วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ยืด…ได้อีก / โดย ทีมข่าวการเมือง

On February 5, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

การเลือกตั้งที่หลายคนคาดว่าจะเลื่อนไปประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 2 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาจากเดิม ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั้น อาจเลื่อนไปได้อีกอย่างไม่มีกำหนด เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี “เนติบริกรใหญ่” เจ้าของวาทกรรม อภินิหารทางกฎหมาย แย้มว่า อาจลากช้าออกไปได้อีก โดยไม่เปิดเผยว่าด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างอะไร เพราะอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากการยึดอำนาจ

นอกจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว ยังมี พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คณะกรรมาธิการ สนช. กำลังพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกร่างในประเด็นสำคัญที่เป็นหลักการของกฎหมาย ซึ่งมีผู้ชี้ว่าอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ หากเสียงส่วนมากลงมติคว่ำร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ก็ต้องยกร่างกันใหม่อีก หรือ สนช. ลงมติเห็นชอบแล้วมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตีความวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งที่สามารถขยายเวลาออกไปได้ทั้งสิ้น

สอดคล้องกับการพูดล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยืนยันว่า ผมไม่ได้ไปสัญญาอะไร ผมสัญญาจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็พ ผมสัญญาเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยังมีปัญหาที่คนบางกลุ่มบางฝ่ายพยายามจะให้ทุกอย่างกลับมาเป็นแบบเก่า ดังนั้น ขอให้เลือกเอาแล้วกันว่าจะเอาแบบผมหรือจะให้กลับมาที่เดิม

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ยืนยันว่าการเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ คือโรดแม็พจะจบในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่ว่า ไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องกฎหมาย ผมบังคับได้ไหมเล่า

เมื่อถามถึงสัญญาที่เคยให้ไว้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ย้อนถามกลับว่า เวลานักการเมืองอยากอยู่นานๆ ไม่เห็นสื่อไปว่าเขาบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า อย่าร้องเพลง คสช. แต่ท่อนที่ว่า เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน ทำไมไม่ร้องท่อนที่ว่า แผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา

มาบอกว่ายังไม่เห็นคืนความสุข มันจะคืนได้ไหม ปัญหามันร้อยแปดพันเก้า ทุกคนก็ต้องมาช่วยกันแก้ ขอให้เข้าใจ ผมไม่ได้แก้ตัวอะไรทั้งสิ้น บ้านเมืองมันสงบเรียบร้อยขึ้นไหมตอนนี้ เริ่มมีความสุขไหม เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางดีขึ้นหรือไม่ ขนาดเล็กกำลังแก้ไขหรือเปล่า ปัญหาที่สะสมได้รับการแก้ไขหรือไม่ ทั้งเรื่องแรงงานและการเพิ่มค่าจ้าง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุขหรือ แม้จะไม่มากนัก แต่มันก็เป็นความสุขแล้วไง นี่คือสัญญาของผม ผมก็คืนให้ แต่ให้ในสิ่งที่ให้ได้ก่อน สิ่งไหนที่ยังไม่ได้รัฐบาลต่อไปก็ต้องไปทำต่อ ไม่ใช่มาโจมตีกันในวันนี้ แล้ววันหน้าจะได้อะไรไหม มันก็โจมตีกันแบบนี้ ทุกครั้งที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็เป็นอยู่แบบนี้ มันต้องเอานโยบายมาถกแถลงกัน เห็นดีเห็นชอบหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ขออย่าเพิ่งหมดกำลังใจกับผมและ คสช. ผมขอความเข้าใจจากทุกคน

คำพูดคือนาย

การเลื่อนโรดแม็พวันเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ยืนยันว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่าไม่ได้สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร แต่คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ถูกบันทึกไว้ทุกครั้งที่พูดเรื่องเลือกตั้ง โดยเฉพาะการไปพูดกับประชาคมโลก ซึ่งไม่ใช่แค่สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอีกด้วย

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า เรากำลังวางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในช่วงสิ้นปีนี้ (2558) หรือต้นปีหน้า (2559)”

วันที่ 28 กันยายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างหารือทวิภาคีกับนายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติว่า “คาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560

วันที่ 26 มกราคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไรว่า “ผมยืนยันว่ากรกฎาคม 2560 ต้องมีเลือกตั้ง ถ้าไม่มีเลือกตั้งก็ไปสู้กันเอาเอง

