส.ส. คนหนึ่ง แล้วเอานโยบายประชารัฐของรัฐบาลมาเป็นชื่อพรรค ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคืออดีตกำนันคนดังของภาคใต้ เพื่อสานต่อภารกิจในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปโดยไม่สนใจสิ่งอื่นใด แล้วจะอ้างการปฏิรูปประเทศสวยหรูขึ้นมาบังหน้า แต่แท้จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ควรรู้จักพอเหมือน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บอกกับตัวแทนพรรคการเมืองที่ไปเชิญให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งว่า ผมพอแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ท่านมีอำนาจพิเศษสูงสุดแต่ผู้เดียวในประเทศไทยตาม ม.44 มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทั้งฉบับ ท่านควรเลือกทางลงจากอำนาจให้สง่างาม ให้คนชื่นชมเหมือนตอนที่เข้ามาใหม่ๆ”

การออกมาเปิดโปงการตั้งพรรคทหารในชื่อ “พรรคประชารัฐ” ของนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นการเปิดหน้าชนให้เห็นชัดๆว่า “อดีตกำนันคนดังภาคใต้” ซึ่งหมายถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พยายามจะฮุบพรรคประชาธิปัตย์เพื่อนำไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง แต่การฮุบพรรคมีแนวโน้มว่าจะไม่สำเร็จจึงแยกวงไปเป็นกุนซือตั้งพรรคใหม่

นายวัชระให้สัมภาษณ์กับ Voice TV โดยยืนยันว่ากำนันคนดังเป็นคนไปคุยกับคนนั้นคนนี้และเสนอให้รีเซตสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ตอบรับและเชิญไปให้ข้อเท็จจริง ถ้าไม่เตรียมการสมคบคิดกัน สนช. จะเชิญไปชี้แจงได้อย่างไร ทำไมไม่เชิญกลุ่ม นปช. และพรรคการเมืองต่างๆที่เห็นแตกต่าง

“มันเป็นบันไดหลายขั้นที่จะสืบทอดอำนาจอยู่ในอำนาจต่อไป ผมเสียดายทหารที่มีภาพพจน์ดี แต่บางคนเสพติดอำนาจ การปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง เมื่อเข้ามามักจะได้รับดอกไม้ พวงมาลัยจากประชาชนที่เข้ามากอบกู้สถานการณ์ ผมไม่เชื่อว่าปีหน้าจะมีการเลือกตั้งตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2561”

ล้างไพ่แล้วช้อน

นายวัชระยังเตือนว่า ทหารบางคนถูกอดีตนักการเมืองหลอกว่าจะนำพรรคที่ตนเคยสังกัดไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ แต่กาลเวลาได้ทำหน้าที่เที่ยงตรง พิสูจน์ให้เห็นว่าใครยืนหยัดอยู่กับอุดมการณ์ ใครยืนหยัดอยู่กับ คสช. เมื่อยึดพรรคเดิมไม่ได้ก็กล้าแม้กระทั่งรับงานจาก คสช. มาจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ให้ทหาร เมื่อยึดพรรคไม่ได้ก็จะอาศัยอำนาจพิเศษของ คสช. รีเซตสมาชิกพรรคการเมืองทั้งหมดทุกพรรค หากทุกคนไม่ได้เป็นสมาชิก กรรมการบริหารพรรคก็จะสิ้นสภาพไปด้วย อดีต ส.ส. ทุกคนจะเป็นอิสระจากพรรค บรรดาลุงๆก็จะไล่ช้อนอดีต ส.ส. ไปสังกัดพรรคทหาร ไม่แตกต่างอะไรกับแม่น้ำ 5 สายบางคนที่เคยให้คนแอบช้อนปลาคาร์พหน้าอาคารรัฐสภาไปเลี้ยงดูเล่นที่บ้าน กลุ่มอดีต ส.ส. ที่เดินแผนให้คณะทหารนี้ ถ้าไปดูเบื้องหลังแต่ละคนเคยได้ผลประโยชน์จากธนาคารของรัฐจนบางแห่งล้มมาแล้วในอดีต บางธนาคารก็มีสภาพย่ำแย่ในปัจจุบัน ไหนว่า คสช. จะเข้ามาปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง แต่กลับไปสมคบคิดสืบทอดอำนาจกับนักการเมืองพันธุ์เก่า เทงบประมาณสนองตอบกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ บริหารประเทศมา 3 ปี แต่รายได้ประชาชนต่อครัวเรือนลดลง 1 ใน 3 ต่อเดือน แล้วยังละเมอคิดว่าตนเองมีฝีมือในการบริหารประเทศอีก

