- ปีดับคนดังPosted 16 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ประชาธิปไตย‘ไทยนิยม’ / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
“ประชาธิปไตยไทยนิยมในแบบของผมคือ ทำอย่างไรคนไทยจะเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ทำอย่างไรคนไทยจะทำในสิ่งที่ดีงาม ถ้าทุกคนมุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้วนั่นแหละคือไทยนิยม คนไทยชอบทำ เราต้องทำสิ่งดีๆจะเกิดผลดีต่อบ้านเมือง ขอโอกาสชี้แจง เพราะพาดหัวมาหลายวันแล้ว ประชาธิปไตยไทยนิยมของผม คนไทยชอบอะไรก็ชอบ รักอะไรก็รัก เกลียดอะไรก็เกลียด บางคนก็รักๆเกลียดๆ เกลียดข้างนี้บ้าง เกลียดข้างโน้นบ้าง ผมไม่เคยเกลียดใคร เพราะทุกคนคือคนไทย เว้นแต่หลายคนเขาเกลียดผม แต่ในห้องนี้ผมว่าไม่น่ามี”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันครูแห่งชาติ ทั้งกล่าวว่า คนไทยติดนิสัยชอบอะไรก็จะชอบอยู่อย่างนั้น ค่อนข้างมีความรู้สึกเป็นอารมณ์ศิลปิน รักแรง เกลียดแรง ชอบแรง สิ่งเหล่านี้ตนเรียกว่าไทยนิยม ทั้งการเมือง สังคม ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียว เราต้องเข้าใจความเป็นไทยของเรา นี่เป็นสิ่งที่ตนต้องฝากครู คนไทยจะมีส่วนร่วมพัฒนาชาติได้อย่างไร คนไทยจะเข้าใจประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งได้อย่างไร วันนี้เราอย่าไปเดินตามสิ่งที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยอาจไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องเป็นไปตามกติกาโลก ประชาธิปไตยอะไรก็แล้วแต่ ต้องไม่ลืมพื้นฐานประชาธิปไตย
“การที่ผมต่อเติมไปด้วยว่าไทยนิยม หมายความว่าประเทศไทยท่านต้องสังเกตดู การจะทำอะไรให้สำเร็จมันต้องสร้างจิตสำนึกร่วมกันให้ได้ ฉะนั้นผมจึงใช้แนวคิดของตนเองคือ อะไรที่ชอบก็ชอบ สนับสนุนตลอดทุกอย่าง อะไรที่ไม่ชอบก็ไม่สนับสนุน ผมจึงคิดว่าต้องหาประชาธิปไตยที่คนไทยทั้งหมดทุกพวกทุกฝ่ายเข้าใจ และมีอุดมการณ์อันเดียวกันที่จะทำให้ประเทศชาติเรามั่นคงมั่งคั่งอย่างยั่งยืน นั่นแหละคือไทยนิยมของผม
การจะทำอะไรต่างๆ คนไทยต้องทำให้ทุกคนยอมรับให้ได้ และการยอมรับให้ได้คือต้องไม่ทิ้งกลไก ทิ้งสาระสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยสากลของเรา เพราะเราเป็นประเทศประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉะนั้นอย่าไปกังวลกันตรงนี้ว่าไทยนิยมคือไทยนิยมของผม มันไม่ใช่ ไทยนิยมคือคนไทยทั้งหมดนิยมประชาธิปไตยที่มันถูกต้อง หลายคนหลายฝ่ายก็ไม่เข้าใจ”
ตั้งคณะทำงาน 7,800 ชุด ปูพรมทุ่มงบ-ซื้อเสียงล่วงหน้า?