วันที่ 10 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์แถลงผ่านทีวีพูลหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติว่า “กกต. จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันหรือ 5 เดือน ซึ่งก็คือช่วงปลายปี 2560 อันยังคงเป็นไปตามโรดแม็พที่วางไว้

วันที่ 3 ตุลาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังหารือกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ในปีหน้าเราจะประกาศวันเลือกตั้งออกมาโดยไม่มีการเลื่อนใดๆทั้งสิ้น เมื่อประกาศแล้วก็จะมีขั้นตอนของการเลือกตั้งคือ นับไปอีก 150 วันตามกฎหมาย จะประกาศเลือกตั้งปีหน้าแน่นอน

วันที่ 10 ตุลาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. กับ คสช. ว่า ประมาณเดือนมิถุนายน 2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้ง

ดังนั้น ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะพูดถึงโรดแม็พการเลือกตั้งอย่างไรแทบไม่มีความหมายหรือเชื่อถือไม่ได้เลย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ฮึ่มๆเอาไว้แล้วว่า ให้เลือกเอาว่าจะเอาแบบผม หรือจะให้กลับมาที่เดิม

จะเป็นอะไรหนักหนาแค่ 90 วัน

ขณะที่ ไก่อูพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจของสวนดุสิตโพลที่ระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. ว่า โพลก็คือโพล ปัจจุบันโพลมีหลายสำนัก แต่ละสำนักไม่ค่อยตรงกัน ยืนยันว่ารัฐบาลฟังเสียงทุกเสียงและรับทราบเสียงจากสังคมตามที่โพลสำรวจความคิดเห็น ส่วนการเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้งไม่เกี่ยวกับรัฐบาลและ คสช. ทีเดียว แต่เป็นการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ของ สนช. ไม่ได้สืบทอดอำนาจ

“90 วันมันทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว แล้วมันจะเป็นอะไรหนักหนาแค่ 90 วัน ใครคิดอย่างไรไม่เป็นไร เราว่ากันตามระเบียบ รัฐบาลตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองเต็มที่

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุดโพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ที่ไก่อูถามว่าเลื่อนเลือกตั้งไปอีก 90 วันมีปัญหาอะไร คุณคงไม่เข้าใจว่าจริงๆมันเกือบ 5 ปี ไม่ใช่ 90 วัน ที่ประชาชนต้องทนฟังพวกคุณสั่งสอนคนในประเทศนี้ อย่างกับพวกกรูเป็นคนป่วยทุพพลภาพ

ปชป. เตือน บิ๊กตู่กลายเป็นตัวตลกโลก

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการขยายเวลาบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วันจนถูกวิจารณ์ว่า “มีใบสั่ง” ซึ่งอาจทำให้โรดแม็พเลือกตั้งเลื่อนออกไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นายกฯประยุทธ์ก็ปฏิเสธว่าไม่มีใบสั่ง เป็นเรื่องของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับตนเองนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะข้ออ้างเหตุผลการขยายเวลา 90 วัน คือเกรงว่าพรรคการเมืองจะปฏิบัติตามกฎหมายไม่ทัน ซึ่งเกิดขึ้นจาก พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างเดินหน้าตามกฎหมายพรรคการเมืองถึง 2 ครั้ง เท่ากับแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายคือ 1.เมื่อกฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว ไม่ยอมปลดล็อกประกาศ คสช. ที่ห้ามทำกิจกรรม ฉะนั้นที่บอกว่าบังคับกฎหมายไม่ได้จึงไม่เป็นความจริง 2.ประกาศคำสั่งที่ 53/2560 เกิดการเอื้อพรรคใหม่ บอนไซพรรคเก่า รีเซตสมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิมของทุกพรรค ตรงนี้เท่ากับใช้อำนาจหัวหน้า คสช. มาบังคับกฎหมายพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่ต้องการ