นายวัชระกล่าวอีกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่หนักแน่น ไปเชื่อพวกปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ก็จะมีสภาพไม่แตกต่างจากจอมพลประภาส จารุเสถียร หรือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร โหร คสช. ไม่เตือนท่านบ้างหรือ อยากขอร้อง รศ.นราพร จันทร์โอชา อดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โปรดให้คำแนะนำ พล.อ.ประยุทธ์บ้าง เพื่อทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศร่วมกัน อย่าผูกขาดความรักชาติไว้ที่พรรคทหารแต่เพียงผู้เดียว ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์มีพรรคการเมืองเฉพาะกิจพรรคใดของทหารประสบความสำเร็จบ้าง มีแต่พวกนักการเมืองผีดิบไปร่วมดูดเลือดทั้งนั้น แต่ถ้าท่านจะตั้งพรรคจริงๆก็ควรให้นายสมคิดลาออกทันที อย่าเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นอย่างที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะไม่เป็นสุภาพบุรุษทางการเมืองแต่ประการใด

ไม่สนใจแต่ไม่ปฏิเสธ

ไม่ว่าการออกมาเปิดโปงของนายวัชระจริงหรือเท็จอย่างไร คนที่ถูกพาดพิงคือนายสมคิดก็ออกมาปฏิเสธโดยยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและขอทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายขณะนี้ให้ดีที่สุดเท่านั้น เช่นเดียวกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถูกกระแสแหวนเพชรและนาฬิกาหรูกระหน่ำจนแทบตั้งตัวไม่ติดก็พูดสั้นๆว่าไม่มี

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ก็ปฏิเสธหลังการประชุม คสช. ว่าไม่ทราบ และถามนายสมคิดแล้วก็ไม่ทราบเรื่องเช่นกัน จึงให้ไปถามคนที่มาเปิดเผย แต่ก็ยอมรับว่าการตั้งพรรคทหารไม่เคยประสบความสำเร็จ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องตั้ง ทั้งมองว่าเป็นการออกโจมตีล่วงหน้าโดยอ้างว่าตนอยากอยู่ต่อ ซึ่งยังมองไม่ออกว่าจะอยู่ต่ออย่างไร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ปฏิเสธที่กลุ่ม กปปส. ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อว่า แล้วแต่ประชาชนจะพิจารณา เช่นเดียวกับคำทำนายของนายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหร คมช. ที่ทำนายว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องอยู่บริหารบ้านเมืองต่ออีกหลายปี ก็เป็นเรื่องของโหร ซึ่งอาจถูกบ้างไม่ถูกบ้าง ไม่ได้สนใจ

นายวารินทร์ได้ทำนายดวงประเทศไทยปี 2561 ว่าประเทศชาติเข้าสู่ยุคจักรพรรดิ แม้หลังปีใหม่จะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองจากกลุ่มเดิมๆมาสร้างปัญหา แต่จะไม่วุ่นวายใหญ่เหมือนที่ผ่านมา เพราะหมดเวลาแห่งความแตกแยก การเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2561 แน่นอน แต่อาจเป็นระดับท้องถิ่น ประชาชนจะอยู่กันอย่างเป็นสุข พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องอยู่บริหารต่ออีกหลายปีจนกว่าจะหมดเวลา แม้ พล.อ.ประยุทธ์อยากวางมือ แต่ต้องทำหน้าที่ต่อ เนื่องจากกระแสตอบรับจากประชาชนดีมาก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อขยายกรอบเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินการเรื่องเอกสารและธุรการที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องให้ทันกรอบเวลา 90 วัน คือในวันที่ 5 มกราคม 2561 ทั้งย้ำว่าไม่กระทบโรดแม็พการเลือกตั้ง ยังอยู่กรอบเดิมคือเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งรัฐบาลและ คสช. พร้อมสนับสนุนทุกพรรคการเมืองไม่ว่าเก่าหรือใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก

