วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ประชารัฐ-ประชานิยม? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On January 18, 2018

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ผมมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเงินๆทองๆมาเล่าให้ฟัง เรื่องรายได้ครัวเรือนตอนนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหา เพราะถ้าพิจารณาถึงจำนวนสตางค์ในกระเป๋าที่ร่อยหรอลงทุกวัน เรื่องการหารายได้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆของหลายครอบครัว

ดังนั้น เรื่องเศรษฐกิจครัวเรือนจึงเป็นประเด็นร้อนที่ทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากการ “เลือกตั้ง” หรือ “ยึดอำนาจ” คนอื่นมา ก็ต้องสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนด้วยการกำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติให้ชัดเจน แต่รัฐบาลซึ่งมีที่มาแตกต่างกันก็ยากเหลือเกินที่จะมีแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจได้เหมือนกัน

สำหรับรัฐบาล คสช. ก็เช่นกัน เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของท่านผู้นำสูงสุดมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการแก้ความยากจนระยะที่ 2 หรือ โครงการแก้จนเฟส 2” โดยจะใช้งบประมาณอีกทั้งสิ้น 35,679 ล้านบาท

โครงการแก้จนเฟสแรกได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมายังไม่น่าพึงพอใจสักเท่าไร เพราะเศรษฐกิจฐานรากยังถดถอยอย่างต่อเนื่อง แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวจะมีแนวโน้มดีขึ้น เช่น GDP ที่ได้รับอานิสงส์จากการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่การกระจายรายได้ในภาพรวมยังไม่เวิร์คเท่าที่ควร เพราะคนที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจยังมีจำนวนน้อยและกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น

“โครงการแก้จนเฟส 2” เป็นเฟสที่รัฐบาลทหารหวังว่าจะใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้กระเตื้องให้ได้ แม้โครงการเฟส 1 จะอัดเม็ดเงินลงไปพอสมควร แต่ดูเหมือนถมทรายลงไปในทะเล เพราะยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

ดังนั้น ในเฟส 2 รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการเพิ่มขึ้น เพื่อประกันความผิดหวังว่าถ้าอัดเม็ดเงินลงไปในครั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจฐานรากจะต้องมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณและวิธีดำเนินการเป็น 2 มาตรการใหญ่ๆดังนี้

มาตรการที่ 1 คือการแจกเงินโดยตรงหรือที่เรียกกันว่า “Helicopter money” วิธีนี้เป็นมาตรการที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนไม่นิยม หรือบางคนถึงกับปรามาสว่าเป็นมาตรการ สิ้นคิด แต่วิธีนี้ก็มักมีฝ่ายบริหารเลือกมาใช้อยู่เสมอ เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและมั่นใจได้ว่าหลังจากแจกเงินออกไปแล้ว ผู้มีรายได้น้อยซึ่งรับเงินมาจะสามารถนำเงินที่ได้ไปจับจ่ายใช้สอยในทันทีอย่างแน่นอน

สำหรับที่มาของคำว่า “Helicopter money” คือการเปรียบเทียบเสมือนว่ามีการนำเงินใส่ในกระสอบแล้วนำขึ้นไปบนเฮลิคอปเตอร์ จากนั้นก็ให้เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นไปสูงๆเพื่อโปรยเงินดังกล่าวลงมาจากฟ้า โดยหวังว่าเงินเหล่านั้นจะปลิวกระจายครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง

วิธีการแบบนี้ถือเป็นทฤษฎีการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลเลือกตั้งที่ยึดโยงกับฝ่ายอำนาจนิยมชอบใช้เพื่อแก้ปัญหาเมื่อเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สมัยก่อนมักจะใช้วลีทางการเมืองเรียกวิธีแบบนี้ว่า รัฐสวัสดิการ แต่ปัจจุบันรัฐบาล คสช. โฆษณาและเรียกว่า ประชารัฐนั่นเอง

แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ตาม วิธีการแบบนี้ก็คือการแก้ปัญหาที่นำมาจาก “ตำราเล่มเก่าๆ” ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย นั่นคือ การแจกเงินแบบดื้อๆโดยอ้างว่าเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อให้ถึงมือประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ซึ่งก็น่าจะถูกต้อง แต่อย่าลืมว่าการโปรยเงินหรือหว่านเงินในลักษณะนี้เป็นเพียงการแจกเงินเพื่อ ประทังชีวิต เท่านั้น ผู้ที่ได้รับเงินไม่สามารถนำไปต่อยอดลงทุนหรือนำเงินไปต่อเงินได้เลย

