วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วิกฤตถุงน่อง / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On February 12, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

ถุงน่องเป็นเครื่องแต่งกายที่จำเป็นสำหรับสาวๆมานานหลายร้อยปี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจำกัดการใช้ทรัพยากรทำให้ถุงน่องขาดตลาด ส่งผลให้เกิดแฟชั่นระบายสีขาเพื่อหลอกสายตาว่าสวมถุงน่อง

ถุงน่องมีประวัติยาวนานย้อนไปไกลถึงศตวรรษที่ 15 แรกเริ่มเดิมทีนั้นใช้สวมใส่เพื่อให้ช่วงขาอบอุ่น จุดประสงค์การสวมถุงน่องเปลี่ยนไปเมื่อราวทศวรรษ 1920 สาวๆนิยมสวมถุงน่องทอจากผ้าไหมเพื่อให้ช่วงขาดูเนียนเรียบ และกลายเป็นอาภรณ์จำเป็นชิ้นหนึ่งที่ต้องสวมใส่ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง

ต่อมาในปี 1939 บริษัทดูปองท์นำเส้นใยไนลอนมาผลิตถุงน่อง โดยโฆษณาว่าถุงน่องไนลอนมีความบางเบาแต่ทนทานดุจดังเส้นใยโลหะ อีกทั้งมีความยืดหยุ่นดีกว่าใยไหม แม้ว่าถุงน่องไนลอนรุ่นแรกจะมีราคาสูงพอๆกับถุงน่องที่ทอจากใยไหม แต่คุณสมบัติความทนทานดุจดังเส้นใยโลหะ คงสภาพไม่หดไม่ยืด และปลอดจากแมลงกินผ้า ทำให้สาวๆคลั่งไคล้อยากได้ถุงน่องไนลอนมาเชยชม

วันที่ 15 พฤษภาคม 1940 ถุงน่องไนลอนล็อตแรกวางจำหน่ายในราคาคู่ละ 1.25 ดอลลาร์ ถูกขายไปมากถึง 750,000 คู่ภายในวันเดียวเท่านั้น และขายไปเป็น 4 ล้านคู่ในวันที่สอง เมื่อถึงสิ้นปีถุงน่องไนลอนถูกขายไปมากกว่า 64 ล้านคู่เลยทีเดียว อนาคตถุงน่องไนลอนกำลังสดใสแต่ต้องมาหยุดชะงักกะทันหันเพราะเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน อเมริกาอยู่ระหว่างตัดสินใจเข้าร่วมสงคราม

ปันส่วนทรัพยากร

อเมริกานำเข้าผ้าไหมจากประเทศญี่ปุ่น ผ้าไหมเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกกองทัพนำไปตัดเย็บทำเป็นร่มชูชีพและถุงใส่ดินปืนเรือรบ เพราะถุงผ้าไหมจะมอดไหม้จนหมดหลังจากยิงกระสุนปืน ไม่มีเศษซากตกค้างที่อาจทำให้มีผลกระทบกับการยิงกระสุนนัดถัดไป

หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ระงับการส่งออกทำให้เกิดการขาดแคลนผ้าไหม กองทัพอเมริกาจำเป็นต้องมองหาวัตถุดิบชนิดอื่นทดแทน และดูเหมือนว่าไนลอนจะเป็นทางเลือกที่ดี

ปี 1941 รัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายปันส่วนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าเพื่อนำวัตถุดิบเหล่านั้นไปใช้ในกิจการสงคราม ทางด้านอเมริกาแม้จะยังไม่ได้เข้าร่วมสงครามในตอนนั้นแต่ก็ไม่ประมาท วันที่ 2 สิงหาคม 1941 รัฐบาลอเมริกาออกกฎหมายปันส่วนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าเช่นเดียวกัน

ซึ่งนั่นหมายถึงถุงน่องไนลอนเป็นสินค้าควบคุม สามารถซื้อได้ไม่เกิน 2 คู่ต่อคน การมีสินค้าจำนวนจำกัดทำให้ราคาถุงน่องไนลอนถีบตัวขึ้นไปเป็น 10 ดอลลาร์ต่อคู่ เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อญี่ปุ่นส่งกองทัพบุกโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ส่งผลให้อเมริกาเข้าร่วมสงครามอย่างเต็มตัว

ประหยัดมัธยัสถ์

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1942 รัฐบาลอเมริกาออกคำสั่งให้บริษัทดูปองท์ผลิตผ้าไนลอนส่งให้กับกองทัพเพื่อใช้ในกิจการทางทหาร เท่ากับว่าผ้าไนลอนทั้งหมดที่ผลิตออกมาจะถูกส่งให้กับกองทัพ ไม่เหลือให้นำมาผลิตเป็นถุงน่อง

รัฐบาลรู้ดีว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อจิตใจสาวๆเพียงใด จึงออกแคมเปญรณรงค์ Make Do and Mend ปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนประหยัดมัธยัสถ์ ใช้ของเท่าที่มีในช่วงสงคราม นอกจากนี้ยังรณรงค์ขอรับบริจาคถุงน่องไนลอนเพื่อให้กองทัพนำไปแปรรูปใช้ในกิจการทางทหาร