วาทกรรม “ประชาธิปไตยไทยนิยม” เป็นการกระชับพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ให้ชัดเจนหลังประกาศตัวว่า “เป็นนักการเมือง” และ “พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี” ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้เห็นยุทธการ “ประสานร้อยต่อ” ว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์จึงประกาศว่าจะประชุม ครม.สัญจรให้ได้มากที่สุด พร้อมๆกับการผลักดันโครงการประชารัฐและการประกาศของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่าจะทำให้คนจนหมดประเทศ ส่วนหนึ่งคือการทุ่มงบประมาณผ่าน “บัตรคนจน” ที่ลงทะเบียนกว่า 11 ล้านคน และระดับจนดักดาน 5 ล้านคน ซึ่งปี 2561 จะมี “มาตรการแก้จนเฟสสอง”
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่รัฐบาล คสช. เสนอในวงเงิน 3 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณแบบขาดดุลถึง 450,000 ล้านบาท ถูกตั้งคำถามว่าส่วนหนึ่งเพื่อใช้หาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ โดยมีคนจน 16 ล้านคน 16 ล้านเสียงที่มีที่มาที่ไปชัดเจน ทั้งยังสอดรับกับการออกกฎหมายให้อำนาจโครงสร้างใหม่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสยายปีกกองทัพเพื่อควบคุมประชาชนทุกพื้นที่และทุกระดับในประเทศ ซึ่ง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นการขยายบทบาทของทหารต่อการเมืองไทย ทำให้กองทัพสามารถขยายบทบาทได้อย่างไม่มีข้อจำกัดเพื่อควบคุมการเมืองคู่ขนานกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน เพราะ กอ.รมน. ก็คือ “กองทัพบก” งานความมั่นคงทั้งหมดในอนาคตจึงจะอยู่ในมือของทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ยังได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายขับเคลื่อนการใช้งบประมาณทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้สอดรับความต้องการของประเทศ เชื่อมโยงการปรองดองสมานฉันท์และมาตรการแก้จน โดยมีคณะทำงานระดับรัฐบาล 7,800 กว่าชุด ลงพื้นที่ทุกตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อสอบถามความต้องการสนับสนุนและหาแนวทางที่ประชาชนต้องการ ซึ่งใช้หลักการคล้ายกับที่จีนทำมา 5 ปีที่แล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ออกตัวว่า การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 1 และ 2 ไม่อยากให้มองว่าทำเพื่อรักษาคะแนนเสียงหรือหาคะแนนเสียงล่วงหน้าเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลทำ 3 ปีที่ผ่านมา มีอะไรที่แก้ไขแล้วบ้างในเชิงฟังก์ชัน เชิงนโยบาย เชิงบูรณาการ ทุกอย่างตนปรึกษาหารือฝ่ายกฎหมาย กฤษฎีกา กระทรวงการคลังทั้งหมด สามารถทำได้ การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 มีการคาดการณ์รายได้เท่าไรและตั้งงบเกินดุลเท่าไร อะไรต้องเร่งรัดพัฒนาช่วงปีที่เหลืออยู่ จำเป็นต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายกลางปี การให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบ 2 ทุกคนต้องมาแจ้งความประสงค์ว่าจะทำอะไรจึงจะเพิ่มเงินได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆจะเพิ่มเงินให้ 200-300 บาท
“ผมถึงบอกว่าคนไทยมันต้องไทยนิยม ทุกคนต้องเข้ามาร่วมมือ และเราต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเขาในระยะที่ 2 และอาจต้องมีระยะที่ 3 และ 4 ไปเรื่อยๆ จะทำอย่างไรในเมื่อประชาชนเดือดร้อน หากจะใช้วิธีการที่ยากมากๆก็เกิดไม่ได้สักอย่าง ยืนยันว่าผมจะใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุดและให้เกิดความโปร่งใส”
ประชาธิปไตยแบบเผด็จการ