ย้อนรอยพรรคทหาร

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะปฏิเสธเรื่องตั้งพรรคทหารหรือพรรคนอมินีเพื่อสืบทอดอำนาจต่อ แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่สนับสนุน (เชลียร์) ทหารนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศตั้งแต่ไก่โห่จะตั้ง “พรรคประชาชนปฏิรูป” เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ล่าสุดคือการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยเฉพาะประเด็น “รีเซตสมาชิกพรรคการเมือง” เช่นเดียวกับกำนันคนดัง โดยอ้างว่าหากไม่รีเซตสมาชิกพรรคการเมืองก็จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบ จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่จะเกิดใหม่ซึ่งไม่มีฐานสมาชิกเหมือนพรรคการเมืองใหญ่หรือพรรคการเมืองเดิมที่มีเครือข่ายสมาชิกอยู่แล้ว

ขณะที่ก่อนหน้านี้ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตสมาชิก สปท. และอดีตเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 12 ซึ่งลาออกก่อนหมดวาระ ก็ได้ประกาศจะตั้ง “พรรคพลังชาติไทย” โดยอ้างว่ามีสมาชิก สปท. เห็นพ้องจะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกสมัย เช่น พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร นายสมพงษ์ สระกวี และนายสุชน ชาลีเครือ เป็นต้น

ยุทธการเตะตัดขา

ที่น่าสนใจกว่าคือการที่นายวัชระเปิดเผยเรื่องการตั้งพรรคประชารัฐ เพราะโยงถึงนายสุเทพว่าพยายามฮุบพรรคประชาธิปัตย์เพื่อไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งนายสุเทพประกาศมาตลอดว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเพื่อให้การปฏิรูปสำเร็จ โดยนายสุเทพบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพราะถ้าไม่มีใครทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลก็จะกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาดักคอไม่เห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคำถามที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมือง เช่นเดียวกับการเสนอแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองให้ ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค นายอภิสิทธิ์ก็ถามกลับว่าแก้เพื่ออะไร ถ้าจะยืดเวลาเลือกตั้งคงไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายตรงนี้

“วันนี้เราต้องพูดตรงๆว่า คสช. และรัฐบาลเป็นผู้เขียนกฎกติกาด้วยตนเองทั้งนั้น แต่ทำไมตอนนี้ท่านไม่สามารถทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปตามที่พูดไว้ได้ ทำไมไม่ทำให้มีความโปร่งใส ถ้าท่านจะบอกว่าตอนนี้ยังเลือกตั้งตามโรดแม็พไม่ได้ ท่านก็ต้องบอกว่ามีเหตุจำเป็นอะไร เพราะหากปล่อยให้เกิดความคลุมเครือก็จะเป็นปัญหาในการสร้างขั้วการเมืองขึ้นมาใหม่”

การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้หลายฝ่ายเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลกับพรรคต่างๆที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯแน่ แต่สถานการณ์ล่าสุดเท่ากับพรรคประชาธิปัตย์กลับลำไม่เอานายกฯคนนอกแน่ อาจเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ไม่น่าจะอยู่ได้นานแม้กองทัพจะยังสนับสนุนก็ตามถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่กำลังเสื่อมถอยจากสารพัดปัญหาที่ประดังเข้ามา กรณีนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ “บิ๊กป้อม” ไม่ว่าผลการสอบสวนของ ป.ป.ช. จะออกมาอย่างไรก็กระทบถึง พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. แน่นอน และอาจส่งผลถึงพรรคทหารที่จะแท้งก่อนเกิด ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงหากมองจากสถานการณ์ของรัฐบาลทหารและ คสช. ขณะนี้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีมีแนวโน้มว่ารัฐบาลเตรียมใช้มาตรา 44 แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 ที่ออกแบบระบบพรรคการเมืองใหม่ให้มีความเข้มแข็ง เป็นสถาบันที่มีรากฐานจากประชาชน และป้องกันการแทรกแซงจากนายทุนพรรค แต่วันนี้ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองท่านหนึ่งผู้ชูธงปฏิรูปก่อนเลือกตั้งมาตลอดและผู้เตรียมการจัดตั้งพรรคที่ประกาศจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นนายกฯต่ออีกกลับเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยให้ยกเลิกสาขาพรรค ยกเลิกไพรมารีโหวต เรียกร้องให้รีเซตสมาชิกของพรรคการเมืองเดิม ทำให้พรรคที่มีความเข้มแข็งกลายเป็นพรรคที่อ่อนแอ ต้องเริ่มต้นใหม่ โดยอ้างความเท่าเทียม

และยังไปไกลขนาดเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยเอาประเด็นกรอบเวลาที่เป็นข้อจำกัดของพรรคการเมืองว่าทำไม่ทันเป็นตัวเริ่ม และลามไปยังประเด็นอื่นๆ โดยลืมหลักการปฏิรูปที่เคยพูดไว้ในอดีต ส่วนตัวเห็นว่าถ้าจะให้เกิดมาตรฐาน เท่าเทียม และเป็นธรรม ควรใช้มาตรา 44 เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน เท่าเทียม เป็นธรรม ระหว่าง ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กสม. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญก่อนดีไหม เพราะหลายมาตรฐานเหลือเกิน

ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแบบ กปปส.

การเปิดช่องให้แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองและข้อเสนอให้รีเซตพรรคการเมืองของนายสุเทพและนายไพบูลย์สวนทางกับการที่นายสุเทพออกมาเคลื่อนไหวในนามกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยเรียกร้องให้ตั้งรัฐบาลคนกลางและจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศไทยก่อนจึงจะมีการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นการเปิดทางให้กองทัพทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

นายสุเทพปราศรัยบนเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2556 ระบุว่าการจะปฏิรูปประเทศต้องใช้เวลา 20-30 ปี แต่สามารถทำเรื่องเร่งด่วน 5 ข้อได้ในเวลาสั้นๆคือ 1.กระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดต้องเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อเป็นที่มาของ ส.ส. ดี รัฐบาลดี 2.ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันที่ทำให้ประเทศเหลือแต่ก้าง ต้องหยุดให้ได้ หยุดนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันก่อน โดยแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ 3.ประชาธิปไตยต่อไปไม่ใช่อำนาจอยู่ในนักการเมือง แต่ต้องยอมรับอำนาจของประชาชนมากขึ้น ประชาชนสามารถตรวจสอบควบคุมข้าราชการได้ 4.แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แก้ปัญหาความยากจน โดยให้คนจนได้มีโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่นๆ และ 5.ปรับโครงสร้างตำรวจ เพื่อให้เป็นตำรวจของประชาชน

นายสุเทพยังประกาศย้ำในการแถลงตั้งมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยว่า การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ จึงไม่มีกรอบเวลา เพราะถ้าปฏิรูปไม่เรียบร้อยแล้วเลือกตั้ง ประเทศก็จะยับเยินแบบเก่า ประเทศก็เสียหาย

การเคลื่อนไหวของนายสุเทพสอดรับกับนายไพบูลย์ และ สนช. ก็ออกมารับลูกเชิญนายสุเทพและนายไพบูลย์ไปให้ข้อมูล ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าจะใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาเงื่อนเวลาทำกิจกรรมของพรรคการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันไม่ว่าพรรคการเมืองเดิมหรือพรรคการเมืองใหม่ จนมีคำถามว่าเป็นการปฏิรูปการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ เสรี และยุติธรรมจริงหรือไม่ เพราะหลายประเด็นที่เป็นข่าวนั้นสวนทางหลักการปฏิรูปที่เคยพูดไว้ในอดีต

