วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จี้พม่าปล่อยนักข่าวรอยเตอร์

On February 5, 2018

นายอันโตนิโอ กูเทอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าววานนี้ เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อให้ทางการเมียนมายอมปล่อยตัวนักข่าวชาวเมียนมาของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ที่ถูกควบคุมตัวในเมียนมา

โฆษกหญิงของสหประชาชาติกล่าวว่า นายกูเทอร์เรส ได้แสดงความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีที่เสรีภาพของสื่อมวลชนในเมียมากำลังถูกลิดรอนลงเรื่อย ๆ และเขาได้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้พยายามช่วยเหลือให้มีการปล่อยตัวนักข่าวทั้งสองและเพื่อให้เมียนมามีเสรีภาพของสื่อมวลชน เมื่อวานนี้ ศาลในนครย่างกุ้งของเมียนมาไม่อนุญาตให้ประกันตัวนักข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส 2 คน ที่ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายความลับของทางการที่อาจจะทำให้ทั้งสองถูกจำคุกเป็นเวลา 14 ปี วา โล วัย 31 ปี และ จอ โซ อู วัย 27 ปี นักข่าวสัญชาติเมียนมา ของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ถูกกล่าวหาว่า ครอบครองเอกสารที่เป็นความลับของทางการ ซึ่งคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการที่ทหารใช้กำลังเข้ากวาดล้างชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทั้งสองถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนที่จะตัดสินว่าจะประทับรับฟ้องคดีนี้หรือไม่

ขณะที่นายมานซาวร์ อัยยาด อัล-โอตาอิบี ทูตคูเวตประจำองค์การสหประชาชาติเปิดเผยวานนี้ว่า รัฐบาลเมียนมาได้แจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงฯ ว่า การเดินทางมาเยือนเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์นั้น ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม

นายอัล-โอตาอิบี ในฐานะประธานหมุนเวียนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ กล่าวว่า เขาพยายามจะจัดให้สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้ส่งผู้แทนไปเยือนเมียนมาเพื่อไปดูข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมา ให้ทันในระหว่างที่คูเวต ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ อื่น ๆ ที่หมุนเวียนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคงจะได้มีการจัดให้มีการเยือนเมียนมาในโอกาสต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นในเดือนมีนาคมหรือเมษายน

นายอัล-โอตาอิบี กล่าวว่า เมียนมา ไม่ได้ปฎิเสธหรือไม่ยอมให้มีการเยือน แต่แจ้งว่า การเยือนในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเมียนมาได้ให้เหตุผลว่า ขณะนี้รัฐบาลเมียนมากำลังจัดให้คณะทูตต่างประเทศประจำเมียนมาได้เดินทางไปยังรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารพม่าใช้กำลังเข้ากวาดล้างกลุ่มต่อต้านที่เป็นชาวโรฮิงญา จนทำให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ต้องอพยพไปยังบังกลาเทศ และตอนนี้ยังมีความตึงเครียดอยู่มากในรัฐยะไข่


You must be logged in to post a comment Login