การปูพรมงบประมาณในปีสุดท้ายและประกาศตัวเป็นนักการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์สอดรับกันอย่างพอดิบพอดี เหมือนวาทกรรม “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์พยายามตอกย้ำว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทยไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างสากลในความหมายที่ฝ่ายการเมืองและภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเป็นของประชาชนและเพื่อประชาชน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรทำความเข้าใจประชาธิปไตยที่เป็นสากลคือ การยอมรับในอำนาจของประชาชนเจ้าของประเทศ ประชาชนเป็นใหญ่ที่สุดและแสดงอำนาจโดยการเลือกนโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอ เลือกพรรคหรือกลุ่มที่อาสาเข้ามาว่าจะเอาคณะผู้นำแบบไหน มีวิสัยทัศน์อย่างไร มีวิธีนำพาประเทศไปสู่ความเจริญอย่างไร ที่สำคัญคือเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เคารพในความแตกต่าง ฟังเสียงข้างมากและเคารพในเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นหลักการที่พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นระบบการเมืองการปกครองที่มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด
นายภูมิธรรมกล่าวว่า การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เป็นหลักสากลแล้วพยายามอธิบายว่าเป็นประชาธิปไตยที่เป็นแบบไทยๆ หรือประชาธิปไตยแบบของพวกตัวเอง ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในโลกนี้มีแต่พวกเผด็จการและผู้พยายามได้อำนาจมาโดยวิธีพิเศษที่ใช้สิ่งนี้มาเป็นข้ออ้าง เพื่อกำหนดวิธีการปกครองแบบของตนเอง บิดเบือนเสียงของประชาชนหรืออำนาจของประชาชนในการคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ
คสช. ต้องใจกว้างถ้าคิดว่าตนเองมีความเป็นประชาธิปไตย เชื่อมั่นว่าสิ่งที่คิดที่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ วันนี้อย่าคิดเองว่าประชาชนให้โอกาสหรือยอมรับ ควรคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งแล้วให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจ ไม่ใช่พยายามสร้างกติกาที่ตนเองได้เปรียบ มี ส.ว. 250 คนเป็นอำนาจพิเศษ เขียนรัฐธรรมนูญกำหนดทิศทางให้คนอื่นเดินแล้วบอกว่าทั้งหมดนี้คือประชาธิปไตยแบบไทยนิยม อันนี้คือการสร้างประชาธิปไตยที่รองรับอำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
“ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์คือ เวลากลุ่มตัวเองทำอะไรผิดไม่ต้องไปพูดถึงหรือพยายามไม่เอ่ยถึง แต่คนอื่นทำไม่ถูก ทำไม่เหมือนฝ่ายตน ก็ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน จึงไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าการพยายามให้คนยอมรับในกติกาที่ตัวเองร่างขึ้นอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องยึดมั่นในระบอบสากล แต่เอาแบบไทยนิยมที่พวกตัวเองกำหนดให้คนปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวเองอยากทำ”
นายสามารถ แก้วมีชัย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลักการประชาธิปไตยต้องว่าไปตามหลักสากลคือ อำนาจเป็นของประชาชน ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนและศรัทธาในประชาชนเท่านั้น จะบิดพลิ้วให้แตกต่างไปจากหลักสากลที่มีอยู่ได้อย่างไร ไทยนิยมเป็นอย่างไร ถ้าจะไปคิดแทนประชาชน ไปวางยุทธศาสตร์ 20 ปี หรือเขียนกติกาที่ทำให้ประชาชนด้อยคุณค่า ทำให้อำนาจของประชาชนหายไปโดยกรอบของกติกาที่ผู้มีอำนาจวางเอาไว้ ก็ไม่ใช่หลักประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
