วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ส.ส.กับรัฐบาลใหม่? / โดย Pegasus

On January 1, 2018

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน

ผู้เขียน : Pegasus

ปัญหาที่กระอักกระอ่วนของนักการเมืองที่มีบทบาทในปัจจุบัน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และบางส่วนในองค์กรอิสระมากที่สุด คงไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าการคาดหมายว่าจะได้ “สืบทอดอำนาจ” ต่อหรือไม่ หรือจะต้องจากไปเหมือนรัฐบาลปรกติทั่วไปหากไม่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่สนับสนุนมากเพียงพอที่จะมีอำนาจต่อ

การตรวจสอบแบบไม่เป็นทางการหลายครั้งหลายหนทั้งจากพรรคการเมืองและองค์กรของรัฐหลายแห่งอย่างเงียบๆมีผลไม่แตกต่างมากนัก ซึ่งคนภายนอกก็พอจะคาดเดาได้ แม้จะไม่แน่ใจว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาแบบใด

พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรคคงจะได้จำนวน ส.ส. ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก เพราะพรรคการเมืองขนาดเล็กไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย การหาเสียงก็ทำได้ยาก ทุกเงื่อนไขล้วนส่งผลดีต่อพรรคที่มีลักษณะที่มั่นคงทั้งพรรคใหญ่และพรรคขนาดกลางที่มีชื่อเสียง ถ้าจะมีสอดแทรกมาคือ “พรรคทหาร” หรือพรรคที่สนับสนุนคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีไม่กี่พรรค จำนวน ส.ส. ก็คงไม่ได้มากกว่า 2 พรรคใหญ่

ที่สำคัญที่สุดคือ การจะผลักดัน “นายกฯคนนอก” ต้องอาศัยเสียง ส.ว. 250 เสียง และจะทำได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามปรกติตามรัฐธรรมนูญ คือการโหวตเสียงในสภาผู้แทนราษฎรแล้วเท่านั้น

ดังนั้น ผลการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คน ถ้าบอกว่า 2 พรรคใหญ่ไม่มีทางได้ ส.ส. เกินครึ่ง พรรคเดียวที่มีโอกาสได้มากถึง 200 เสียงน่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์หากไม่เกิดปัญหาภายในพรรคก่อนก็จะมีจำนวนลดลงเล็กน้อยคือไม่เกิน 150 เสียง

เหลืออีก 150 เสียงที่จะแข่งขันกันว่าจะเลือกอยู่กับ 2 พรรค หรือสร้างความปั่นป่วนเพื่อเปิดโอกาส “นายกฯคนนอก” คือทำให้เสียงไม่ถึง 251 เสียง หากสั่งให้ป่วนได้ก็ต้องไม่ให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ตามปรกติในสภาผู้แทนฯ ต้องไม่ให้เสียงสวิงไปด้านพรรคเพื่อไทยเกินครึ่งคือ 251 เสียงขึ้นไป

การต่อรองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนฯ จึงเป็นอีกเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง ส.ส. 90 เสียงน่าจะมาจากพรรคการเมืองเดิม ดังนั้น จึงไม่ยากหากจะจัดตั้งรัฐบาล โดยการมีข้อเสนอที่พรรคขนาดเล็กยอมรับ เช่นเดียวกับด้านพรรคทหารหรือพรรคที่เกิดใหม่ที่จะสนับสนุน “นายกฯคนนอก” แค่มี 60 เสียงก็ไม่ใช่เรื่องยาก

การแย่งชิงเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจึงน่าสนใจ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่คาดว่าน่าจะได้ 150 เสียง จะเป็นพรรคที่ตัดสินการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเมื่อรวมกับพรรคเล็กๆอีก 60 เสียง ก็จะมีถึง 210 เสียง แม้ไม่ได้เสียงข้างมากแต่ก็มีแต้มต่ออย่างมากกับการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีหากพรรคประชาธิปัตย์ยอมสนับสนุนรัฐบาลที่มีเสียง ส.ว. 250 เสียงสนับสนุน

ตามหลักคิดนี้จะเห็นว่าการตั้งรัฐบาลที่มีการรวมกันของพรรคต่างๆ ยกเว้นพรรคเพื่อไทย จึงเป็นไปได้ยากมาก ทางเดียวที่จะให้เป็นไปตามธงที่วางไว้คืออาศัยอำนาจจากกองทัพ ข้าราชการประจำ และองค์กรต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลลักษณะพิเศษ

ที่น่าเสียดายคือการบีบให้ต้องมี “นายกฯคนนอก” ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะอย่างไรก็ตามก็ต้องอาศัยเสียงของประชาชนมาตัดสิน

ส่วนความพยายามที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกก็น่าจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ซึ่งประชาชนจะได้ใช้สิทธิและเสรีภาพของตนอีกครั้ง


You must be logged in to post a comment Login