นายองอาจยังกล่าวถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในฐานะ 1 ในแม่น้ำ 5 สายของ คสช. ว่า ควรบอกให้หัวหน้า คสช. คลายล็อกเพื่อให้พรรคทำตามกฎหมายตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องหาเหตุผลข้างๆคูๆที่ย้อนแย้งกันเองมาเป็นข้ออ้าง จนทำให้นายกฯกลายเป็นตัวตลกในสายตาของนานาชาติและคนไทยส่วนหนึ่ง ถ้าผู้มีอำนาจทุกฝ่ายทำทุกอย่างตรงไปตรงมาไม่มีวาระซ่อนเร้นก็ไม่เกิดปัญหาตามมา แต่ถ้ามีวาระซ่อนเร้นก็จะเป็นปมปัญหาเพิ่มขึ้นไม่รู้จบ ทางที่ดีบอกตรงๆดีกว่าว่าต้องการอะไร ถ้ามีเหตุผลที่ดีสมเหตุสมผลเชื่อว่าคนจะรับได้ แต่ถ้ายังอ้างเหตุผลข้างๆคูๆก็ดูไม่จืดไปเรื่อยๆ

อำนาจปืนปิดปากประชาชน

วาทกรรมของ “ทั่นผู้นำ” และ สนช. ที่เป็นลูกเรือ “เรือแป๊ะ” ที่กลับไปกลับมาไม่อยู่กับร่องกับรอย จนไม่รู้ว่าจะเป็น เด็กเลี้ยงแกะหรือ พิน็อคคิโอ โดยเฉพาะวาทกรรมของ “โฆษกไก่อู” ที่ว่า “มันจะเป็นอะไรหนักหนาแค่ 90 วัน” ซึ่ง “ไก่อู” คนเดียวกันนี้เองที่เคยออกมาแถลงเป็นตุเป็นตะเรื่อง “ผังล้มเจ้า สุดท้ายก็เป็นแค่ ผังกำมะลอที่อุปโลกน์ขึ้นมาเอง และยิ่งเมื่อนึกถึงคำพูดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่พูดหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับของตนเองถูกคว่ำเมื่อเดือนกันยายน 2558 ว่า “เขาอยากอยู่ยาว ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร

ดังนั้น โรดแม็พเลือกตั้งของ คสช. ที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกไม่รู้กี่ครั้งจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อเป้าหมายคือเพื่อต้องการอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด เพลง “คืนความสุข” ดูเหมือนจะเป็นความสุขของคณะรัฐประหารมากกว่าความสุขของประชาชนหรือไม่? เหตุใดจึงยื้อ..ยืด..ไม่เร่งคืนประชาธิปไตย ไม่รีบคืนอำนาจให้ประชาชน

เมื่อกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ออกมาจัดกิจกรรม รวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. หยุดยื้ออำนาจและจัดการเลือกตั้งตามโรดแม็พ (27 มกราคม) และประกาศว่าจะชุมนุมทุกสัปดาห์จนกว่าจะเลือกตั้ง โดยจะแสดงพลังในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ถนนราชดำเนิน

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย ส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีแกนนำผู้ชุมนุม 7 คน 2 ข้อหาคือ 1.ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไป และ 2.กระทำการยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และตำรวจ สน.ปทุมวันได้ส่งหมายเรียกทั้ง 7 คนเพื่อให้มาพบเวลา 10.00 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์คือ 1.นายรังสิมันต์ โรม 2.นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3.น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา 4.นายอานนท์ นำภา 5.นายเอกชัย หงส์กังวาน 6.นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ และ 7.นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

นายรังสิมันต์ยืนยันว่า จะเคลื่อนไหวคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ต่อไป เพราะผลร้ายที่เกิดขึ้นจะตกกับคนรุ่นหลังที่เปรียบเหมือนการล็อกผลบอลที่รู้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจต่อไป สิ่งที่ต้องการคือให้ประชาชนตัดสินใจอย่างเสรีและเป็นธรรม (ฟรีและแฟร์)

นายอานนท์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คว่า เผด็จการทหารแจ้งความจับคนเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยข้อหาว่าขัดคำสั่งเผด็จการทหาร ตลกดี คนพวกนี้นอกจากจะไม่อายแล้วยังสับสนหลงยุคอีก

น.ส.ณัฎฐาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊คว่า ยังไม่ได้ยุให้ใครทำอะไรเลย แค่ยุให้ คสช. ทำตามสัญญาและหยุดละเมิดสิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ วิธีง่ายที่สุดที่จะปิดปากเราคือ กลับมาประกาศการเลือกตั้งพฤศจิกายน 2561 ตามที่ไปบอกชาวโลกไว้ และหยุดสืบทอดอำนาจง่ายกว่าเยอะ

