วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

อินเดียพร้อมลงทุนฟิลิปปินส์

On January 29, 2018

โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เผยว่า ภาคเอกชนของอินเดียรับปากจะลงทุนในฟิลิปปินส์ไม่ต่ำกว่า 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่ต่ำกว่า 39,340 ล้านบาท) ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานมากถึง 105,000 ตำแหน่ง

โฆษกเผยว่า บริษัทอินเดียได้หารือเรื่องแผนการลงทุนกับนายรามอน โลเปซ รัฐมนตรีการค้าฟิลิปปินส์นอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียครบรอบความสัมพันธ์ 25 ปีที่กรุงนิวเดลี นายโลเปซเผยว่า เงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นการรับปากของอาดานีกรีนเอ็นเนอร์จีที่ต้องการขยายธุรกิจเข้ามาในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเรื่องพลังงานหมุนเวียนและการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่เหลือเป็นการรับปากของบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการธุรกิจ และการขนส่ง ขณะเดียวกันฟิลิปปินส์ได้เชื้อเชิญบริษัทยาอินเดียให้เข้ามาเริ่มธุรกิจผลิตยาในฟิลิปปินส์ด้วยเพราะบริษัทอินเดียมีเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ชาวฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา ผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์กับอินเดียซึ่งดำเนินนโยบายมุ่งตะวันออก ท่ามกลางจีนที่แผ่อิทธิพลมากขึ้น

ผู้นำสมาคมอาเซียนมีโอกาสพบหารือกัน เมื่อวันพฤหัสบดี ที่กรุงนิวเดลีเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 25 ปีระหว่างอินเดียกับ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้คณะผู้นำประเทศอาเซียนยังจะได้ร่วมงานในฐานะแขกเกียรติยศของวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดียในวันศุกร์ที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญทางการทูตที่สำคัญสำหรับอินเดีย   โดยนางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา  ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และเวียดนาม รวมทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในวันสำคัญดังกล่าว

ต่อกรณีของชาวโรฮิงญา ที่จะได้กลับประเทศเมียนมา นั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานสหประชาชาติกล่าวว่า เหตุโจมตีทำร้ายที่มีต่อชาวมุสลิมโรฮิงญายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา ซึ่งถือว่ายังไม่ปลอดภัยสำหรับการให้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาหลายแสนคนในบังกลาเทศเดินทางกลับเมียนมา

นายจัสติน ฟอร์ซิท รองผู้อำนวยการองค์กรยูนิเซฟกล่าวระหว่างการตรวจเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลองว่า ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องการเดินทางกลับบ้านเรือนในฝั่งเมียนมา แต่เผยว่าจากการที่ผู้อพยพได้พูดคุยกับญาติมิตรในเมียนมาบอกว่ายังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ และยังไม่ปลอดภัยที่จะเริ่มการส่งกลับในเวลานี้ ก่อนหน้านี้เมียนมาและบังกลาเทศได้ลงนามในความตกลงเพื่อเริ่มกระบวนการส่งกลับ แต่บังกลาเทศเผยว่า ต้องขอเวลาตรวจสอบเพิ่มเติมท่ามกลางข้อกังขาถึงความปลอดภัยของชาวโรฮิงญาและเป็นการส่งกลับตามความสมัครใจของผู้อพยพหรือไม่


You must be logged in to post a comment Login