วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘กำเนิดอารยธรรม’ความเชื่อและศรัทธา / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On January 15, 2018

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

ความเชื่อของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญมาก ความจริงเราสามารถกล่าวถึงได้มากมายหลายแง่มุม ตั้งแต่มนุษย์มีความต้องการที่พึ่งทางใจ ความหวาดกลัวต่อธรรมชาติที่ตนเองหาคำตอบไม่ได้

หากกล่าวถึงศาสนาในมุมมองของ Arnold Toynbee งานเขียนที่ชื่อ Approach to Religion ซึ่งเป็นหนึ่งในชุด A Study of History ที่สรุปมุมมองเรื่องศาสนาของเขานั้น ผูกอยู่กับมุมมองเรื่อง civilization

มุมมองเรื่องศาสนาของ Arnold Toynbee ถูกกำหนดจากมุมมองเรื่อง civilization อย่างแยกกันไม่ได้เลย โดยอารยธรรมของมนุษย์ตามมุมมองของเขาไม่ได้เกี่ยวกับเหตุผลของชีววิทยาชั้นสูงใดๆ และได้กำเนิดขึ้นมาก่อนสังคมยุคบุพกาล ซึ่งจากมุมมองเดียวกันนี้ยังสัมพันธ์กับความเชื่อต่อสิ่งลึกลับในธรรมชาติของมนุษย์ด้วย

จากมุมมองดังกล่าวจึงสัมพันธ์และโยงใยกับความเชื่อของพวกสุเมเรียนโบราณที่อาศัยอยู่แถบดินแดนเมโสโปเตเมีย ซึ่งเป็นพวกที่ประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้ราว 4,000 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ เป็นพวกที่คิดสร้างความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเผยแพร่ครั้งแรกในโลก

ชาวสุเมเรียนซึ่งเคยมีถิ่นฐานอาศัยอยู่แถบดินแดนเมโสโปเตเมีย นักประวัติศาสตร์ชั้นแนวหน้าจำนวนไม่น้อยคาดหมายว่าน่าจะเป็นกลุ่มชนที่เริ่มต้นให้กำเนิดอารยธรรมของโลกและให้กำเนิดอารยธรรมของมนุษยชาติหลายอย่าง โดยเฉพาะให้กำเนิดตัวหนังสือคูนิฟอร์ม ซึ่งกลายเป็นรากฐานของหลายภาษาหลักในโลกนี้ เช่น ภาษากรีก ละติน เปอร์เชีย รวมทั้งภาษาสันสฤต นอกจากนั้นยังมีวรรณคดีโบราณ บทสวดต่างๆ รวมถึงคณิตศาสตร์

เรื่องราวชนชาติสุเมเรียนถือเป็นแหล่งอารยธรรมโลกที่น่าสนใจ ซึ่งต่อมามีการส่งผ่านอารยธรรมของมนุษย์เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายไปยังส่วนต่างๆของโลก รวมทั้งแหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุของอินเดียด้วย

พวกสุเมเรียนยังมีความรอบรู้เรื่องดาราศาสตร์และเอกภพ ทำให้สร้างสมมุติเกี่ยวกับพระเจ้าขึ้นมา เราอาจสรุปได้ว่าพวกสุเมเรียนได้ให้กำเนิด civilization ของมนุษย์ช่วงเวลาประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นช่วงหลังยุคน้ำแข็งละลาย

Arnold Toynbee เห็นว่าการจะเข้าใจประวัติศาสตร์มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องของ civilization หรืออารยธรรม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพในประวัติศาสตร์

นี่คือมุมมองของ Arnold Toynbee ที่ได้เคยกล่าวว่า ป่าสนทั้งป่าย่อมกำเนิดมาจากเมล็ดของต้นสนเพียงเมล็ดเดียว หรืออารยธรรมของมนุษยชาติย่อมมีกำเนิดจากมนุษย์คนแรกในยุคก่อนสังคมบุพกาลเสียอีก