ขณะที่นายสมบัติได้กล่าวผ่านเฟซบุ๊คว่า ในมุมมองของพลเมือง การใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติแต่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. นับว่าเป็นเกียรติยศ การปิดปากประชาชนต่างหากคือการกระทำที่อัปยศ

กองทัพเสียเกียรติภูมิ

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์เฟซบุ๊คเสนอทางออกให้ คสช. โดยเตือนว่า ยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจการบริหารทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งคณะรัฐประหารเองและเกียรติภูมิของกองทัพในภาพรวม เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 หรือ 14 ตุลาคม 2516 จึงเสนอแนะทางออก 4 ทางคือ

1.หัวหน้าคณะรัฐประหารควรประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง และประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน สำหรับบทบาทของรัฐบาลของคณะรัฐประหารก็ประกาศให้ชัดว่าจะมุ่งทำหน้าที่ในการดูแลความสงบมั่นคงของบ้านเมือง และเตรียมการเลือกตั้งให้ราบรื่นลุล่วงไป

2.เร่งรัดให้ สนช. ออกกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. และดำเนินการให้เนื้อหากฎหมายไม่สร้างปัญหาที่ทำให้การเลือกตั้งต้องยืดเยื้อออกไป

3.ไม่จัดตั้งพรรคนอมินีหรือสนับสนุนพรรคการเมืองใดทั้งในที่ลับและที่แจ้ง พร้อมกับแสดงจุดยืนความเป็นกลางทางการเมืองในฐานะผู้พิทักษ์มากกว่าในฐานะที่เป็นผู้เล่นหรือผู้เข้าไปแทรกแซง และใช้กลไกอำนาจรัฐสร้างเงื่อนไขให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม

4.การคัดเลือก ส.ว. ควรคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ในการทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและความกล้าหาญทางจริยธรรม และมีความหลากหลายด้านอาชีพ ศาสนา อายุ ภูมิภาค ชาติพันธุ์ และเพศสภาพ

ยิ่งเลื่อนยิ่งเสื่อม ยิ่งอุ้มยิ่งพัง

การเลื่อนโรดแม็พเลือกตั้งที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในครั้งนี้ไม่ใช่มีแค่นักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชนในประเทศที่ประณามต่างๆนานาเท่านั้น แม้แต่สหรัฐและสหภาพยุโรปก็เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เลือกตั้งตามสัญญาและคืนสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ถามว่า “เลือกเอาว่าท่านจะเอาแบบผมหรือจะอยากกลับไปที่เดิม” จึงเหมือนระเบิดเวลาที่ถึงจุดเกิดปฏิกิริยาจากหลายฝ่ายตีกลับทันทีว่าไม่เอาทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. สะท้อนได้จากโพลสำนักต่างๆที่สำรวจความเห็นของประชาชนที่ระบุชัดเจนถึงความเสื่อมถอยและเบื่อหน่ายทั้งการแก้ปัญหาบ้านเมืองและพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันที่นอกจากจะไม่แก้ไขแล้วยังตรวจสอบไม่ได้เสียอีก

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะขู่ให้กลัวว่าบ้านเมืองจะกลับไปเหมือน 4 ปีที่ผ่านมาก็ตาม วันนี้ประชาชนต่างสีที่แม้จะมีความเห็นทางการเมืองต่างกัน แต่ถ้าได้ตั้งสติก็จะเกิดอาการที่เรียกว่า “ตาสว่าง” แม้จะยังกระดากใจที่เป็นคนเปิดช่องเรียกทหารเข้ามายึดอำนาจเอง แต่เมื่อรู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังว่าม็อบกลุ่มต่างๆมีจุดประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร ก็เริ่มตระหนักในใจอย่างแน่นอนว่า แม้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเลวดีอย่างไร ประชาชนก็ยังตรวจสอบได้ ไล่ได้ วิจารณ์ได้ ผิดกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่แต่ละตำแหน่งมีอำนาจ แม้แต่สมาชิกในสภาที่มาจากการรัฐประหารก็ล้วนแต่แต่งตั้งมาจากการยึดอำนาจ ซึ่งประชาชนตรวจสอบอะไรแทบไม่ได้เลย แถมยังอาจถูกอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ข่มขู่คุกคามและจับกุมคุมขังอีกหากจะเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบรัฐบาล

สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. วันนี้แตกต่างสิ้นเชิงกับ 4 ปีที่ผ่านมา คะแนนนิยมที่เคยมีมากมาย วันนี้ก็หดหายลงเรื่อยๆ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เองก็ยอมรับ ขนาด ป๋าเปรม ยังเตือนว่าใช้ กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว

โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชันที่มีข่าวฉาวอย่างต่อเนื่องทั้งคนใกล้ชิดและการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพ จนมาถึงกรณี “นาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ ลดราวาศอก ในการเสนอข่าว และมองว่า “เป็นแค่เรื่องส่วนตัว” ก็ยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกสีว่า เลือกปฏิบัติและเตือนว่า ยิ่งอุ้มก็ยิ่งพัง แม้แต่สื่อพวกเดียวกันยังออกมาพาดหัวว่า กอดศพ

เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและให้ยุบทิ้งหลังแถลงว่าหาก เพื่อนให้ยืมนาฬิกา หรือ ยืมนาฬิกาเพื่อน มาใส่ก็ไม่มีความผิดและไม่ต้องแจ้งรายการบัญชีทรัพย์สิน

กรณี “นาฬิกาหรู” จึงไม่จบง่ายๆ ยิ่งเกิดกรณี ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ที่ประกาศลาออกหลังถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยระงับการเผยแพร่ผลสำรวจเกี่ยวกับการยืมนาฬิกา ออกมากล่าวว่า “เป็นการแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งต้องทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอย่างซื่อสัตย์และกล้าหาญ ผมจะไม่มีวันทรยศต่อประชาชนและความถูกต้อง

ดร.อานนท์ยืนยันว่า ยังสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลอยู่ แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมก็ไม่จำเป็นต้องเลียท็อปบู๊ต ซึ่งต่อมา รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันนิด้า ร่วมกับ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ ได้ร่วมกันแถลงโดยระบุว่า ที่ต้องระงับการเผยแพร่ผลสำรวจดังกล่าวเพราะเห็นว่าอยู่ระหว่างผลการสอบสวนของ ป.ป.ช. จึงไม่อยากให้ประชาชนต้องตัดสินคนจากผลโพลที่ยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าผลของ ป.ป.ช. ออกมาชี้แจงว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายผิดก็สามารถทำโพลได้

อย่างไรก็ตาม ดร.อานนท์ได้ออกมาแถลงตอบโต้ว่า ยอมรับไม่ได้กับการเซ็นเซอร์ตัวเองของมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ชี้นำสังคม การทำโพลก็เป็นการสะท้อนความคิดเห็นเวลาขณะนั้น ทั้งโพล “นาฬิกาหรู” ก็ไม่ได้เป็นการชี้นำแต่อย่างใด ไม่แตกต่างจากการทำโพลกรณีการเมืองอื่นๆ เช่น อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประเด็นทุจริตรับจำนำข้าวที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จึงรับไม่ได้กับการเลือกปฏิบัติเช่นนี้

“การทำโพลการเมืองก็ไม่มีความแตกต่างกันเลย จึงไม่เห็นเหตุผลใดๆที่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องเลวร้ายยิ่งกว่าการปิดโทรทัศน์ แท่นพิมพ์ หรือมหาวิทยาลัยเสียอีก เพราะหากปิดก็ยังเปิดใหม่ได้ เพราะมีจิตวิญญาณที่จะพูดความจริง รักษาสิ่งที่ถูกต้อง สร้างปัญญาให้แก่สังคม แต่การเซ็นเซอร์ตัวเองเท่ากับไม่มีแล้ว ทั้งที่นิด้ามีปรัชญาคือสร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Wisdom for change)

ส่วนคำถาม “นาฬิกาหรู” ในการสำรวจความเห็นประชาชนมีเพียง 4 คำถามและมีคำตอบดังนี้

1.เพื่อนสนิทเคยให้ยืมนาฬิกาหรูหรือไม่ ซึ่งผลสำรวจร้อยละ 90 บอกว่า ไม่เคย

2.ผู้ถือครองนาฬิกาบอกว่าเพื่อนให้ยืมมา คิดว่าพูดจริงหรือไม่ คำตอบส่วนใหญ่คือ ไม่เชื่อ

