วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไทยนิยม / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On February 5, 2018

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

“ไทยนิยมยั่งยืน” ที่รัฐบาลทหารอธิบายว่าต่อยอดมาจาก “ประชารัฐ” ไม่ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูง

ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้รัฐบาลจะเดินหน้าลุยโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” เต็มสูบ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ

ระยะแรก วันที่ 7-13 กุมภาพันธ์ เป็นการประชุมเพื่อมอบแนวนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นผู้มอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติ พร้อมกับจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล

ระยะที่สอง วันที่ 14-23 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการขับเคลื่อนฯในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล จะประชุมเพื่อถ่ายทอดแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน

ระยะที่สาม วันที่ 1 มีนาคม-20 พฤษภาคม จะเป็นการลงพื้นที่ปฏิบัติงานทั้ง 81,064 หมู่บ้านและชุมชน โดยมีกรอบการทำงาน 4 ระยะคือ

วันที่ 1-20 มีนาคม วิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อน เยี่ยมเยียนรายครัวเรือนหรือบุคคล ค้นหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดทำโครงการเสนอ

วันที่ 21 มีนาคม-10 เมษายน สร้างการรับรู้และปฏิบัติตามสัญญาประชาคม

วันที่ 11-30 เมษายน สร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนารอบที่ 1

วันที่ 1-20 พฤษภาคม สร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนารอบที่ 2

การลงพื้นที่ทำงานจะใช้ทีมงานทั้งหมด 7,463 ทีม ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐจากทุกกระทรวง นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

นอกจากการทำงานในระดับปฏิบัติแล้ว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ จะลงพื้นที่ทั่วประเทศให้ครบทั้ง 76 จังหวัด

การลงพื้นที่ของ “บิ๊กตู่” มีความน่าสนใจหลายประเด็น

ประเด็นแรกคงไม่พ้นเสียงวิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ การใช้งบประมาณเพื่อหาเสียงกับประชาชนล่วงหน้าก่อนมีการเลือกตั้ง

แม้จะมีคำอธิบายว่าเป็นการลงพื้นที่เพื่อติดตามแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่ชื่อโครงการไม่ได้อธิบายความหมายชัดเจนว่า หากเป็นไทยนิยมแล้วจะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างไร

จึงต้องดูที่เนื้อหาในขั้นตอนปฏิบัติว่ารัฐบาลทหารมีแนวทางทำงานอย่างไร เพื่อดูว่าสุดท้ายว่าหากเป็นไทยนิยมแล้วจะหายจนได้หรือไม่ จะหมดหนี้ได้หรือไม่ ราคาพืชผลทางการเกษตรจะดีขึ้นหรือไม่ จะหมดปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากได้หรือไม่

ประเด็นต่อมาคือ การลงพื้นที่ของ “บิ๊กตู่” ตามโปรแกรมจะเห็นว่าเป็นการลงพื้นที่หลายจังหวัดใน 1 วัน หากเป็นทัวร์ท่องเที่ยวก็ไม่ต่างอะไรกับชะโงกทัวร์ เพียงแค่ไปให้ถึงที่ ถ่ายรูปเป็นหลักฐานว่าได้มาแล้วก็เดินทางกลับ

วันหนึ่งไป 3-6 จังหวัด ก็คงไปได้แค่จุดที่จัดเตรียมพิธีต้อนรับ ขึ้นปราศรัยกับประชาชนบอกถึงความตั้งใจ เป้าหมายโครงการ แล้วก็เดินทางต่อไปจังหวัดอื่นๆเพื่อให้ครบตามโปรแกรม

แน่นอนว่า “บิ๊กตู่” เป็นประธานคณะกรรมการ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ จึงไม่จำเป็นต้องลงไปคลุกคลีกับประชาชนในพื้นที่

แต่การลงพื้นที่ในลักษณะชะโงกทัวร์ก็เกิดคำถามว่าไปทำไม ไปแล้วได้อะไร

จะว่าไปติดตามงาน ตรวจงาน ดูความคืบหน้าของโครงการก็คงไม่ใช่ เพราะการลงพื้นที่แบบนี้ “บิ๊กตู่” จะได้เห็นในสิ่งที่คณะกรรมการอยากให้เห็น ได้รู้เฉพาะสิ่งที่คณะกรรมการต้องการให้รู้

โครงการนี้จะแตกต่างหรือซ้ำซ้อนกับหลายโครงการที่รัฐบาลทำมาก่อนหน้านี้หรือไม่เป็นคำถามที่น่าสนใจ

ถ้าฟังจากคำอธิบายกว้างๆของผู้เกี่ยวข้องคือ การเก็บรวบรวมข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในแต่ละพื้นที่เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางแก้ไข

คำถามคือ การเก็บข้อมูลปัญหาจากประชาชนในโครงการนี้แตกต่างจากโครงการอื่นๆที่ทำมาก่อนหน้านี้อย่างไร เช่น การขึ้นทะเบียนคนจน การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ฯลฯ

อีกคำถามที่น่าสนใจคือ รัฐบาลมีเจ้าหน้าที่รัฐสังกัดหน่วยงานต่างๆประจำอยู่ทุกตำบล หมู่บ้าน ในประเทศอยู่แล้ว ข้อมูลต่างๆถูกรายงานส่งหน่วยงานต้นสังกัดเป็นปรกติ

หากอยากได้ข้อมูลปัญหาของประชาชนมาแก้ไขทำไมต้องทำให้เอิกเกริก ดึงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่ทำเป็นปรกติอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เพื่อจะได้นำงบประมาณที่จ่ายในการประชุม การเดินทางของคณะกรรมการระดับต่างๆ ไปใช้แก้ปัญหาให้ประชาชน

ถ้าจะพูดกันอย่างเป็นธรรมโครงการแบบนี้มีมาแล้วหลายรัฐบาล แต่ปัญหาของประชาชนก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน

แนวทางแก้ปัญหาก็ยังเป็นไปในลักษณะเดิมๆ คือเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วนใหญ่

การที่รัฐบาลทหารทำโครงการแบบนี้ก็ไม่แปลกหากท่านผู้นำไม่เคยประกาศหรือแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ชอบในสิ่งที่นักการเมืองทำ ไม่ศรัทธาในแนวทางที่นักการเมืองดำเนินการ มองว่าเป็นการทำเพื่อหาเสียง ทำเพื่อให้ประชานิยม

แต่สุดท้ายก็เข้าตำราเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง

เมื่อทำตามอย่างนักการเมือง แนวทางแก้ปัญหาแบบนักการเมือง ผลที่ได้ก็คงเป็นแบบเดียวกัน

ที่เคยประกาศว่าไม่ต้องการหาเสียง ไม่ต้องการคะแนนนิยม จริงหรือไม่ให้ถามใจตัวเองดู


You must be logged in to post a comment Login