วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ประชาธิปไตยไทยนิยม / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On January 22, 2018

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมคือแนวคิดทางการเมืองล่าสุดที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้เกิดขึ้น

ทำให้เกิดคำถามว่าประชาธิปไตยแบบไทยนิยมคืออะไร มีรูปแบบอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากประชาธิปไตยสากลที่ทั่วโลกใช้กันอย่างไร

แน่นอนว่า “บิ๊กตู่” ไม่ใช่คนแรกที่พูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ช่วงที่ผ่านมามีผู้นำทางความคิดฝ่ายหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้มาตลอด โดยอ้างว่าประชาธิปไตยแบบสากลไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

สิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนจากชนชั้นนำของประเทศนี้คือ ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งคือแนวทางที่ดีที่สุดของประเทศ

ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าคนในชนบทเป็นคนที่ด้อยคุณภาพ ไม่รู้เท่าทันนักการเมือง ซื้อเสียงได้ เป็นคะแนนเสียงไม่มีคุณภาพ จึงทำให้ได้นักการเมืองที่ด้อยคุณภาพเข้ามาใช้อำนาจรัฐ เป็นที่มาของการคอร์รัปชัน

หากจะสรุปตามความเข้าใจถึงประชาธิปไตยแบบไทยนิยมก็น่าจะสรุปได้ดังนี้

1.คนดีไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง เพราะประชาชนโดยเฉพาะในชทบทลงคะแนนตามแรงจูงใจมากกว่าเลือกคนจากคุณสมบัติและประวัติความเป็นมา

เมื่อคนดีไม่ต้องลงเลือกตั้งแต่อยากมีอำนาจต้องทำอย่างไร

ก่อนหน้านี้มีการแก้ไขให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ คือไม่ต้องลงพื้นที่หาเสียง แค่เอาชื่อมาใส่ไว้ในบัญชีพรรคก็ได้เป็น ส.ส. หากคะแนนเสียงของพรรคดีพอ

ผ่านมาระยะหนึ่งก็เห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไม่ได้เป็นทางออกของคนดี แต่เป็นนายทุนพรรคการเมืองที่แค่จ่ายเงินสนับสนุนพรรคแลกกับเอาชื่อใส่ไว้ในลำดับต้นๆของรายชื่อผู้สมัครก็ได้เป็น ส.ส. แบบเท่ๆ

จากแนวคิดที่ว่ารัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะถือว่าเปิดหน้าให้ประชาชนช่วยคัดกรองแล้ว จึงปรับเป็นเปิดกว้างให้เอาใครมาเป็นรัฐมนตรีก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากบัญชีรายชื่อ ส.ส.

จากแนวคิดที่ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทางอ้อม คือให้สิทธิเฉพาะ ส.ส. เท่านั้นที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกได้ เปลี่ยนมาเป็นใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องผ่านการเลือกตั้งเป็น ส.ส.

จากแนวคิดที่ว่าให้ ส.ส. เท่านั้นที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา เพราะถือว่าเป็นตัวแทนประชาชน ใช้อำนาจแทนประชาชน เปลี่ยนมาเป็นให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งสามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

นี่คือการเมืองไทยที่พัฒนาไปขั้นหนึ่งแล้วก็ถูกแก้ไขให้วนกลับมาที่เดิม เพื่อให้สมกับแนวทางประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชน

2.นักการเมืองไม่มีคุณภาพเพราะประชาชนไม่สนใจการเมือง

จากแนวคิดนี้ทำให้การเมืองไทยถอยหลังกลับไปสู่จุดที่เราเคยเป็นมาก่อน คือจัดมหรสพเพื่อดึงคนมาฟังการปราศรัยหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.

ในอดีตเคยมีแนวคิดว่าการจัดมหรสพเป็นการซื้อเสียงทางอ้อมอย่างหนึ่งของผู้สมัคร ส.ส. ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้สมัครที่มีฐานะดีกับผู้สมัครที่มีฐานะด้อยกว่า เพราะสามารถจ้างศิลปินดังๆเพื่อเรียกความสนใจได้มากกว่า

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าประชาชนไม่ได้ตั้งใจมาฟังแนวนโยบายของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง แต่มาเพื่อดูหนัง ดูดนตรี ทำให้ไม่เข้าใจนโยบาย จึงออกกฎห้ามไม่ให้จัดมหรสพเพื่อจูงใจให้คนมาฟังการปราศรัย

ถึงขนาดที่ว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเวทีกลางให้ผู้สมัครปราศรัยหาเสียงเท่านั้น เพื่อป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบ

แม้แต่การจัดรถรับส่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนจากชุมชนไปยังหน่วยเลือกตั้งยังถูกสั่งห้าม เพราะเห็นว่าเป็นการซื้อเสียงอย่างหนึ่ง

แต่การเมืองในยุคปฏิรูปกำลังมีการแก้ไขให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจัดมหรสพเพื่อจูงใจให้ประชาชนมาฟังการปราศรัยหาเสียงได้ อ้างว่าประชาชนสามารถแยกแยะได้ระหว่างความบันเทิงกับเรื่องการเมือง

หากสามารถจัดมหรสพเพื่อจูงใจคนมาฟังการปราศัยของผู้สมัครและพรรคการเมืองได้ ก็ควรแก้ให้สามารถจัดรถรับส่งเพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนในการเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะการเลือกตั้งไม่ควรเพิ่มภาระให้ประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเดินทาง

เมื่อเชื่อว่าประชาชนแยกแยะได้ระหว่างนโยบายกับความบันเทิง ก็ต้องเชื่อว่าประชาชนสามารถแยกแยะได้ระหว่างการอำนวยความสะดวกในการเดินทางกับนโยบายของผู้สมัครและพรรคการเมือง

3.ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมน่าจะหมายถึงการอ่อนน้อมถ่อมตน การให้ความเคารพต่อคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า คนที่มียศมีตำแหน่ง

การไม่เชื่อฟัง การตั้งคำถามให้เกิดข้อสงสัยต่อการเป็นคนดีของผู้ที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ผู้ที่มียศมีตำแหน่ง ถูกมองว่าทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย ไม่สงบสุขเหมือนอดีตที่ผ่านมา

จึงไม่แปลกที่เรามักได้ยินว่าคนนั้นทำงานเหน็ดเหนื่อย ทุ่มเทเพื่อชาติมานาน เวลาที่เกิดข้อสงสัยว่าคนคนนั้นมีความโปร่งใสในการทำงานหรือไม่ ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ โดยอ้างเรื่องความเหน็ดเหนื่อย ความทุ่มเทในการทำงานเพื่อชาติมาปิดกั้นการตรวจสอบ

นอกจากนี้ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมยังน่าจะหมายถึงต้องเชื่อมั่นศรัทธาและห้ามตั้งคำถามต่อคำตัดสินขององค์กรด้านความยุติธรรมต่างๆ ทั้งกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

เนื่องจากเห็นว่าการไม่ให้ความเคารพต่อองค์กร ไม่ให้ความเคารพต่อคนทำหน้าที่ ตั้งคำถามต่อคำตัดสินในเชิงสองมาตรฐาน ทำให้สังคมเกิดภาวะกระด้างกระเดื่อง นำไปสู่ความไม่สงบสุขเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

จึงมีการแก้ไขให้คำตัดสินของบางองค์กรที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามเชิงวิชาการได้ เป็นห้ามไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ให้ตั้งคำถาม ไม่มองว่าการวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถามจะช่วยสร้างมาตรฐานในการตัดสินคดีความต่างๆให้เป็นไปอย่างโปร่งใสมากขึ้น ไม่มองว่าการตัดสินโดยปราศจากคำถาม ปราศจากข้อสงสัย คือหนทางที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง

4.ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมที่สำคัญที่สุดน่าจะหมายถึงการยอมรับอำนาจใดๆก็ตาม ไม่ว่าการได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะถูกต้องตามหลักการ ตามกระบวนการ ตามกฎหมายหรือไม่ และเชื่อว่าการใช้อำนาจที่ได้มาโดยมิชอบนั้นเป็นไปเพื่อทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น โปร่งใสขึ้น ไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเต็มไปด้วยข้อสงสัยแค่ไหน ห้ามตรวจสอบ ห้ามวิจารณ์ในทุกกรณี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องช่วยกันตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจคือ การสร้างประชาธิปไตยแบบไทยนิยมนั้นเป็นการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เพิ่มอำนาจประชาชนให้เข้ามามีส่วนสำคัญในการคัดกรองคนเข้าสู่อำนาจ ตรวจสอบการใช้อำนาจเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้นหรือไม่

ถ้าการสร้างประชาธิปไตยแบบไทยนิยมไม่ตอบโจทย์เหล่านี้ ย่อมไม่ถือว่าเป็นการพัฒนา

แต่เป็นการถอยหลังเข้าคลอง


You must be logged in to post a comment Login