วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แม่โขง จี้นายกฯปราบฝูงเหลือบ ขสมก. สอบโกง”Cash box”อย่าสองมาตราฐาน

On February 5, 2018

ขสมก.ฉาวไม่เลิก ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก หลังจากนายวัชร เพชรทอง อดีตกรุงเทพฯ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแฉเส้นทางทุจริต ขสมก.กรณีลงนามสัญญาฉาวจัดซื้อรถโดยสาร NGV.489 คัน 4,221 ล้านบาทที่ถือว่าแพงอย่างไร้สติ ไร้เหตุผล และกรณี ขสมก.ทำสัญญาเช่าเครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัตหรือระบบ อี-ทิคเก็ตและเครื่องหยอดเหรียญ(cash Box) มูลค่า 1,600 กว่าล้านบาท แต่ไม่สามารถใช้งานได้ แถมมีเอกชนรายเดียวกันเป็นคู่สัญญาทั้ง 2 โครงการฯ ภายหลังนายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.ร่อนหนังสือชี้แจงสื่อมวลชนแต่ดูเหมือน ยิ่งแก้ตัวก็ยิ่งยุ่งเหมือนลิงแก้แห ล่าสุดบริษัทแม่โขง บุก สตง.ร้องเรียนพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกฯ กวาดล้างฝูงเหลือบเกาะกิน ขสมก.ให้สิ้นซาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ ( 5ก.พ.)นายสุรดิษ  สีดามาตย์  กรรมการผู้จัดการบริษัท แม่โขงเทคโนโลยี่ จำกั เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกรณีพบพฤติกรรมส่อไปในทางมิชอบของหน่วยงานภาครัฐได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีต่อโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็คทรอนิคส์พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งทำสัญญาร่วมกับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) นายสุรดิษ เปิดเผยว่ากรณี ขสมก.ลงนามในสัญญาเช่าโครงการดังกล่าวร่วมกับ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) โดยมีมูลค่า 1,665 ล้านบาท จำนวนรถที่ติดตั้ง 2,600 คันกำหนดระยะเวลาการส่งมอบติดตั้งระบบ 100 คัน ระยะเวลา 120 วัน 700 คัน ระยะเวลา 180 วัน และ 1,800 คัน ระยะเวลา 360 วันถ้านับจากวันลงนามการส่งมอบได้ครบกำหนดตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญาแล้ว แต่จากข้อมูลข่าวสารเป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถส่งมอบได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาคือจำนวน 100 คันใน 120 วัน และ 700 คัน ในระยะเวลา 180 วัน เนื่องจากสาเหตุจากความบกพร่องของเครื่องนับเหรียญ หรือ Cash Box ไม่สามารถทำงานได้ตรงตามคุณสมบัติที่ ขสมก ได้กำหนดไว้ใน TOR ข้อ 4.5 คือ “ความเร็วในการนับเหรียญประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า 5 เหรียญต่อวินาที” นอกจากนี้ในส่วนของ e-Ticket  ยังพบว่าการสแกนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบประมวลมีความล่าช้า ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีต่อคน หากคณะกรรมการตรวจรับของ ขสมก.ตรวจรับจริง ตนในฐานะประชาชนจะพาผู้สื่อข่าว พิสูจน์เครื่องดังกล่าวบนรถเมล์ด้วยตัวเอง”S__241410052

นายสุรดิษ เผยอีกว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก.ได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าได้สั่งยุติการติดตั้งเครื่องดังกล่าวบนรถเมล์ 1,800 คันแล้ว ในส่วนของ 800 คันที่ได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้วนั้นจะเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา และกล่าวเพิ่มเติมว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะพัฒนาไปข้างหน้าเป็นระบบ e-Ticketและบัตรแมงมุม จะไม่มีการใช้เงินสด ซึ่งประชาชนจะมีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กรณีนี้บริษัทจึงตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลได้มีแนวคิดในการใช้ระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปลายปี 2558 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนที่ ขสมก. จะมีการประมูลและลงนามในสัญญาโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็คทรอนิคส์พร้อมอุปกรณ์ในปี 2560 ในเมื่อ ขสมก เองทราบว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าอยู่แล้ว เหตุใดจึงจะต้องเปิดการประมูลให้บริษัทเอกชนเข้ามาติดตั้ง cash box ซึ่ง ขสมก. มองว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย สร้างความเสียหายกับงบประมาณของประเทศชาติ ทั้งนี้เมื่อ ขสมก ได้จัดให้มีการประมูลและลงนามในสัญญาให้เกิดขึ้นแล้ว แสดงให้เห็นว่าการประมูลในครั้งนี้ได้ผ่านการไตร่ตรองและอนุมัติจากผู้บริหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในเวลาต่อมาเมื่อบริษัทเอกชนไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ขสมก. กลับแก้ตัวแทนบริษัทเอกชนด้วยการกล่าวอ้างว่าเป็นความบกพร่องของ ขสมก ที่มีการนำเทคโนโลยีที่ไม่ทันสมัยมาติดตั้ง และจะดำเนินการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา การกระทำเช่นนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนโดยที่สร้างความเสียหายให้กับภาครัฐหรือไม่?