สภาพหลังจากได้รับเงิน เงินก็จะถูกใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคแล้วหมดไป เงินส่วนใหญ่จะไหลเข้าช่องของ ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ ที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆจากการเติมสภาพคล่องในลักษณะนี้ ซึ่งถ้าเป็นการเติมอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะผู้ผลิตย่อมต้องเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มการลงทุน เพิ่มวัตถุดิบ และการจ้างงานต่อไป แต่เมื่อใช้จ่ายได้เพียงแค่ครั้งเดียว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

ย้อนกลับไปเฟส 1 การแจกเงินตามมาตรการแก้จน รัฐบาลแจกเงินให้คนละ 200 หรือ 300 บาท ขึ้นอยู่กับรายได้ ครั้งนี้รัฐบาลใจดีเติมเงินให้อีก คนที่เคยได้ 200 ก็เติมให้อีก 100 เป็น 300 บาท ส่วนคนที่ได้ 300 ก็เติมให้อีก 200 เป็น 500 บาท ท่านผู้อ่านลองคิดตามแล้วกันว่า ถ้าท่านมีเงินจำนวนนี้จะนำไปใช้จ่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

การแจกเงินครั้งนี้จะแจกเฉพาะผู้ที่มีสิทธิเพื่อให้นำไปซื้อสินค้าต่างๆที่ร้านธงฟ้า โดย ดร.พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเป็นโฆษกกระทรวงการคลังด้วย ให้สัมภาษณ์ว่า “โครงการแก้จนเฟส 2” ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 35,679 ล้านบาท จะนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่มาลงทะเบียนไว้ทั้งสิ้น 11.4 ล้านคน แต่กลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องดำเนินการก่อนคือกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5.3 ล้านคน โดยมีวิธีการจ่ายเงิน 2 แบบ แบบที่ 1 จ่ายเป็นรายหัวให้กับคนจนจริงๆเพื่อนำไปซื้อของประทังชีวิตในร้านธงฟ้าของรัฐบาลตามที่ผมกล่าว โดยมาตรการนี้ใช้เงินทั้งสิ้น 13,800 ล้านบาท

ส่วนมาตรการที่ 2 เรียกว่า งบพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการสร้างอาชีพเสริม ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 18,800 ล้านบาท งบประมาณส่วนนี้ผมเชื่อว่ารัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่ดี นอกเหนือจากการเติมสภาพคล่องให้ผู้มีรายได้น้อยด้วยมาตรการแรกแล้ว ในมาตรการที่ 2 จะเปิดโอกาสให้ผู้ถือบัตรคนจนมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยกันเองอีกด้วย

สำหรับผู้ที่มี “บัตรสวัสดิการ” ที่สมัครใจเข้าโครงการตามมาตรการที่ 2 จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติม แต่ไม่ใช่จะได้ง่ายๆฟรีๆ ทุกคนต้องเข้าคอร์สพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอาชีพ ไปหาวิธีการลับสมอง หรือแม้แต่โครงการสินเชื่อเงินสด เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพให้มีรายได้สูงขึ้น โดยการปฏิบัติทั้งหมดจะถูกติดตามผลโดยผู้ดูแลของรัฐที่เรียกว่า “AO (Account Officer)ที่จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

แน่นอนว่าถ้าผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐผิดสัญญาก็เป็นหน้าที่ของ AO จะรายงานเพื่อเรียกเงินอุดหนุนเพิ่มเติม “กลับคืน” สู่รัฐต่อไป

แต่เงินอัดฉีดเกือบ 40,000 ล้านบาทดูเหมือนจะยังไม่พอ เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ครม. ประกาศงบกลางปี 2561 เพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้นอีก 150,000 ล้านบาท โดยมีโครงการหลักๆ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาอาชีพช่วยคนจนเฟส 2 การปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ โครงการพัฒนาตำบลและกองทุนหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็ง

ผมได้แต่หวังว่าการใช้เงินภาษีและเงินกู้ในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จและทำให้คนจนหายจนได้จริงๆสักทีเหมือนนโยบาย ประชานิยมที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในอดีต แต่เมื่อเปลี่ยนเป็น ประชารัฐที่ใช้รัฐราชการขับเคลื่อนก็คงต้องรอดูกันต่อไป


You must be logged in to post a comment Login