วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เข้าทางใคร?

On February 2, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเมืองกลับมาฝุ่นตลบอีกครั้งมีหลายปัจจัยที่จะทำให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่จุดเดิมๆที่เคยผ่านมาแล้ว ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากท่าทีของ‘ท่านผู้นำ’ที่ประกาศชัดเจนหลายครั้งก่อนหน้านี้ว่าหากยังไม่สงบจะไม่มีเลือกตั้ง เมื่อสถานการณ์พัฒนาไปในทิศทางนี้ก็ต้องบอกว่าลูกไหลเข้าทางให้ใช้อำนาจ และอยู่คุมอำนาจ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการใช้อำนาจอย่างเต็มที่ในวันที่‘กองหนุนน้อยลง’เสียงเชียร์เบาลงบางทีลูกอาจไปไหลเข้าทางฝ่ายต่อต้านให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนมีพลังในการขับไล่มากขึ้นได้เช่นกัน

สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้บรรยากาศเก่าๆ เริ่มกลับมา มีทั้งม็อบไล่และม็อบหนุนรัฐบาลทหารคสช.

ต่างกันตรงที่ม็อบไล่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างไม่ละเว้นในทุกข้อหาที่สามารถเอาผิดได้ แต่ม็อบเชียร์ยังไม่มีปัญหาอะไรกับกฎหมายรวมถึงประกาศ คำสั่ง คสช.

ไม่พ้นตำรวจที่ต้องรับเผือกร้อนมาถือในมือ

ฝ่ายที่ถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาขู่ฮึ่มๆ หากไม่อยากถูกเอาผิดฐานเลือกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องใช้กฎหมายเอาผิดกลับกลุ่มที่ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลทหารคสช.ด้วย เพราะกฎหมายหรือประกาศ คำสั่งคสช. ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้บังคับใช้เฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารคสช.เท่านั้น จึงไม่ควรสองมาตรฐาน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวที่มีในตอนนี้ดูเหมือนว่ามีแต่คนช่วยกันโหมไฟ ไม่มีใครคิดจะชักฟืนออก

เรื่องยื้อเลือกตั้งโดยใช้เทคนิคกฎหมาย

แม้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะพูดชัดว่าไม่มีเหตุผล ที่กกต.ต้องทำคำโต้แย้งร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. เพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายร่วมกันพิจารณาอีก 1 เดือน

แต่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต.กลับเตรียมชงเรื่องให้ กกต.ทำคำโต้แย้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งเรื่องกำหนดเวลาเลือกตั้งที่เปลี่ยนมาเป็น 07.00 น.ถึง 17.00 น. และเรื่องจัดมหรสพหาเสียง

อย่างไรก็ตามการจะทำคำโต้แย้งเพื่อขยายเวลาพิจารณาร่างกฎหมายออกไปอีก 1 เดือนหรือไม่ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม กกต.

ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. พูดตามหลักการที่ว่า หากจมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ใหม่ จะไม่กระทบกำหนดเวลาเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนไปประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะเพิ่มเวลาพิจารณาร่างกฎหมายแค่เดือนเดียวถือเป็นขั้นตอนปรกติ

“เฉพาะการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม จะไม่ทำให้การเลือกตั้งเลยเวลาเดือนกุมภาพันธ์  แต่หากจะกระทบก็เมื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จแล้วส่งเรื่องกลับเข้าสภาให้ สนช.พิจารณา หากมีการคว่ำเกิดขึ้น จะเป็นปัญหา หรือถ้ามีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็จะกระทบต่อวันเลือกตั้งเช่นกัน นี่ตอบแบบสมมติ เดี๋ยวจะมากล่าวหาว่าผมชี้นำให้ส่งศาล หรือบอกว่าจะไปคว่ำกฎหมาย”

คำกล่าวของประธานสนช.ชี้ให้เห็น 2 ช่องทางที่สามารถทำได้หากต้องการยื้อเวลาเลือกตั้งออกไปอีก

อีกประเด็นคือภายในสัปดาห์หน้าต้องรอลุ้นผลตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่าจะชี้ขาดอย่างไรกับกรณีที่ สนช.ให้ยกเว้นการบังคับใช้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพื่อให้กรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันได้อยู่ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ 9 ปี

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าจะเป็นตัวเร่งอุณหภูมิชั้นดีคือคำแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่ระบุรัฐบาลทหารคสช.หมดความชอบธรรมที่จะอยู่บริหารประเทศต่อไปแล้วเนื่องจากละเมิดและคุกคามสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

หลักใหญ่ใจความของแถลงการณ์นี้ก็คือ ต้องอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์เหนือกว่าคำสั่งใดๆ  ถ้าคำสั่งใดถูกใช้ในลักษณะที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามสถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางใดคงต้องรอดูการชุมนุมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้อีกครั้งว่าจะสร้างจุดเปลี่ยนอะไรหรือไม่เนื่องจากขณะนี้กระแสสนับสนุนจากหลายฝ่ายเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากท่าทีของท่านผู้นำที่ประกาศชัดเจนหลายครั้งก่อนหน้านี้ว่าหากยังไม่สงบจะไม่มีเลือกตั้ง เมื่อสถานการณ์พัฒนาไปในทิศทางนี้ก็ต้องบอกว่าลูกไหลเข้าทางให้ใช้อำนาจ และอยู่คุมอำนาจ

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการใช้อำนาจอย่างเต็มที่ในวันที่กองหนุนน้อยลง เสียงเชียร์เบาลงแบบนี้บางทีลูกอาจไปไหลเข้าทางฝ่ายต่อต้านให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนมีพลังในการขับไล่มากขึ้นได้


You must be logged in to post a comment Login