วันนี้แม้แต่กติกาที่เขียนก็เพี้ยนไปจากหลักสากลอยู่แล้ว เช่น รัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าการเลือกนายกฯต้องไปเลือกในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีตัวแทนที่ไม่ได้มาจากประชาชน ยิ่งกว่านั้นยังมีปัญหาหากพรรคการเมืองไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 376 เสียงก็เลือกนายกฯไม่ได้ ผู้แทนฯมี 500 คนที่มาจากประชาชนเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งได้ 251 เสียงเป็นเสียงข้างมาก ผู้นำพรรคถือว่าประชาชนให้ความยินยอมมาเป็นนายกฯแล้ว แต่กลับเอาเสียง 500 คนไปประชุมร่วมกับบุคคลที่ คสช. แต่งตั้ง 250 คน รวมเป็น 750 คน แล้วมาบอกว่าคนที่จะได้เป็นนายกฯต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 750 คนคือ 376 เสียง ทำให้พรรคที่ได้เกินกึ่งหนึ่งคือ 251 เสียงไม่มีโอกาสได้เป็นนายกฯ การเขียนกติกาอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร คำว่าประชาธิปไตยแบบไทยนิยมถ้าจะให้ตนตีความคือประชาธิปไตยที่มีส่วนผสมของเผด็จการชี้นำ
ชายชาติทหารโปรดทราบ“คนไทยไม่ได้โง่”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าประชาธิปไตยไทยนิยมเป็นแบบใด ต้องระมัดระวังการใช้คำที่มีความหมายในตัวค่อนข้างชัด มีการไปแต่งเติมเงื่อนไขต่างๆ อย่างประชาธิปไตยที่เคร่งครัดก็ต้องบอกว่าคือประชาธิปไตยเสรีนิยม ซึ่งมีหลักการพื้นฐานว่าประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ความหมายคือประชาชนกำหนดทิศทางของบ้านเมืองได้ แต่ความเป็นไทยในประชาธิปไตยแบบไทยๆอยู่ที่ไหน มีเรื่องอะไรที่เป็นแบบไทยๆตอนนี้ บอกได้แบบเดียวว่าไม่เป็นสากลก็เลยเป็นไทย
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวว่า ไม่เคยปฏิเสธว่าการปรับให้เข้ากับสังคม วัฒนธรรมมีความจำเป็น แต่ไม่ใช่เอาเรื่องวัฒนธรรมหรือสังคมมาเป็นข้ออ้างที่จะยกเว้นไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยคือ หลังเลือกตั้งถ้า ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของคนที่มาจากการเลือกตั้งจะจัดตั้งรัฐบาล ไม่ควรใช้อำนาจวุฒิสภาเพื่อฝืนเจตนารมณ์นั้น เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตย หรืออย่าไปใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ต้องถามว่าความเป็นไทยของวุฒิสภามีมากกว่าความเป็นไทยของการเลือกตั้งของคนไทยอย่างไร หากอ้างว่าทำตามรัฐธรรมนูญ ต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญนิยมกับประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีรัฐธรรมนูญ สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีคำว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ อย่างน้อยยังมีความตรงไปตรงมา ยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ใช่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มที่เพราะไม่ได้เป็น
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะประดิษฐ์ถ้อยคำสวยหรูอย่างไร ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่มองนายกฯออก เห็นเจตนาชัดเจนหมดแล้วว่าจะสืบทอดอำนาจกลับไปเป็นนายกฯอีกรอบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร พล.อ.ประยุทธ์ต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ถ้าต้องการกลับมาเป็นนายกฯอีกรอบควรจะพูดความจริงมาตรงๆ ใช้เส้นทางตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการต่อสู้แข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบคนอื่นหรือคู่ต่อสู้ในการใช้ตำแหน่งและอำนาจที่มีอยู่ในขณะนี้ชิงความได้เปรียบ เพราะสุดท้ายประชาชนคนไทยก็ไม่ได้โง่ที่จะดูไม่ออก ควรที่จะตรงไปตรงมา ประกาศแบบลูกผู้ชายไปเลย เพราะเป็นชายชาติทหารอยู่แล้ว
แค่ยืมเพื่อนใส่ยังไงก็ไม่ผิด
