วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘ป้องกันยุงร้าย’ เรื่องง่ายๆใกล้ตัว / โดย น.ท.นพ.จักรพงศ์ ไพบูลย์

On January 22, 2018

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : น.ท.นพ.จักรพงศ์ ไพบูลย์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายุงเป็นสัตว์ตัวเล็กที่มีพิษสงมากกว่าที่คิด ทั้งยังเป็นพาหะนำโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง ซึ่งบางโรคมีอันตรายถึงชีวิต

ยุงเป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยปรกติยุงตัวเมียมักจะกินเลือดเป็นอาหารในช่วงก่อนที่จะวางไข่ ส่วนตัวผู้จะกินน้ำหวานในเกสรดอกไม้ นอกจากนี้ยุงยังเป็นแมลงที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคอีกด้วย เช่น โรคไข้เลือดออก

ยุงทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 3,450 ชนิด พบในประเทศไทยประมาณ 412 ชนิด แต่ที่คุ้นเคยกันดีคือ ยุงก้นปล่อง ยุงลาย และยุงรำคาญ ในวงจรชีวิตของยุงประกอบด้วยระยะต่างๆ 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่, ระยะตัวอ่อน (ลูกน้ำ), ระยะดักแด้หรือตัวกลางวัย (ตัวโม่ง) และระยะตัวเต็มวัย (ตัวยุง) ซึ่งใน 4 ระยะมีความแตกต่างกันทั้งรูปร่างลักษณะและการดำรงชีวิต เช่น ยุงลายชอบวางไข่บริเวณน้ำนิ่ง ที่มืดและอับชื้น และวางไข่ที่ผนัง เหนือน้ำเล็กน้อย ยุงรำคาญชอบวางไข่บนน้ำทั่วๆไป รวมทั้งน้ำเสียตามท่อระบายน้ำ คู หลุม บ่อ และยุงก้นปล่องชอบวางไข่บนน้ำสะอาด ตามแอ่งหิน โพรงไม้ เป็นต้น โดยทั่วไปยุงจำนวนมาก ต้องใช้ชีวิตในน้ำตั้งแต่ 9-21 วัน จึงต้องตรวจทำลายแหล่งน้ำทุก 7 วัน

ยุงจะไข่ครั้งละ 30-300 ฟอง ใช้เวลา 4-5 วันในการไข่ 1 ครั้ง อายุยุงตัวเมียราว 3-6 สัปดาห์ หรืออาจจะถึง 45 วัน จึงอาจจะไข่ได้มากสุดถึง 10 ครั้ง หรือประมาณ 3,000 ฟองต่อยุงตัวเมีย 1 ตัว โดยผสมพันธุ์เพียงแค่ครั้งเดียว และจะฟักตัวเป็นลูกน้ำภายใน 2-3 วัน ไข่ของยุงลายหากแห้งจะอยู่ได้เป็นเดือนๆหรือเป็นปี แล้วพอโดนน้ำก็จะกลับมาเป็นลูกน้ำได้อีกภายใน 1 ชั่วโมง

ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญมากที่สุด โดยสามารถทำได้ง่ายๆคือ การควบคุมพาหะของโรคด้วยวิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน พลูด่างควรปลูกในดินหรือเจล ควรกำจัดยุงในบริเวณมุมอับภายในบ้าน ตู้เสื้อผ้า และบริเวณรอบบ้านทุกสัปดาห์ การกำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านควรปิดฝาให้มิดชิด หรือแม้กระทั่งการป้องกันตัวเองด้วยการกางมุ้ง เปิดพัดลม ทายากันยุง ฉีดสเปรย์ไล่ยุง หรือฉีดยาฆ่าแมลง

ยุงแต่ละชนิดจะเลือกกัดเฉพาะบางเวลา อย่างเช่นยุงลาย พาหะนำโรคไข้เลือดออก จะกัดตอนกลางวัน ยุงรำคาญ พาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ กัดเวลาเย็นถึงกลางคืน ยุงก้นปล่อง พาหะนำโรคมาลาเรีย กัดเฉพาะกลางคืน ดังนั้น ควรทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะโรงเรียนควรจะตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กันยุงหลายรูปแบบให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น ชนิดโลชั่น ชนิดแผ่นทาผิวหนัง ชนิดแผ่นติดบนเสื้อผ้า สายรัดข้อมือ สมุนไพรไล่แมลง แต่ที่ได้รับความนิยมมากและพัฒนามาใหม่ล่าสุดคือแบบสเปรย์ ซึ่งสะดวกและใช้งานง่าย

ในปัจจุบันมีสเปรย์กันยุงที่มีส่วนประกอบของ IR3535 ซึ่งเป็นสารไล่แมลงที่ปลอดภัยสูงสุดในตอนนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ethyl Butyacetyl Aminopropionate มีความปลอดภัยสูง สามารถใช้ได้กับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป มีความปลอดภัยมากกว่าสาร DEET ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในเด็กเล็ก โดยให้ใช้ในเด็กที่อายุเกิน 4 ขวบขึ้นไปเท่านั้น สาร IR3535 สามารถป้องกันทั้งยุงกลางวันและยุงกลางคืนได้นาน 7 ชั่วโมง ฉีดบนร่างกายได้โดยไม่เกิดการระคายเคือง ไม่ทิ้งคราบ ไม่เหนียวเหนอะ ทั้งยังมีกลิ่นหอมไม่รบกวนกลิ่นน้ำหอมเดิมที่ฉีดไว้

พ่อแม่ผู้ปกครองควรหันมาใส่ใจและปกป้องลูกจากยุงร้าย โดยทายาหรือสเปรย์ยากันยุงให้ลูกก่อนไปโรงเรียน เนื่องจากยุงลายจะกัดคนในเวลากลางวัน จึงควรป้องกันยุงไม่ให้มากัดลูกๆของเราที่โรงเรียน


You must be logged in to post a comment Login