วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เลี้ยวเข้าซอยตัน

On January 22, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

สถานการณ์บ้านเมืองกำลังมีหลายเรื่องที่รุมเร้ารัฐบาลคสช.  เมื่อพิจารณาองคาพยพต่างๆที่เกิดขึ้นในตอนนี้และจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตรวจสอบนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” เรื่องตีความต่ออายุกรรมการป.ป.ช. และเรื่องตีความคำสั่งคสช.แก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมือง ฯลฯ  เหมือนการเมืองกำลังเลี้ยวเข้าซอยตันอีกรอบ ถ้าไปจนถึงก้นซอยก็ยากที่จะหาทางออก แม้จะมีอำนาจมาตรา 44 ใช้ผ่าทางตันได้ แต่ชั่วโมงนี้อำนาจมาตรา 44 ลดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปอย่างมาก  บางทีอาจต้องนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปนพฤษภาคม 2557 อีกครั้งก็เป็นได้

โกอินเตอร์ไปไกลสำหรับข่าวนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ตอนนี้สื่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อังกฤษและสหรัฐ ต่างนำเสนอข่าวนี้อย่างพร้อมเพียงในเชิงตั้งคำถามถึงความโปร่งใสเกี่ยวกับที่มาที่ไปของนาฬิกาและการทำหน้าที่ตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

แน่นอนว่า เมื่อถึงเวลาที่ได้ข้อสรุปจากป.ป.ช.  สื่อต่างชาติเหล่านี้ก็จะนำเสนอข่าวอีกครั้ง ฉะนั้นผลสอบที่ออกมาจึงต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน  เพราะไม่เพียงแต่ประชาชนคนไทยที่สนใจเรื่องนี้  สื่อต่างชาติก็ให้ความสนใจไม่น้อย

หากจบแบบมีคำถามค้างคาใจก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นรัฐบาลคสช.แน่นอน

ความเชื่อมั่นในการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันยังมีเรื่องให้รอลุ้นอีกเรื่องคือ การต่ออายุกรรมการป.ป.ช.บางคนที่มีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการป.ป.ช.  แต่กลับให้นั่งทับเก้าอี้ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ  แม้กฎหมายป.ป.ช.ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม

กรณีนี้ต้องรอลุ้นการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางส่วนเข้าชื่อส่งเรื่องให้วินิจฉัยว่า การยกเว้นข้อบังคับในเรื่องลักษณะต้องห้ามนั้น  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

การยื่นตีความครั้งนี้หลายฝ่ายมองว่า เป็นเรื่องดีเพื่อให้เกิดความชัดเจน  แต่หากมองอีกมุม  ความชัดเจนก็เพื่อทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความถูกต้องชอบธรรมไม่ได้  ถ้าผลออกมาว่าสามารถงดเว้นได้ เพราะถือว่าทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่หากผลออกมาตรงกันข้ามก็ไม่มีอะไรเสียหาย

แม้ต้องสรรหากรรมการป.ป.ช.กันใหม่  แต่ก็เป็นการสรรหาภายใต้กลุ่มอำนาจปัจจุบัน  การยื่นตีความจึงเท่ากับเป็นการสร้างเกราะป้องกันผลที่จะตามมานั่นเอง

บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญอีกเรื่องน่าสนใจคือ กรณีพรรคการเมืองยื่นขอให้ตีความอำนาจมาตรา 44 ที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560ให้แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองเกี่ยวกับเงื่อนเวลาที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการ เช่น การยืนยันสมาชิกพรรค การเก็บค่าสมาชิก การตั้งสาขาหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ฯลฯ

เรื่องนี้น่าสนใจที่ว่า  หากผลตีความออกมาไม่ขัด  การจะดำเนินตามคำสั่ง คสช. พรรคการเมืองอาจมีเวลากระชั้นชิดจนบางฝ่ายเกรงว่าจะทำให้ไม่มีความพร้อมในการลงสมัครเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พช่วงปลายปี  จนถูกเอาไปเป็นข้ออ้างขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง

แต่หากผลออกมาตรงกันข้าม ความยุ่งยากจะมีตามมา

กล่าวคือเงื่อนเวลาต่างๆที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองจะกลับไปสู่จุดเดิม ซึ่งหลายเรื่องเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดมาแล้ว เช่น การยืนยันสมาชิกพรรค  เมื่อเลยเวลาที่กำหนด แต่พรรคการเมืองไม่สามารถทำได้ตามเงื่อนไขและไม่ได้ยื่นขอขยายเวลากับนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้

คำถามคือจะมีผลอะไรต่อสถานะความเป็นพรรคการเมืองหรือไม่? ต้องสิ้นสภาพไปหรือไม่?

หากพรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพไป  ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ  เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ คสช.ไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง

เรื่องก็จะวนเป็น “งูกินหาง” คือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองบังคับใช้ พรรคการเมืองทำกิจกรรมไม่ได้ คสช.ออกคำสั่งแก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง คำสั่งแก้บังคับใช้ไม่ได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองสิ้นสภาพเพราะไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายได้ทันเวลา

ท้ายที่สุดก็จะเป็นทางตันที่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบไปถึงกำหนดการเลือกตั้งตามโรดแม็พด้วย เพราะจะเดินหน้าจัดเลือกตามตามกำหนดเดิมโดยที่พรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่สิ้นสภาพไป  ใครจะยอม  ขืนดันทุรังปัญหารุกลามบานปลายแน่

เมื่อพิจารณาจากองคาพยพหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนนี้และจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ดูเหมือนว่าการเมืองกำลังเลี้ยงเข้าซอยตันอีกรอบ และครั้งนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะหาทางออก

บางทีอาจต้องนั่งไทม์แมชชีนพากันย้อนไปถึงเดือนพฤษภาคม 2557 กันอีกครั้งก็เป็นได้


You must be logged in to post a comment Login