- ปีดับคนดังPosted 29 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ใครกันแน่ที่โกหก? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่น่าจะจำได้ว่าเมื่อปีที่แล้ว “ท่านผู้นำสูงสุด” นำพลพรรคไปเยือน “พญาอินทรีตัวพ่อ” ที่ทำเนียบขาว และได้ประกาศข้อมูลสำคัญว่าเมืองไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 ทั้งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้ถาม
ต่อมาเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าจะถูกดำเนินการตามสไตล์ “เราจะทำตามสัญญา” หรือไม่? หรือแปลความง่ายๆว่า ประเทศไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2561 ตามที่ “ท่านผู้นำสูงสุด” ได้เปล่งคำพูดเอาไว้…จริงหรือเปล่า?
ต้องยอมรับว่าสังคมมีความเห็นค่อนข้างหลากหลาย ทั้ง “เชื่อ” และ “ไม่เชื่อ” หรือ “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง” แต่พอกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือเรียกสั้นๆว่า “พ.ร.ป.เลือกตั้ง” หยิบยกกรณีการ “แก้ไข” มาตรา 2 ให้ใช้บังคับร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปอีก “90 วัน” นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และแว่วๆมาอีกว่าอาจจะขยับไปถึง “120 วัน”
การเลือกตั้งปี 2561 ที่บางคนไปหลุดปากกับสังคมโลกไว้จึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ทันที แถมบรรดาลูกสมุนยังออกมาให้ข่าวทำนองว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เอง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ “ท่านผู้นำสูงสุด” ซะด้วย
ปรากฏการณ์นี้ทำให้สื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปเริ่มสงสัยว่าใครกันแน่ที่ “โกหก” เพราะถ้าสมมุติว่า “ท่านผู้นำสูงสุด” เกิดรู้เห็นเป็นใจด้วย การออกมาชี้แจงแบบนี้จะกลายเป็นการหลอกลวงประชาชนและสังคมโลกที่มี “พิรุธ” ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
คงไม่มีใครทราบว่าเรื่องที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่ถ้าพิจารณาบนหลักการที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าแม้ว่าการแก้ไขสาระสำคัญของร่างกฎหมายจะเป็นหน้าที่ของ สนช. ก็ตาม แต่ก็ต้องใช้เหตุผลความจำเป็นที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงการยืดเวลาของการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วันหรือมากกว่า ถือว่ามีผลกระทบต่อการประกาศเลือกตั้งของ “ท่านผู้นำสูงสุด” และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยบนเวทีโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น หาก สนช. ให้เหตุผลว่าต้องการให้พรรคการเมืองมีเวลาเพียงพอในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สอดรับกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น เพราะถ้าเป็นห่วงความพร้อมของพรรคการเมืองจริงๆก็น่าจะถามพรรคการเมืองทั้งหลายว่าพรรคไหนต้องการขยายเวลาบ้าง อย่างน้อยถ้าพรรคการเมืองส่วนใหญ่แสดงความต้องการอย่างพร้อมเพรียง การขยายเวลาดังกล่าวก็ถือว่าไม่มีประเด็น
แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมือง เพราะความปรารถนาดีที่ สนช. ดำเนินการขยายเวลาไม่ได้รับการตอบรับจากบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลาย มีแต่คำถามที่ย้อนกลับไปยัง สนช. และ คสช. ว่าทำแบบนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครกันแน่? เพราะพิจารณาจากมุมไหนก็เห็นแต่ “คนไทย” ส่วนใหญ่เท่านั้นที่เสียประโยชน์ ส่วนผู้ที่ได้รับประโยชน์คงไม่ต้องพูดถึง เพราะแม้แต่ “เด็กอมมือ” ก็มองออกว่าเป็นใคร?
นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการอีกหลายท่านว่า การแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวในประเด็นนี้เหมือนการ “มัดมือชก” เพราะหากมีความประสงค์จะเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อเตรียมตัวให้ทันเวลากับการเลือกตั้งที่จะมาถึง หากพิจารณาจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ก็จะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นในการขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วันเลย
เพราะรายละเอียดในข้อ 8 ของคำสั่งนั้นระบุว่า หากมีจุดใดขัดข้องในเรื่องกรอบเวลา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปรึกษาหารือกันได้ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจึงเห็นว่าการขยายเวลาออกไป 90 วันดังกล่าว เป็นการกระทำที่ “เกินกว่าเหตุ” และน่าจะมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย
ผมเองเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน จากประสบการณ์ที่เคยอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ผมเชื่อว่าการหารือของคณะกรรมาธิการที่ให้ความเห็นชอบในการขยายเวลาออกไปนั้น เป็นไปได้ยากที่จะไม่ทราบว่าการแก้ไขกฎหมายในลักษณะนี้ย่อมต้องกระทบกับโรดแม็พการเลือกตั้งที่ “ท่านผู้นำสูงสุด” ประกาศเอาไว้อย่างแน่นอน
เมื่อกระทบกับโรดแม็พก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล คสช. ดังนั้น การให้ความเห็นชอบที่เสมือนขาดความระมัดระวังดังกล่าวจึงถูกมองว่ามีการ “เหยียบเท้า” กันระหว่าง คสช. และ สนช. ใช่หรือไม่ เรื่องนี้ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรก็ลองวิเคราะห์กันได้ตามอัธยาศัย แต่สำหรับความเห็นของผมแค่นึกว่า สนช. มาจากไหนและมาอย่างไรก็เห็นภาพรวมทั้งหมดชัดเจนเพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผมสงสัยจริงๆว่าถ้า คสช. ต้องการยืดวันเลือกตั้งออกไปเพราะเห็นว่าบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย หรือหวั่นว่าจะเกิดความวุ่นวาย หรือยังไม่มีความมั่นใจว่าจะสืบทอดอำนาจได้ตามรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทำไมถึงไม่ออกคำสั่งใดๆภายใต้อำนาจของตนเองมาให้ชัดเจน ถ้าทำแบบนี้คงไม่มีใครมากล่าวหาได้ เพราะ คสช. มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่แล้ว
แต่การใช้ช่องทางของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อหาทางออกให้กับตัวเอง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ คสช. แล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ สนช. ด้วยก็เป็นได้ เพราะการขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายตามที่กล่าวมาแล้วมีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าการกระทำของ สนช. อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็เป็นได้
ไม่ว่าเรื่องนี้จะมีข้อเท็จจริงอย่างไร การขยายเวลาในการบังคับใช้กฎหมายออกไปจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่? ผมคิดว่ายังไม่เป็นสาระสำคัญเท่ากับเครดิตของประเทศไทยที่อาจลดลงไปจาก “คำสัญญา” ของ “ท่านผู้นำสูงสุด” ที่ไม่สามารถรักษาไว้ได้
การที่เครดิตของประเทศติดลบย่อมส่งผลกระทบในทุกๆด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่ส่งผลด้านการค้าขายและการลงทุน สุดท้ายปัญหาต่างๆจะกลับไปลงที่พี่น้องประชาชน ซึ่งในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้องเป็นจำนวนมากและยังไม่สามารถแก้ไขปัญหากันได้อยู่แล้ว
ผมได้แต่ภาวนาขอให้เรื่องที่เกิดขึ้นอย่าไปกระทบกับโรดแม็พเลือกตั้งเลย เพราะผมเชื่อว่าประชาคมโลกจะไม่ยอมอดทนกับคำหลอกลวงสับปลับ พูดอย่างทำอย่าง และการเป็น “โมฆบุรุษ” ที่เชื่อถืออะไรไม่ได้เลยอย่างแน่นอน
You must be logged in to post a comment Login