ไม่มีใครปฏิเสธว่าการจุดประเด็น “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองไม่น้อย เพราะฝ่ายการเมืองเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งประกาศว่าเป็นนักการเมืองนั้นต้องเดินหน้าสืบทอดอำนาจเป็น “นายกฯคนนอก” แน่นอน การเดินสายประชุม ครม.สัญจร การทุ่มงบประมาณอนุมัติโครงการต่างๆ รวมถึงประกาศ “มาตรการแก้จนเฟสสอง” ล้วนเป็นการหาเสียง พร้อมๆกับกลบข่าวฉาวที่ส่งผลต่อวิกฤตศรัทธาอย่างมากขณะนี้คือ กรณี “แหวนเพชร-นาฬิกาหรู” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
แม้ล่าสุด พล.อ.ประวิตรจะเปิดปากครั้งแรกหลังเพจ CSI LA เผยแพร่ภาพนาฬิกาหรูเรือนที่ 24 ว่า ภาพที่นำมาเผยแพร่เป็นการเอาเรือนเก่าวนมาใส่ ก็ไม่เป็นไร ก็ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ “ถ้าชี้มูลว่าผมผิดผมก็ออก ผมไม่นอยด์อะไร ไม่มีอะไร”
พล.อ.ประวิตรยังยืนยันว่า ไม่มีนาฬิกาสะสม แต่มีเพื่อนที่เอามาให้ใส่แค่นั้น แล้วตนก็คืนหมดทุกเรือน ไม่ใช่การซื้อมาฝาก ตนก็มีเป็นของส่วนตัว แต่ไม่บอกว่ามีกี่เรือน ทั้งปฏิเสธข่าวที่ว่ามีการเล่นหุ้นนาฬิกาในแวดวงทหารว่าไม่มี
ป.ป.ช. จึงรับเผือกร้อนไปเต็มๆ เพราะหากเชื่อว่าเป็น “นาฬิกาเพื่อนให้ยืมใส่” พล.อ.ประวิตรก็ย่อมไม่มีความผิด ไม่ว่าข้อหาปกปิดหรือแสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. หรือข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปรกติ แต่เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยจะต้องค้างคาใจและจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช. แน่นอน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า ป.ป.ช. อย่าแค่สร้างวาทกรรม “ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน” (Zero tolerance) ทั้งที่ออกสโลแกนชักชวนประชาชนให้ร่วมมือต่อต้านการคอร์รัปชัน ให้เป็นหูเป็นตาทั่วนาทั่วไร่ แต่กรณี พล.อ.ประวิตรกลับเชื่องช้าจนสงสัยว่ากำลังหาทางถ่วงเวลาให้ยืดยาวออกไปใช่หรือไม่ โดยย้ำว่า ป.ป.ช. อย่าเพียงแต่สร้างวาทกรรมให้คนอื่นทำตาม แต่ขอให้ใช้อำนาจตามหน้าที่ให้สมกับเป็นองค์กรปราบปรามคอร์รัปชันแห่งชาติ จะได้ไม่ถูกประชาชนที่จ่ายภาษีเป็นเงินเดือนให้ตำหนิว่า “เลี้ยงท่านเสียข้าวสุกข้าวสารเปล่าๆ”
ประชาธิปไตยไทย (ตอแหล) นิยม
วาทกรรม “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ถูกฝ่ายการเมืองวิจารณ์ว่าเป็นแค่วาทกรรมของเผด็จการที่ต้องการมีอำนาจต่อไป ไม่ต่างกับวาทกรรม “ปราบโกง (แต่ฝ่ายตรงข้าม)” ที่กำลังสะท้อนถึง “วิกฤตศรัทธา” พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. อย่างมาก เพราะการแสดงท่าทีและจุดยืนปกป้อง พล.อ.ประวิตร ไม่ว่าจะขอร้องสื่อให้ “ลดราวาศอก” กับเรื่องนี้ หรือล่าสุด “ขอร้องว่าอย่ามาถามผม” ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์สะท้อนชัดเจนเรื่อง “สองมาตรฐาน” เมื่อเปรียบเทียบการใช้คำสั่งมาตรา 44 พักงานและโยกย้ายทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการส่วนท้องถิ่นมากมายที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบระหว่างที่มีการสอบสวนว่ามีความผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่?
ส่วน ป.ป.ช. เองที่มีข้อครหาว่า “ตำแหน่งนี้พี่เขาให้มา” อีกทั้งยังถูกยื่นตรวจสอบคุณสมบัติว่าขัดกับตำแหน่งหรือไม่ ต้องรับเผือกร้อนที่ถูกโยนไปเต็มๆ เพราะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่ต้องตอบสังคมหากชี้มูลว่า พล.อ.ประวิตรไม่มีความผิด ถ้าเชื่อ ทำไมถึงเชื่อ นาฬิกาหรูกว่า 20 เรือนที่อ้างว่าเป็นของเพื่อนคือใคร และมีการสอบสวนในเชิงลึกหรือไม่ว่าจริงหรือไม่
หาก ป.ป.ช. ตัดบทปิดเกมแค่มีมติว่า “เชื่อ” แล้วไม่มีการสอบสวนให้ถึงที่สุด และไม่สามารถนำเจ้าของนาฬิกาหรูมายืนยันได้ ก็ต้องถามว่า “จะมี ป.ป.ช. ไว้ทำไม?” และ “สมควรยุบทิ้งหรือไม่?”