เมื่อไม่มีถุงน่องวางขาย สาวๆก็จำเป็นต้องใช้ถุงน่องที่มีอยู่อย่างระมัดระวัง ส่วนใหญ่เก็บไว้สวมใส่เฉพาะเวลาออกงานสำคัญๆเท่านั้น บางคนก็เลี่ยงไปสวมกางเกงขายาวแทนกระโปรง โชคดีที่ช่วงเวลานั้นแฟชั่นกางเกงขายาวเริ่มเป็นที่นิยมบ้างแล้ว

สำหรับหญิงสาวที่หลีกเลี่ยงการนุ่งกระโปรงไม่ได้และรู้สึกโหวงเหวงถ้าไม่ได้สวมถุงน่อง สาวๆชาวอังกฤษแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้น้ำชาระบายลงบนขาให้ดูคล้ายกับสวมถุงน่อง ซึ่งดูเหมือนจะใช้ได้ดีพอสมควรหากพวกเธอไม่เผลอนั่งไขว่ห้างหรือเกิดฝนตกขึ้นมา

ถุงน่องเหลว

บริษัทผลิตเครื่องสำอางปิ๊งไอเดียนี้ทันที ผลิตถุงน่องเหลวออกวางจำหน่าย เช่น แม็กซ์แฟคเตอร์ใช้ชื่อสินค้า Liquid Stockings รับประกันคุณภาพว่าสีติดคงทนนาน 3 วันหากไม่อาบน้ำ และแนะนำว่าควรใช้ดินสอเขียนคิ้วลากเส้นที่น่องเพื่อสร้างภาพลวงตาว่าเป็นตะเข็บถุงน่อง

ก่อนระบายถุงน่องเหลวลงบนขาต้องโกนขนหน้าแข้งให้เรียบหมดจดล่วงหน้า 1 วันเสียก่อน อาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อย หากขัดขาด้วยก็จะดีมาก ทาโลชั่นบำรุงผิวด้วยก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก รอจนโลชั่นแห้งแล้วใช้ผ้าสะอาดลูบไล้เบาๆ การระบายถุงน่องเหลวลงบนขาไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความชำนาญ ไม่เช่นนั้นสีอาจไม่เรียบเกิดเป็นริ้วรอย

ยอดขายถุงน่องเหลวในช่วงแรกๆไม่ค่อยดีนัก แต่หลังจากที่มีการปรับปรุงคุณภาพและเทคนิค ประกอบกับความสิ้นหวังที่จะมีถุงน่องจริงวางจำหน่าย ยอดขายถุงน่องเหลวก็กระเตื้องขึ้น แต่ก็ยังไม่มากเท่าที่ผู้ผลิตคาดหวังเอาไว้

ปัญหาส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์แห้งเร็วเกินไป ยากต่อการเกลี่ยน้ำยาให้เท่ากันในเวลาจำกัด บางยี่ห้อก็มีปัญหาเม็ดสีแตกตัวจากน้ำยา แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือใช้เวลานานในการเตรียมการและระบายลงบนขา อีกทั้งยังล้างออกยาก

จลาจลถุงน่อง

หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในปี 1945 บริษัทดูปองท์ก็ผลิตถุงน่องไนลอนออกจำหน่ายโดยทันที ส่งผลให้ตลาดถุงน่องเหลวม้วยมรณาไปก่อนที่จะทันได้รุ่ง แม้ว่าจะล้มเหลวแต่ก็ไม่ทั้งหมดเสียทีเดียว ผลิตภัณฑ์ถูกพัฒนามาเป็นครีมเปลี่ยนสีผิวเป็นสีแทน และครีมรองพื้นก่อนแต่งหน้า

ช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 1945-มีนาคม 1946 เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Nylon Riots สาวๆกรูเข้าห้างแย่งกันซื้อถุงน่องไนลอนเหมือนตายอดตายอยากมานาน สาวๆนิวยอร์กกว่า 30,000 คนออกันหน้าห้างสรรพสินค้าเพื่อรอซื้อถุงน่องไนลอน สาวๆพิตต์สเบิร์กกว่า 40,000 คนแย่งชิงถุงน่องที่มีจำหน่ายเพียง 13,000 คู่จนเกิดเป็นจลาจลย่อยๆ หนังสือพิมพ์รายงานข่าวว่ามีการจิกกัดตบตีแย่งชิงถุงน่อง

การขาดแคลนถุงน่องยุติลงในเดือนมีนาคม 1946 เมื่อดูปองท์สามารถผลิตถุงน่องส่งกระจายไปทั่วประเทศได้ตามจำนวนความต้องการของผู้บริโภค เหตุการณ์จลาจลถุงน่องส่งผลให้มีคนตั้งข้อสงสัยว่าดูปองท์ตั้งใจหน่วงเหนี่ยวกำลังการผลิตเพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาด

ดูปองท์ถูกกล่าวหาว่าทำธุรกิจผูกขาด เนื่องจากเป็นผู้ผลิตถุงน่องไนลอนเพียงรายเดียว ส่งผลให้ในเวลาต่อมาดูปองท์ต้องยอมให้บริษัทอื่นๆผลิตถุงน่องไนลอนออกมาแข่งขัน ในที่สุดสาวๆก็สามารถซื้อหาถุงน่องไนลอนได้มากเท่าที่ต้องการ


You must be logged in to post a comment Login