การตั้งต้น civilization ของโลกจึงมาจากพวกสุเมเรียนที่เคยอาศัยอยู่บริเวณเมโสโปเตเมีย ซึ่งเป็นดินแดนที่แม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกันคือ แม่น้ำไทกรีสและยูเฟรทีส เป็นไปตามทรรศนะของ Arnold Toynbee ที่ว่า civilization จะเกิดจากคนที่เป็นคนแรกเช่นเดียวกับป่าสนทั้งป่า ซึ่งไม่ได้เกิดจากเมล็ดสนเมล็ดแรกเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น

Arnold Toynbee ได้ค้นคว้าและศึกษาถึงการเกิดและการสูญสลายของอารยธรรมหลักถึง 23 อารยธรรม จนเราสรุปถึงทฤษฎีการเกิดและสูญสลายของอารยธรรมต่างๆได้ว่าเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลถึงการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์

งานเขียน Approach ของ Arnold Toynbee เรื่องศาสนา ลัทธิ และความเชื่อ คือองคาพยพส่วนสำคัญของ civilization บริบทของศาสนากับ civilization ตามทรรศนะของเขาน่าสนใจอยู่หลายประการ ซึ่งสรุปจากการศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของแต่ละศาสนาได้ว่าล้วนมีความเป็นมาที่พิลึกพิลั่นทั้งสิ้น ถึงที่สุดแต่ละศาสนาล้วนหนีปัญหาของบริบทลัทธิความเชื่อซึ่งโยงใยไปหาอำนาจของชนชั้นปกครองไม่พ้น

อีกความเห็นของ Arnold Toynbee เกี่ยวกับศาสนาที่น่าสนใจและถือเป็นสารัตถะสำคัญคือ ทุกศาสนาในโลกล้วนสร้างเหยื่อบาปบริสุทธิ์ขึ้นมาทั้งสิ้น ข้อนี้เห็นชัดเจนมาก เป็นต้นว่าการเกิดลัทธิของคริสเตียนตอนกลางของยุโรป หรือเห็นได้จากความขัดแย้งยาวนานมากกว่าอิสลามและยิว หรือเห็นง่ายๆล่าสุดจากสงครามในซีเรียจนถึงโรฮิงญาในพม่า แต่ความเห็นที่น่าพิจารณามากที่สุดซึ่ง Arnold Toynbee เขียนไว้ใน “The Decline of the West” หรือการปฏิเสธตะวันตก โดยคาดหมายว่าในอนาคตมนุษย์จะไม่สวดภาวนาต่อพระเจ้า แต่มนุษย์จะรวมพลังแห่งศรัทธาขึ้นมาจากตัวเอง ซึ่งความเชื่อด้วยวิสัยทัศน์เช่นนี้ทำให้ Arnold Toynbee หันมาสนใจและค้นคว้าศึกษาปรัชญาพุทธศาสนาอย่างจริงจังและตั้งใจมากขึ้น

พวกสุเมเรียนที่อาศัยในดินแดนเมโสโปเตเมียถือว่าให้กำเนิด civilization ของโลกขึ้นมาครั้งแรกตามคำพูดของ Arnold Toynbee ที่ว่าอารยธรรมนั้นกำเนิดขึ้นมาได้ก็เพราะมนุษย์

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าชนชั้นปกครองของสุเมเรียนซึ่งเป็นพวกนักบวชนั้นได้เชื่อมโยงความรู้ทางดาราศาสตร์เข้ากับจินตนาการความลึกลับของดวงดาว สร้างเป็นตำนานของความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เพื่อให้พลเมืองชั้นล่างยำเกรงและยกย่องยอมรับพวกตนให้เป็นผู้นำในนครรัฐในตอนนั้น

ภายหลังลงหลักปักฐานบนแผ่นดินเมโสโปเตเมีย ชาวสุเมเรียนก็มีเวลาว่างพอที่จะกลายเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ แม้แต่คันไถที่เลียนแบบจากดาวรูปคันไถ และเครื่องหมายสวัสดิกะก็เลียนแบบมาจากดาวรูปคันไถเช่นกัน

สรุปแล้วพวกสุเมเรียนคือบรรพบุรุษแรกของมวลมนุษย์ที่ตั้งต้นในการสร้าง civilization ราว 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือเป็นต้นกำเนิดอารยธรรม ความเชื่อ และศรัทธาของมนุษย์

 


You must be logged in to post a comment Login