- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
โมฆบุรุษ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียของหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่แน่ๆตอนนี้เสียความเชื่อมั่นไปแล้ว
รัฐบาล คสช. มาถึงจุดที่พูดอะไรประชาชนก็ไม่ให้ความเชื่อถืออีกต่อไป
ความไม่เชื่อถือของประชาชนไม่ใช่เรื่องที่โจมตีเพื่อหวังดิสเครดิต แต่มีหลักฐานยืนยันจากผลสำรวจของโพลสำนักต่างๆ
ทั้งนี้เพราะจุดขายหลักๆของรัฐบาล คสช. และองค์กรบริวารไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เมื่อศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “คุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวม 1,250 หน่วยตัวอย่าง
หัวข้อที่น่าสนใจคือ ท่านคิดว่าโดยภาพรวมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีจริยธรรมมากน้อยเพียงใด คำตอบที่ได้คือ ร้อยละ 10.48 มีจริยธรรมมาก ร้อยละ 31.28 มีจริยธรรมค่อนข้างมาก ร้อยละ 42.00 ไม่ค่อยมีจริยธรรม ร้อยละ 11.20 ไม่มีจริยธรรมเลย ร้อยละ 05.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เท่ากับว่าจุดขายเรื่องความเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ไม่สามารถนำมาใช้อ้างได้อีกแล้ว
สอดคล้องกับศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนหรือ “กรุงเทพโพลล์” เรื่อง “เส้นทางการเลือกตั้งสู่ประชาธิปไตยไทยนิยม” ที่เก็บข้อมูลจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,114 คน
หัวข้อที่น่าสนใจที่สุดคือ คิดอย่างไรกับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเรื่องการสรรหานายกฯคนนอกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ผลปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.6 เห็นว่านายกฯควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 29.4 เห็นว่านายกฯมาจากคนนอกได้หากไม่สามารถเลือกกันเองได้
ขณะที่แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยนิยมของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประชาชนร้อยละ 29.1 เห็นว่าจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆเลย รองลงมาร้อยละ 27.9 เห็นว่าจะทำให้กลายเป็นประชาธิปไตยกึ่งรัฐบาลทหาร และร้อยละ 22.5 เห็นว่าทำให้คนปรองดอง ไม่ขัดแย้ง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย
คำถามที่ชี้วัดความนิยมในตัว “บิ๊กตู่” มากที่สุดคือ หากวันนี้มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกฯ จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 36.8 ยังให้การสนับสนุน แต่สัดส่วนดังกล่าวลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่มีผู้สนับสนุนถึงร้อยละ 52.8 หรือลดลงร้อยละ 16.0 ขณะที่ร้อยละ 34.8 จะไม่สนับสนุน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่มีผู้ไม่สนับสนุนเพียงร้อยละ 25.6 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 28.4 งดออกเสียง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ผลสำรวจของทั้ง 2 สำนักโพลสะท้อนความจริงที่ว่าเมื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นน้อยลงก็ให้การสนับสนุนน้อยลง และมองการอยู่ในอำนาจและใช้อำนาจอย่างเคลือบแคลงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ
ทั้งนี้ มีคนนำผลสำรวจที่บ่งชี้ความถดถอยของรัฐบาล คสช. ไปโยงเข้ากับกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วันหลังประกาศในราชกิจานุเบกษาว่าเป็นเพราะคะแนนนิยมตกต่ำ ความไม่พร้อมของพรรคการเมืองที่จะสนับสนุนให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯคนนอก จึงต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเพื่อจะได้มีเวลาจัดการให้ทุกอย่างลงตัวก่อน
ถึงเรื่องนี้จะไม่เป็นผลดีต่อท่านผู้นำโดยตรง แต่ก็ไม่มีอะไรจะเสียมากกว่านี้อีกแล้ว หากมองในระยะยาวย่อมไม่เป็นผลดีแน่ๆ
สมมุติว่าหลังเลือกตั้งตามกำหนดที่จะเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2562 แม้ “บิ๊กตู่” จะได้รับการโหวตเข้ามาเป็นนายกฯคนนอก แต่จะมีคำถามว่าความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนจะอยู่ในระดับไหน อย่างไร
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต้องโทษใครนอกจากตัวเอง เพราะที่ผ่านมาพูดไว้หลายกรรมหลายวาระทั้งในประเทศและต่างประเทศเรื่องกำหนดการเลือกตั้ง แต่ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก
แม้การเลื่อนเลือกตั้งอาจมีเหตุผลที่ประชาชนไม่รู้ แต่ความเชื่อถือได้ถูกทำลายไปแล้ว เสี่ยงต่อการถูกกล่าวว่าเป็นโมฆบุรุษ เป็นบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้ ฯลฯ
ที่สำคัญข้อกล่าวหานี้จะเป็นของ “บิ๊กตู่” แต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่คณะกรรมาธิการที่มีมติให้เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. หรือ สนช. ที่จะลงมติให้ความเห็นชอบข้อเสนอนี้ เพราะประชาชนเชื่อว่าคณะกรรมาธิการ สนช. ล้วนเป็นคนของ คสช. ต่อให้อมพระมาพูดก็ยากที่จะเชื่อว่ามีอิสระต่อกัน ไม่มีการส่งซิกให้กันเพื่อให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ออกไป
ความเชื่อมั่นที่ถูกทำลายจนสิ้นซากแลกกับเวลาที่ยื้อออกไปได้อีก 90 วัน คุ้มกันหรือไม่ให้ถามใจตัวเองดู
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน “บิ๊กตู่” ก็รับรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี ไม่อย่างนั้นคงไม่พูดบางช่วงบางตอนในทำนองที่ว่า
“ผมสวดมนต์ทุกคืน สวดให้ประเทศชาติ พระมหากษัตริย์ และตอนนี้ยังสวดให้ คสช. ด้วย เอาตัวให้รอด ผมไม่ใช่ศัตรูของท่าน วันหน้าผมก็คนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เมื่อไรก็ไม่รู้ ก็เป็นไปตามโรดแม็พ”
แม้จะยังยืนยันว่าเดินตามโรดแม็พ แต่คำพูดที่ว่า “วันหน้าผมก็คนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เมื่อไรก็ไม่รู้” ไม่ได้ฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมา เพราะสามารถตีความได้หลายอย่าง
ทั้งเลือกตั้งตามกำหนดแล้วเข้ามาเป็นนายกฯคนนอกทำให้ยังไม่เป็นคนธรรมดา หรืออยู่ในอำนาจแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ยังไม่มีเลือกตั้ง ก็ยังไม่เป็นคนธรรมดาเหมือนประชาชนทั่วไป
ความเชื่อมั่นที่ถดถอยไปมากจะทำให้รัฐบาล คสช. มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงมากขึ้น
เป็นธรรมดาว่าเมื่อถึงจุดที่พูดอะไรแล้วประชาชนไม่เชื่อ เวลาที่มีคนพูดถึงคนในรัฐบาล คสช. หรือองค์กรบริวารในทางไม่ดีประชาชนก็จะให้ความเชื่อถือได้ง่าย
จากนี้ไปทั้งข่าวลือข่าวจริงในทางลบจะทยอยออกมาเป็นระลอก รัฐบาล คสช. จะเอาอยู่หรือไม่ต้องติดตามกันต่อไป
You must be logged in to post a comment Login