โดยเฉพาะคำถาม 4 ข้อและ 6 ข้อ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาทางด้านการเมืองหรือสร้างความขัดแย้งกับบรรดานักการเมือง แต่ก็ยอมรับว่าต้องการสร้างความเข้าใจและสร้างหลักคิดให้กับประชาชนที่มีสิทธิมีเสียงว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองไทยอย่างไร ถ้าทุกพรรคการเมืองเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติก็จะเกิดการปฏิรูปประเทศตามที่ทุกคนต้องการในทุกมิติ

ยังจำกันได้มั้ย?“ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

ก่อนหน้าที่กองทัพจะออกมาทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. วาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ได้ถูกจุดพลุจากนายสุเทพ จนวาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ได้แพร่กระจายทุกหัวระแหง ประชาชนฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้หยุดอยู่แค่ชัยชนะจากการที่รัฐบาลและ ส.ส.เสียงข้างมากต่างยอมถอยและถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยเหมาเข่งออกจนหมดสิ้น แต่ยังรุกไล่ต่อเนื่องแม้จะมีการประกาศยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนสู่การเลือกตั้ง จนทำให้การเลือกตั้งที่ต้องเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ต้องโมฆะไปในที่สุด

มาถึงวันนี้เวลาผ่านมาเกือบ 4 ปี รัฐบาลโดย คสช. ไม่อาจเหนี่ยวรั้งความต้องการของประชาชนที่ต้องการเลือกตั้งได้ แม้ว่าการประกาศกำหนดการวันเลือกตั้งจะมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน และจนถึงขณะนี้เรื่องการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้หรือไม่ยังเป็นปัญหาคาราคาซัง นอกจากนี้ยังเกิดคำถามพิเศษ 4+6 ข้อจากหัวหน้า คสช. จนมีผู้วิจารณ์ว่านี่อาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งยังอาจจะไม่เกิดขึ้นตามที่ได้ประกาศเอาไว้หรือไม่

การประกาศว่ารัฐบาลและ คสช. จะเดินตามโรดแม็พก็มีข้อสงสัยอีกเช่นกันว่า โรดแม็พนั้นก็ไม่เคยได้กำหนดเวลาที่แน่นอนไว้แต่อย่างใด

จึงเกิดคำถามว่าแท้จริงแล้ววาทกรรมที่ว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นั้นเป็นเพียงวาทกรรมลมๆแล้งๆหรือไม่ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่าการปฏิรูปจะมีวันสิ้นสุด เพราะการปฏิรูปนั้นหมายถึงการทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งย่อมหมายความว่าอนาคตของการเลือกตั้งนั้นแทบมองไม่เห็น

หรือข้อเท็จจริงไปกว่านั้น คำว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อาจเป็นเพียงวาทกรรมที่เอาไว้ต่อเวลา ต่อท่ออำนาจของฝ่ายที่เชื่อว่าตนเองนั้นไม่มีโอกาสจะชนะการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างแน่นอนเท่านั้นเอง

ขึ้นชื่อว่า “อำนาจ” ย่อมไม่เข้าใครออกใคร ผู้ที่ได้ชื่นชมและสัมผัสต่างหลงใหลในอำนาจมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอยู่ในการปกครองระบอบใด ถ้าผู้ปกครองหลงใหลในอำนาจโดยเชื่อว่า “อำนาจนั้นไม่มีวันเสื่อม” ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วนักต่อนักว่า “มีลาภเสื่อมลาภได้ มียศเสื่อมยศได้ มีอำนาจจึงย่อมเสื่อมอำนาจได้เช่นกัน” หากใช้อำนาจนั้นอย่างพร่ำเพรื่อ อย่างไม่เป็นธรรม

ไม่ว่าจะมีนาฬิกามากมายสักกี่เรือน เวลาที่อยู่ในโลกล้วนนับเป็นวินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี มิแตกต่างกัน

เวลาของผู้หลงใหลในอำนาจอันไม่เที่ยงธรรมที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนของประชาชนไว้ให้อยู่แต่ในกะลาย่อมเหลือน้อยลงทุกทีๆ

ยังจำกันได้มั้ย? “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” …ก็ฮาสิครับ …มัวรออะไรอยู่!!??


You must be logged in to post a comment Login