นอกจากนี้หากมีการพิจารณาแก้ไขสัญญาจากจำนวนรถที่ติดตั้งระบบ Cash box จาก 2,600 คัน เหลือ 800 คัน บริษัทฯจึงตั้งข้อสงสัยว่ารายละเอียดที่ได้ถูกระบุไว้ใน TOR นั้นเขียนชัดเจนตามวัตถุประสงค์ข้อ 2.1 ว่า “เพื่อจัดหาและติดตั้งระบบ e-Ticket และเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) ในรถโดยสารประจำทางของ ขสมก จำนวน 2,600 คัน…”  ดังนั้นหากมีการลดจำนวนการติดตั้ง Cash box จาก 2,600 คัน เหลือเพียง 800 คัน จะสร้างความเสียหายให้ภาครัฐและประชาชน ทำให้รถเมล์ที่ติดตั้งระบบ Cash box ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนหายไปถึง 1,800 คัน ระบบ Cash box ดังกล่าว ถึงแม้ว่า ขสมก มองว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย หากแต่ในประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ สิงคโปร์ ก็ยังคงใช้ระบบดังกล่าวอยู่เช่นกัน เนื่องจากระบบดังกล่าวนั้นเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนทั่วๆไป ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีบัตรสวัสดิการฯหรือแม้กระทั่งบัตรอื่นๆที่ใช้สำหรับการโดยสารรถเมล์ ขสมก ซึ่งจะต้องเป็นระบบการสำรองจ่ายเงินล่วงหน้า ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะละเลยประชาชนผู้ที่ไม่มีบัตรดังที่กล่าวมา บริษัทฯจึงตั้งข้อสงสัยว่า

“เหตุใด ขสมก. จึงมีความจำเป็นจะต้องเจรจาต่อรองกับบริษัทเอกชนเพื่อแก้ไขสัญญาแทนที่จะลงโทษตามมาตรการเนื่องจากปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจาก ขสมก. เลยแม้แต่น้อย และ ขสมก. เองก็มีสิทธิ์ในการบอกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดในสัญญาอยู่แล้ว โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ขสมก ได้มีการบอกเลิกสัญญากับบริษัทเอกชนรายหนึ่งในโครงการจัดซื้อรถยนต์โดยสารฯ 489 คัน ด้วยเหตุผลที่คล้ายกันมาก่อน คือ ไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด แต่ในกรณีนี้ ขสมก. กลับเลี่ยงในการบอกเลิกสัญญาด้วยการแก้ไขสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน การกระทำเช่นนี้ถือว่าปราศจากความยุติธรรม สองมาตรฐาน”

นายสุรดิษ กล่าวต่อไปว่า มากไปกว่านี้ เนื่องจากมูลค่าของโครงการ 1,665 ล้านบาทนั้นได้คำนวณมาจากจำนวนรถทั้งหมด 2,600 คัน หากมีการเจรจายกเลิกในบางส่วน การคิดมูลค่าโครงการจะเหลือเท่าใด ใช้วิธีคิดแบบใด และหากมีการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของโครงการในภายหลัง จะทำให้เกิดข้อครหาและเป็นการไม่ยุติธรรมกับผู้เข้าประมูลที่ไม่ชนะในโครงการดังกล่าวหรือไม่ กล่าวคือถ้ามูลค่าหรือจำนวนรถที่ติดตั้งมีจำนวน 800 คันตั้งแต่แรก อาจทำให้มีเอกชนรายอื่นเข้ามาประมูลมากขึ้นและมีโอกาสชนะการประมูลเหนือบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ก็เป็นได้ การกระทำเช่นนี้จึงถือได้ว่าเป็นการประพฤติที่มิชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน

ต่อมา ขสมก. ได้กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหากรณีที่ บริษัท ช ทวี ไม่สามารถติดตั้งระบบ e-ticket ได้ทันกำหนดเวลา โดยจะเปลี่ยนไปใช้คูปองมอบให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการของภาครัฐและเก็บต้นขั้วไว้เป็นหลักฐาน และมูลค่าเงินในบัตรจะไม่ถูกหักชำระค่าโดยสาร แต่จะนำไปเรียกเก็บเงินกับ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นค่าปรับ ซึ่งจะดำเนินการบันทึกข้อมูลจำนวนการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของรถโดยสารคันนั้นๆในแต่ละวัน และส่งให้กับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) รับทราบ กรณีนี้บริษัทตั้งข้อสังเกตว่า ขสมก. สามารถใช้คูปองเพื่อรองรับการเก็บค่าโดยสารดังกล่าวได้หรือไม่ มีระเบียบใดมารองรับการปฏิบัติเช่นนี้

นานสุรดิษ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลที่ทราบ ขสมก. ได้ดำเนินการบันทึกข้อมูลจำนวนการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  โดยเฉลี่ยวันละ 23,000-24,000 คนต่อวัน แต่จากข้อเท็จจริงที่ ขสมก เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนนั้นอัตราผู้ใช้บริการรถเมล์ฟรีเพื่อรองรับผู้มีรายได้น้อยเฉลี่ยมีมากถึง 600,000 คนต่อวันซึ่ง บริษัทฯเห็นว่าจากผู้โดยสาร 600,000 คน ไม่น่าจะมีผู้ที่ใช้สิทธิจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อรองรับผู้มีรายได้น้อยเพียงแค่ 24,000 คนหากข้อมูลที่ ขสมก บันทึกนั้นไม่ถูกต้องแน่นอนว่าย่อมทำให้ ขสมก.ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก? ขอวิงวอนถึงพลเอกประยุทธ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีว่า นโยบายปราบทุจริตปราบคนโกงที่ท่านตอกย้ำประชาชนอยู่ทุกวันจะไม่มีทางเป็นจริงได้ หากท่านไม่กวาดล้างฝูงเหลือบที่เกาะกิน ขสมก.อยู่ในขณะนี้ให้สิ้นซาก  การเอื้อประโยชน์ให้เอกชนแบบนี้เข้าข่าย ทุจริตเชิงนโยบายและต้องมีคนติดคุกหรือไม่? กรรมการบริษัทแม่โขงฯกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 


You must be logged in to post a comment Login