3.คิดว่าคนที่พูดโกหกมีแนวโน้มการทุจริตหรือไม่ คำตอบส่วนใหญ่คือ ใช่

4.รับได้หรือไม่ที่รุ่นน้องช่วยรุ่นพี่ปกปิดเรื่องดังกล่าว คำตอบคือ รับไม่ได้

ยืด…ได้อีก

ปฏิกิริยา เราจะ(ไม่)ทำตามสัญญา ยืดทุกอย่างได้เรื่อยๆ และกรณี ยืมเพื่อนไม่ผิด เป็นดัชนีชี้วัด “ทั่นผู้นำ” และ คสช. ว่าอยู่ในภาวะ ขาลง ที่เสื่อมถอยอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดคิด เพราะก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะทำผิดพลาดอย่างไรหรือแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ก็ยังมี “กองหนุน” ที่ประกาศสนับสนุน โดยเฉพาะ “ทั่นผู้นำ” ที่เดินสายไปทั่วทุกภาคและออกมาตรการประชารัฐจนมั่นใจว่าเป็น “ขวัญใจชาวบ้าน เป็นความหวังของชาวบ้าน แต่สถานการณ์วันนี้กลับเหมือน หน้ามือเป็นหลังเท้า แม้ “ทั่นผู้นำ” จะยังมีอำนาจครอบจักรวาลและกองทัพยังสนับสนุนเต็มที่ แต่หากไม่รักษาสัจจะคำพูด แล้วยังละเลยความถูกต้องยุติธรรมอีก โดยเฉพาะการทุจริตฉ้อฉลของคนใกล้ชิด ความศรัทธาและความเชื่อถือของประชาชนก็มีแต่จะเสื่อมถอย

พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ (30 มกราคม) ถึงกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเเละกลุ่ม “We Walk เดินมิตรภาพ” ว่ามีมาตรการอย่างไรว่า ไม่เป็นไร ผมจะเตรียมเอง คุณต้องการความสงบหรือเปล่า เป็นเรื่องความมั่นคง และเมื่อถูกถามว่าทางกลุ่มนัดจะเคลื่อนไหวทุกวันเสาร์จะทำอย่างไร พล.อ.ประวิตรตอบว่า สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายทุกอย่างและคำสั่งของ คสช. ก็ตอนนี้เราเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะเอาอะไร

การ “ยืด…ได้อีก” ทั้งโรดแม็พและวันเลือกตั้งโดยเทคนิค “ยืดเวลาทางข้อกฎหมาย” ผ่าน สนช. ไปอีกอย่างน้อย 90 วัน การขู่เตือนป้องปรามประชาชนให้รู้ว่ารัฐบาลและ คสช. เป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ที่มาจากการยึดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงยังมีมาตรา 44 ที่จะทำอะไรก็ทำได้ เพราะถือว่าเป็นกฎหมาย ท่ามกลางกระแสสังคมที่ยังข้องใจเรื่อง “นาฬิกาหรูที่ยืมเพื่อนมา แต่เพื่อนตายไปแล้ว” รวมถึงการสาดน้ำมันเข้ากองไฟที่จะเอาผิดคนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องอย่างสันติอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยทุกวันเสาร์ จะเป็นชนวนให้ “จุดติด” และเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไร หรือจะก่อปฏิกิริยาในทางบวกหรือลบในสังคมไทยหรือไม่? อาจได้เห็นกันเร็วกว่าที่คิด

พล.อ.ประวิตรฟันธงว่า ก็มีกลุ่มเดียวที่เห็นนี่แหละ ส่วนจะลุกลามหรือไม่ ผมไม่ได้พูด มีแต่คุณที่พูดเอง มีกลุ่มเดียว จะไปได้แค่ไหนก็แค่นั้น

ถ้าเป็นกลุ่มเดียวสีเดียวที่ถูกกระทำย่ำยีฝ่ายเดียวมาโดยตลอดก็อาจพอจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าคราวนี้เป็น กลุ่มเดียวแต่หลายสีหรือไม่มีสีทุกอย่างคงเปลี่ยนไป

แว่ววลี “เตะหมูเข้าปากหมา” และ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” …กำลังลอยมาอีกคำรบ!!?


You must be logged in to post a comment Login