วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไทยแท้ไทยนิยม

On January 26, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

“หลักกู” ที่ถูกฉาบทับด้วยคำโก้เก๋ว่า “ไทยนิยม” ยังคงถูกนำมาใช้มากกว่า “หลักการ” ตัวอย่างชัดเจนเช่นการไม่ใช้มาตรา 44  พักงาน “บิ๊กป้อม” โดยอ้างเป็นเรื่องส่วนตัว และที่ผ่านมาใช้เฉพาะลงโทษในกรณีที่มีผลสอบเบื้องต้นแล้ว แต่เมื่อกลับไปอ่านคำสั่งมาตรา 44 เก่าๆ กับพบคำสั่งที่ระบุชัดเจนว่าแม้การสอบข้อเท็จจริง ยังไม่อาจสรุปความผิดได้ แต่สั่งพักงานเพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชน

“ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” คำเปรียบเปรยเสียดสีเชิงประชดประชันนิสัยของคนไทยที่มักเลือกทำอะไรตามใจตัวเองไม่ค่อยเคารพกติกา เลือกความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง ดูเหมือนว่าจะเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับสถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้

ในยุคปฏิรูปบ้านเมืองแทนที่จะเห็นการปฏิรูป การพัฒนาด้านต่างๆเป็นไปในทิศทางที่เป็นสากลซึ่งทั้งโลกให้การยอมรับ เรากลับได้ยินคำว่า “ไทยนิยม”

เรากลับได้ยินคนที่มีหน้าที่ปฏิรูปบ้านเมืองพูดจาไปในทำนองเดียวกันว่าตัดสูทตัวเดียวให้คนทั้งโลกใส่ไม่ได้เพราะมีความแตกต่างกันเรื่องความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี

ความจริงคำกล่าวอ้างนี้ก็ไม่เกินเลยจากความเป็นจริง

แต่ว่ามีหลายเรื่องที่สามารถนำหลักเกณฑ์สากลมาบังคับใช้ได้เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ความเท่าเทียม และการพัฒนา แต่เรายังได้เห็นการปฏิบัติแบบไทยๆ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ผู้นำรัฐบาลอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แสดงท่าทีแตกต่างจากกรณีอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน

โดยให้เหตุผลว่าการใช้อำนาจมาตรา 44 พักงานคนอื่นๆ ที่มีข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้เป็นเพียงการทำตามที่หน่วยงานเสนอมาซึ่งผ่านการสอบสวนมาแล้ว กรณีของ “บิ๊กป้อม” จึงต้องรอผลสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน

สำนักข่าวอิศรา (https://www.isranews.org/isranews-scoop/63037-scoop-63037.html) ทำสกรู๊ปข่าวเปรียบเทียบให้เห็นมาตรฐานเอาไว้อย่างน่าสนใจโดยระบุว่า

จากการพลิกข้อมูลการใช้คำสั่ง ม.44 ของหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งพักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ (ข้าราชการ และ นักการเมืองท้องถิ่น) ในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวน 9 ครั้ง ประมาณ 328 ราย มีอย่างน้อย 1 รายที่เหตุผลในการสั่งพักงานมาจากการสอบสวนในเรื่องพฤติกรรมส่วนตัว คือ คำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 50/2559 วันที่ 25 ส.ค. 2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 พักงาน นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กรณีจับนักข่าวแก้ผ้า กักขังหน่วงเหนี่ยว (คำสั่งเดียวกันนี้พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกรุงเทพฯด้วย)

คำสั่งฉบับดังกล่าวระบุว่า

“โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบางรายซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มูลกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือมีพฤติกรรมซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ แม้ผลการตรวจสอบหรือการสอบข้อเท็จจริงในขณะนี้ ยังไม่อาจสรุปความผิดได้ แต่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชน และมีการดำเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคยมีคำสั่งให้ใช้มาตรการชั่วคราวในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจง พิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างโปร่งใสไม่เป็นที่ครหาและเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและประชาชน ตลอดจนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน”

อ่านคำสั่งนี้ดีๆ ก็จะเห็นความแตกต่างที่สามารถลบล้างข้ออ้างเรื่องส่วนตัว หรือใช้มาตรา 44 เฉพาะกรณีที่หน่วยงานสอบสวนแล้วเสนอเรื่องขึ้นมาได้หมดสิ้น

จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยถ้าจะบอกว่าเข้าตำราทำอะไรตามใจคือไทยแท้ ไม่ชอบใส่สูทที่เป็นมาตรฐานสากล

ไม่ต่างจากเรื่องกำหนดการเลือกตั้งที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกโดยอ้างความไม่พร้อม แม้จะใช้กฎหมายในการเลื่อน เช่น คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเพื่อร่างใหม่ เลื่อนบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลเป็นอำนาจพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติที่รัฐบาลไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง เพื่อให้ดูเป็นสากลตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ

สรุปคือมีสูทอยู่ในตู้พอใจเอามาใส่ตอนไหนก็ใส่ ไม่พอใจก็โยนทิ้งบอกว่าไม่เหมาะกับเมืองร้อน

ไม่ว่ายุคไหน สมัยใด “หลักกู” ยังคงเหนือกว่า “หลักการ”


You must be logged in to post a comment Login