วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โรคท้องเสีย / โดย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ

On February 5, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ

โรคท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง หรือท้องเดิน เป็นปัญหาความเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก โดยเฉพาะช่วงอากาศเย็นๆจะมีเด็กป่วยท้องเสียกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียคุณภาพชีวิต พ่อแม่เสียเวลาต้องมาเฝ้าดูแล และยังระบาดไปถึงคนในครอบครัวรวมทั้งผู้ใหญ่ด้วย

โรคท้องเสียที่พบในเด็กมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้ออื่นๆ เช่น เชื้อปรสิต อาหารเป็นพิษจากสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนในอาหารหรือสารพิษที่สร้างขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการได้รับยาบางชนิด

จากข้อมูลทางระบาดวิทยาของประเทศไทยและทั่วโลกพบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของโรคท้องเสียในเด็กเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรต้า เอ็นเตอโรไวรัส โนโรไวรัส อะดีโนไวรัส รวมทั้งไวรัสอื่นๆที่ทำให้เกิดโรคหวัดก็อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้ ไวรัสตัวที่สำคัญคือไวรัสโรต้า เนื่องจากทำให้เกิดอาการท้องเสียได้รุนแรงมากที่สุด ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าไวรัสตัวอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กจะรุนแรงมากกว่าเด็กโต ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่ท้องเสียรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า

โรคท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมักจะมีอาการอาเจียนนำมาก่อนแล้วถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ่ายมากจนก้นแดง อาจมีไข้หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการหวัด ไอ ร่วมด้วยได้บ้าง ไวรัสโรต้าจะมีอาการรุนแรงกว่าเชื้ออื่น และยังอาจทำให้เด็กมีไข้สูงจนเกิดการชักได้ ส่วนโรคท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรืออาหารเป็นพิษอาจมีอาการคล้ายกันได้แต่มักมีอาเจียนน้อยกว่า ถ้าอุจจาระเป็นมูกปนเลือดจะเรียกอาการท้องเสียนั้นว่า “โรคบิด” ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อปรสิต

โดยทั่วไปโรคท้องเสียส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง แต่ในระหว่างที่มีอาการอาจเกิดอันตรายได้หากมีการอาเจียนมากจนกินอะไรไม่ได้หรือถ่ายมากจนขาดน้ำ ซึ่งอาจมีอาการ เช่น หิวน้ำ ปากแห้ง ตาโบ๋ กระวนกระวาย ซึม โดยเฉพาะโรคท้องเสียที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้าจะทำให้มีอาการถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก หากผู้ป่วยไม่สามารถกินน้ำเกลือแร่เข้าไปชดเชยได้อย่างเพียงพอจนเกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะช็อก และหากแก้ไขไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การรักษาที่สำคัญคือการกินน้ำเกลือแร่ชดเชยที่สูญเสียไปทางอุจจาระและอาเจียน ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ กรณีท้องเสียที่ไม่รุนแรง เช่น ผู้ป่วยมีอาการอาเจียนไม่มาก ยังพอกินน้ำหรืออาหารเหลวหรืออาหารอ่อนๆได้ ก็สามารถรักษาประคับประคองเองที่บ้านโดยการจิบน้ำเกลือแร่ทีละน้อยบ่อยๆ อาจสลับกับน้ำชาหรือน้ำข้าว ปรับอาหารให้เป็นอาหารอ่อน งดนมและผลไม้ ยกเว้นกล้วย ในเด็กเล็กที่ยังกินนมแม่ไม่จำเป็นต้องหยุดนมแม่

หากไม่สามารถกินน้ำหรืออาหารได้ มีอาการอาเจียนมาก ซึม เพลียมาก หรือมีอาการไข้สูง เป็นบิด ถ่ายเป็นมูกเลือด ควรไปพบแพทย์ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้อาเจียนและน้ำเกลือเข้าทางกระแสเลือดตามความจำเป็น

เนื่องจากโรคท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงหรือโดยอ้อมกับเชื้อในอุจจาระของผู้ป่วย หรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารและน้ำ การรักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือ กินอาหารปรุงสุกใหม่และสะอาด จะช่วยป้องกันโรคท้องเสียได้ ผู้ที่ดูแลเด็กเล็กควรหมั่นล้างมือโดยเฉพาะหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อม เพราะเชื้ออาจติดมืออยู่ได้นานหลายชั่วโมง เด็กๆมักแพร่เชื้อให้กันเองผ่านของเล่น จึงควรดูแลทำความสะอาดของเล่นอย่างทั่วถึง ไม่ใช้อุปกรณ์การกินร่วมกัน สำหรับเด็กเล็กการกินนมแม่จะช่วยป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อไวรัสได้ส่วนหนึ่ง

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันท้องเสียจากไวรัสโรต้าแล้ว เป็นวัคซีนชนิดหยอด มี 2 บริษัทผู้ผลิตคือ RotarixTM หยอด 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน และ RotateqTM หยอด 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน ทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ไม่ต่างกัน สำหรับประเทศไทยวัคซีนนี้ได้นำมาใช้นำร่องที่จังหวัดสุโขทัยเมื่อหลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 88 และมีความปลอดภัยสูง แม้จะมีรายงานว่าวัคซีนนี้อาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาลำไส้กลืนกันในอัตราที่น้อยมากประมาณ 1 ใน 100,000 ราย ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ แต่เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ในการป้องกันโรคจะสูงกว่ามาก

เด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครบแล้วอาจยังเกิดท้องเสียจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้แต่จะมีอาการเบาลง องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่าเด็กเล็กทุกคนควรได้รับการหยอดวัคซีนนี้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน โดยการหยอดให้พร้อมๆกับตอนที่รับวัคซีนอื่นๆของวัยนี้ และวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้านี้กำลังจะได้บรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กไทยเร็วๆนี้ ส่วนผู้ปกครองที่สนใจให้บุตรหลานของท่านรับวัคซีนนี้ให้ปรึกษาแพทย์


You must be logged in to post a comment Login