วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มายาและความจริง / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On January 29, 2018

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

มนุษย์เรามีปัญหาเกี่ยวกับความจริงมาโดยตลอด จนกระทั่งปราชญ์ทางปรัชญาของกรีกโบราณคือ “เพลโต” เคยกล่าวอมตะวาจาว่า “มนุษย์ที่ได้รับความเกลียดชังมากที่สุดคือมนุษย์ที่ชอบพูดถึงความจริง”

ถึงที่สุดแล้วมนุษย์คงดำรงอยู่ด้วยความเชื่ออย่างงมงาย อยู่กับความเชื่อเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์จากดวงดาวแล้วเอาสิ่งเหล่านั้นมาผูกโยงเป็นตำนาน กลายเป็นความเชื่อที่หลอกหลอนตนเองกันต่อไป นี่คือความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจของคาร์ล กุสตาฟ จุง นักจิตวิทยาและจิตแพทย์แห่งมวลมนุษยชาติชาวสวิส

สำหรับโสเครตีส เพราะสืบเนื่องมาจากการชอบกล่าวความจริงและถกเถียงเรื่องของความรู้ จึงเป็นเหตุให้บ่มเพาะศัตรูขึ้นมามากมายในกรุงเอเธนส์อย่างไม่รู้ตัว จนต่อมาได้ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยให้ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย

เรื่องของความจริงถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในโลกตลอดมาแม้นตราบจนปัจจุบันนี้ หากถกกันในแง่ของปรัชญาพุทธอย่างถึงที่สุดก็คงมีปัญหาเหมือนกันในเรื่องของความจริง แม้จะมีผู้เชื่อกันว่าพุทธนั่นแหละคือความจริง และถือเป็นความจริงอันสูงสุดเสียด้วย หากแต่ยังมีผู้โต้แย้งว่าแท้จริงแล้วความจริงของพุทธล้วนเป็นมายาหรือสิ่งที่ลวงตาทั้งสิ้น!

เราอาจกล่าวได้ว่าศาสนาพุทธเป็นเพียงศาสนาเดียวในโลกที่ให้มนุษย์ต่อสู้กับความทุกข์ภายในตัวเองโดยใช้สติและปัญญา ส่วนศาสนาอื่นๆนั้นหากไม่เป็น “เอกเทวนิยม” ซึ่งเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว ก็จะเป็น “พหุเทวนิยม” ซึ่งเชื่อในพระเจ้าหลายองค์

Arnold Toynbee เห็นว่า โดยวิถีของศาสนาต่างๆมักจะหนีไม่พ้นการสร้างให้เกิด “เหยื่อบาปบริสุทธิ์” ขึ้นมา ข้อสังเกตการสร้างเหยื่อบาปบริสุทธิ์นั้นนับเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นและเป็นไปทั่วโลก ปัจจุบันเห็นได้จากความขัดแย้งระหว่างยิวกับอิสลาม หรือกระทั่งระหว่างศาสนาอิสลามต่างลัทธิกัน

กระทั่ง Arnold Toynbee ได้ตั้งข้อสังเกตโดยเขียนไว้ในหนังสือ “The Decline of the West” หรือ “การปฏิเสธตะวันตก” ว่า “ในทุกวันนั้นมนุษย์จะไม่ภาวนาและสร้างศรัทธาขึ้นมาจากพระเจ้า แต่ว่ามนุษย์จะสร้างศรัทธาขึ้นมาจากภายในของตนเอง”

ความจริงหนังสือ The Decline of the West ซึ่งเป็นหนึ่งในงานเขียนชุด A Study of History นั้น คืองานเขียนที่เขาได้รับอิทธิพลเค้าความคิดมาจากผลงานในภาษาเยอรมันของ Oswald Spengler และต่อมาแนวคิดการปฏิเสธตะวันตกได้มีอิทธิพลมากต่อนักวิชาการหรือนักเขียนในรุ่นถัดมา แม้ในปัจจุบันนี้

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากก็คือหนังสือ “The Clash of Civilizations” งานเขียนถึงการปะทะกันทางวัฒนธรรมของซามูเอล ฮันติงตัน ถือเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลมากอีกเล่มเกี่ยวกับการปฏิเสธวัฒนธรรมและแนวคิดตะวันตก ซึ่งมีผลต่อความคิดของปัญญาชนแนวหน้าทั่วโลก และได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียน The Decline of the West ของ Arnold Toynbee นั่นเอง

