วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วาทกรรมปราบโกง

On January 15, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

วาทกรรมรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงกำลังถูกตั้งคำถาม ถูกมองอย่างสงสัย ว่าจะใช้ปราบโกงได้จริงหรือไม่ เพราะแค่เริ่มต้นข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญหลายเรื่องถูกกฎหมายลูกที่มีศักดิ์ด้อยกว่าออกบทเฉพาะกาลห้ามไม่ให้บังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีให้ยกเว้นทั้งคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม การเป็นกรรมการป.ป.ช.เพื่ออุ้มให้กรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันให้อยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ คำถามคือทำไมต้องเป็นกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีทั้งคนขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามเท่านั้นที่ทำหน้าที่ปราบโกง

ก่อนจะตัดสินอะไรต่อไปต้องเคลียร์ตัวเองก่อนเพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมาในภายหลัง

นี่เป็นข้อเสนอแนะจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ย้ำจุดยืนต่อพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าควรส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีคณะกรรมาธิการของ สนช.เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเพื่อให้กรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีคุณลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งสามารถอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ

“ควรจะต้องมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เด็ดขาดว่า สามารถกำหนดการยกเว้นลักษณะต้องห้ามได้หรือไม่”

นี่คือความเห็นของนายมีชัย

ที่มาของความเห็นนี้คือเกิดความกังวลในอนาคตข้างหน้าหากกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นป.ป.ช.ไปร่วมลงมติชี้ขาดเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้วมีผู้ไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการขาดคุณสมบัติอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการยกเว้นดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ประเด็นคือร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสนช.ตามขั้นตอนไปแล้ว และกรธ.ไม่ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ กรธ. สนช.และป.ป.ช.เพื่อพิจารณาประเด็นนี้ใหม่

เท่ากับว่าร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ผ่านการพิจารณาครบตามขั้นตอนรอเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ทั้งนี้หากจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสามารถทำได้ 2 ช่องทางคือ สนช.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ อีกช่องทางหนึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ยื่นตีความ

ในขั้นตอนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ดังกล่าวมี สนช. 26 คนที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพื่อให้กรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ และมี สนช.อีก 29 คนที่ลงมติงดออกเสียง

หากจะใช้ช่องทางสนช.เข้าชื่อกันเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ต้องดูท่าทีของสนช.สองกลุ่มนี้ว่าจะส่งตีความหรือไม่

ถ้าสนช.ไม่เข้าชื่อกันเพื่อส่งตีความ และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ส่งตีความเป็นอันว่าจบ ร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อประกาศใช้ต่อไป ที่เหลือก็ไปลุ้นเอาในอนาคตข้างหน้าหากมีผู้ที่ถูกกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันลงมติอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วใช้ประเด็นกรรมการป.ป.ช.บางคนมีลักษณะต้องห้ามทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ก่อนหน้านี้เคยมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีการขาดคุณสมบัติของกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้รับการยกเว้นให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้มาแล้วและศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการงดเว้นคุณสมบัติไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่กรณีของกรรมการป.ป.ช.นอกจากงดเว้นเรื่องคุณสมบัติแล้ว ยกให้งดเว้นเรื่องลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการป.ป.ช.ด้วย

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ แต่การยกเว้นให้คนขาดคุณสมบัติ และคนมีลักษณะต้องห้าม ซึ่งนั่งเป็นกรรมการป.ป.ช.ในปัจจุบันได้อยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระโดยไม่ทำการสรรหาใหม่ ก็เป็นเรื่องคาใจของคนในสังคมว่า “ทำไม” ต้องให้กรรมการป.ป.ช.ชุดนี้อยู่ทำหน้าที่ต่อ “ทำไม” ไม่สรรหาใหม่ เพื่อให้คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องมาทำหน้าที่แทน

กรณีนี้ทำให้วาทกรรมที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกงสิ้นมนต์ขลัง เมื่อคนที่มาทำหน้าที่ปราบโกงเป็นคนที่ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการป.ป.ช.


You must be logged in to post a comment Login