เช่นเดียวกับวาทกรรม “ปราบโกงแบบไทยๆ” ที่ “ทั่นผู้นำ” ชูธงเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกงแม้แต่สลึงเดียว ก็จะไม่มีใครเชื่ออีกต่อไป เพราะพฤติกรรมฉาวของคนใกล้ชิดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ไม่เคยมีใครผิดเลยแม้แต่คนเดียว ใครที่พยายามตรวจสอบกลับถูกนำไปปรับทัศนคติ หรือไม่ก็ถูกตั้งข้อหาสารพัดจากผู้มีอำนาจ
วาทกรรม “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ของ “ทั่นผู้นำ” จึงไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนและเพื่อประชาชน แต่เป็นประชาธิปไตยเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการเสียมากกว่า
ยิ่งนานวันยิ่งเห็นธาตุแท้ ยิ่งนานวันยิ่งมีรัฐประหารบ่อยครั้ง ยิ่งทำให้คนไทยที่มีสติเริ่ม “ตาสว่าง” รับรู้ว่าบ้านเมืองนี้มีความวิปลาสและอยู่กับระบอบพิสดารมากเพียงใด
จริงหรือที่มีแต่ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” เท่านั้นที่โกง ที่เลว เราจึงต้องเปลี่ยนมาสนับสนุน “นักการเมืองที่มาจากการยึดอำนาจ” แทน
จริงหรือที่คนไทยส่วนใหญ่ยังโง่อยู่และไม่สามารถมีระบอบประชาธิปไตยแบบที่อารยประเทศเขามีได้
จริงหรือที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกเข้าไปนั้นยังไม่เพียงพอต่อการที่จะไปเลือกหานายกฯ จึงจำเป็นจะต้องตั้งคนดีและพิเศษกว่าใครอีก 250 คน มาร่วมลงคะแนนเลือกนายกฯ
เมื่อ “คนดี” คนหนึ่งที่มีอำนาจวาสนาเป็นถึง “พี่ใหญ่” ของคณะรัฐประหารยังมีข้อครหาว่าเอานาฬิกาข้อมือราคารวมกัน 20-30 ล้านบาท มาจากเพื่อนคนไหนที่ใจดีให้ยืมใส่เล่นได้มากมายขนาดนี้? แต่ไม่มีคำตอบที่น่าพอใจให้กับสาธารณชน และอาจจะจบลงแค่เพราะ ป.ป.ช. บอกว่า “ไม่ผิดกฎหมาย” เท่านั้น จริงหรือว่านี่คือคณะทำงานที่สมควรได้รับความไว้วางใจมาบริหารประเทศในอนาคต หรือแม้แต่ในปัจจุบัน?
จริงหรือที่ระบอบ “ประชาธิปไตยแบบสากล” นั้นมีปัญหา คณะคนดีเหนือใครจึงต้องสรรหาระบอบ “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม” มาให้คนไทยส่วนใหญ่ที่ยังโง่อยู่มาใช้แทน
มีนักการเมืองไทยคนหนึ่งที่ต่อมาได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรีของไทยเคยกล่าวเอาไว้ว่า
“การที่จะมีประชาชนจะหนึ่งคนหรือจะแสนคนลุกขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบทบทวนตัวเองพิจารณาตัวเอง ไม่ได้ขัดกับหลักประชาธิปไตยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีข้อสงสัยว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้นอาจจะแค่บกพร่องผิดพลาด ถ้าร้ายแรงกว่านั้นก็คือการละเมิดสิทธิของประชาชน
หรือเลวร้ายอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การทุจริตคอร์รัปชัน
จริงครับปัญหาเหล่านี้มีกระบวนการทางกฎหมาย แต่ท่านดูเถอะครับ ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่เขาไม่รอให้กฎหมายจัดการครับ มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าสำนึกหรือความรับผิดชอบของนักการเมืองที่เขาบอกว่ามันต้องสูงกว่าคนธรรมดา
มีเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งท่านยกตัวอย่างกรณีของเกาหลี นั่นแค่คิดนโยบายนะครับว่าจะต้องเปิดการค้าเสรี เอาเนื้อวัวจากอีกประเทศหนึ่งเข้ามานะครับ คนลุกฮือขึ้นมาเป็นแสน เขาลาออกทั้งคณะ
…ใครเคยอยู่ในประเทศประชาธิปไตยในยุโรป ในสหรัฐ จะทราบครับ อย่าว่าแต่รัฐมนตรีเลยครับ ส.ส. ส.ว. บางทีมีเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว ลาออกครับ”
อืมม… จริงของเขา!!??
You must be logged in to post a comment Login