เช่นเดียวกับงานเขียนของ Francis Fukuyama เรื่อง “The End of History and Last Man” ทรงอิทธิพลต่อวงการปัญญาชนของโลก ซึ่งล้วนไม่อาจปฏิเสธถึงอิทธิพลที่มีต่อโลกอย่าง Arnold Toynbee ได้เช่นเดียวกัน

เรื่องของความจริงนั้นอย่าว่าแต่สภาวะที่เป็นนามธรรมเลย เพราะแม้แต่วัตถุทางกายภาพก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน คือวัตถุทางกายภาพขนาดใหญ่ที่เคลื่อนไหวเราก็ใช้ทฤษฎีของเซอร์ไอแซค นิวตัน มาอธิบายได้ แต่สิ่งที่มีขนาดเล็กหรือเป็นคลื่นต่างๆต้องอธิบายโดยแนวคิดและทฤษฎีของควอนตัมฟิสิกส์ในโลกปัจจุบัน

หากเรากล่าวถึงความเป็นมายาหรือความผิดเพี้ยนในทางกายภาพของโลกอย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็สามารถกล่าวให้เห็นคล้อยตามได้หลายกรณีทีเดียว ดังการเคลื่อนที่ของวัตถุขนาดใหญ่เราก็อ้างอิงได้ถึงทฤษฎีทางกลศาสตร์ของเซอร์ไอแซค นิวตัน แต่การอธิบายถึงการเคลื่อนที่สำหรับวัตถุซึ่งมีขนาดเล็กมากกว่าอะตอม เราคงเข้าใจและอธิบายตามเซอร์ไอแซค นิวตัน ไม่ได้ กลายเป็นเรื่องของกฎควอนตัมฟิสิกส์

เรื่องควอนตัมฟิสิกส์นั้น “แวร์เนอร์ ไฮเซินแบร์ก” นักฟิสิกส์คนสำคัญชาวเยอรมัน เป็นผู้วางรากฐานกฎควอนตัมฟิสิกส์ที่สำคัญเอาไว้ เรื่องของอนุภาคขนาดเล็กกว่าอะตอมหรือเล็กมากในระดับควาร์ก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของคลื่นต่างๆไม่อาจใช้ความเข้าใจอย่างเดียวกับชิ้นส่วนกายภาพหรือชิ้นส่วนของฟิสิกส์ขนาดใหญ่ได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ความจริงในโลกนี้สลับซับซ้อนมากกว่าที่เรามองเห็นได้ด้วยสายตาของตัวเอง จนมีการกล่าวถึงควอนตัมฟิสิกส์ในทางจิต

เราลองพิจารณาดูว่าแม้แต่สิ่งที่เป็นไปในสภาวะทางฟิสิกส์ยังมีสิ่งที่เราไม่อาจอธิบายทำให้เข้าใจได้ แล้วสภาวะที่เป็นนามธรรมที่มองไม่เห็นจะเป็นมายาลวงตาหรือลวงใจสักเท่าไร จนอาจบอกได้ว่าแท้จริงนั้นมนุษย์อาจไม่รู้อะไรด้วยซ้ำ สิ่งที่มนุษย์มองเห็นด้วยสายตานั้นเป็นมโนทัศน์ หรือเป็นไปอย่างที่มนุษย์นึกคิดขึ้นมาโดยจิตใต้สำนึกของตน

คาร์ล กุสตาฟ จุง ซึ่งดูเหมือนทฤษฎีด้านจิตของเขาได้ก้าวไปไกลและลึกมากกว่าซิกมันด์ ฟรอยด์ หากมีโอกาสได้ศึกษางานเขียนของเขา โดยเฉพาะทฤษฎีการพัฒนาบุคลิกภาพ เราจะพบว่าแนวความคิดของเขาไปไกลและอธิบายหลายอย่างมากกว่าเรื่องเพศของซิกมันด์ ฟรอยด์ ด้วยซ้ำไป

สิ่งที่เป็นปมปัญหาของมนุษย์มากที่สุดคงหนีไม่พ้น Consciousness ของมนุษย์เอง ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึง” และเมื่อย้อนกลับมาดูโรดแม็พการเลือกตั้งประเทศไทยปลายปี 2561 เราไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่านี่คือ “เรื่องจริง” หรือเป็นเพียง “มายา” …อนิจจาสารัตถะประเทศไทย!


You must be logged in to post a comment Login