- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 4 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 7 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เรือนนี้.. ไม่ต้องยืมเพื่อน / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
การจัดกิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง” ที่บริเวณสกายวอล์ค หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตรงข้ามห้าง MBK เพื่อเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงจากอำนาจและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกผู้อยู่ในพื้นที่จำนวน 39 คน ซึ่งมีทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ นักข่าว และนักศึกษา จึงเป็นที่มาของชื่อกลุ่ม “MBK39” โดยถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนโดยไม่ได้รับอนุญาต หลายคนถูกตั้งข้อหามีความผิดยุยงปลุกปั่นตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมาตรา 7 ชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน 150 เมตร
นอกจากนี้กลุ่ม “ฟื้นฟูประชาธิปไตย” ยังประกาศว่าจะไปชุมนุมกันอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ เวลา 16.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อำนาจคือกฎหมาย
ข้อหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกในยุค คสช. แต่ที่ไม่ปรกติคือ หลังจากผู้ถูกหมายเรียกบางส่วนเดินทางมาตามนัดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับบอกว่าจะฝากขังเลยและไม่ให้ประกัน ทางทนายความจึงทำหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัว เพราะหมายเรียกกระชั้นชิด ทำให้เตรียมหาหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวไม่ทัน ปรากฏว่านอกจากไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารับหนังสือแล้ว ยังจะออกหมายเรียกรอบสองอีกด้วย ซึ่ง “โบว์” น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน หนึ่งใน MBK39 ได้ตั้งคำถามว่าเป็นการอ้างเพื่อจะออกหมายจับหรือไม่
นอกจากนี้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ “โบว์ ณัฏฐา” ได้ประกาศระดมทุนเงินประกันตัว MBK39 ซึ่งเดิมวางแผนไปดื่มกาแฟและจองห้องที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพื่อแถลงข่าว แต่ตำรวจ สน.ลุมพินีเรียกผู้บริหารสมาคมไปพูดคุยจนตัดสินใจไม่ให้ใช้สถานที่ ทำให้ต้องแถลงข่าวที่ลานจอดรถ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกครั้งที่สองบางคน โดยเพิ่มข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
“โบว์ ณัฏฐา” กล่าวว่า การห้ามแถลงข่าวสะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจของ คสช. ละเมิดสื่ออย่างชัดเจน ซึ่ง “โบว์ ณัฏฐา” เป็นสมาชิกของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศด้วย ส่วนการระดมทุนครั้งนี้เพราะ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกผ่านสื่อว่า ตั้งใจจะฝากขังแน่ๆ ซึ่งผิดหลักการกฎหมาย เพราะกฎหมายทั่วโลกนั้นผู้ต้องหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วจะตั้งข้อสันนิษฐานว่าจะหนีได้อย่างไรเมื่อไปรอรายงานตัวมาแล้ว กลุ่ม “MBK 39” จึงกังวลเรื่องการคัดค้านการประกันตัว เพราะเงินประกันตัวโดยรวมสูงกว่า 2 ล้านบาท
ขณะที่เพจเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ประกาศระดมนักวิชาการและระดมเงินเพื่อประกันตัว “MBK 39” เพื่อแสดงให้เห็นว่านักวิชาการพร้อมยืนเคียงประชาชนในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองและหลักสิทธิมนุษยชน
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ “โบว์ ณัฏฐา” เดินทางไปยื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อร้องเรียนให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็น 1.เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 2.สิทธิบุคคลในกระบวนการยุติธรรม (right to fair trial) และ 3.การละเมิดเสรีภาพสื่อจากเหตุการณ์ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
เอาผิดสนับสนุน We Walk
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพยังมีกรณีกลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ที่ประกอบด้วยชาวบ้านและนักศึกษาประมาณ 15 คน ทำกิจกรรมเดินมิตรภาพในพื้นที่ชุมชน ถือป้ายและอ่านแถลงการณ์ให้กำลังใจและสนับสนุนกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ของเครือข่าย People GO network พร้อมกับเรียกร้องเรื่องกฎหมายสำหรับคนจน 4 ฉบับ ได้แก่ ธนาคารที่ดิน ภาษีในอัตราก้าวหน้า สิทธิชุมชน และกองทุนยุติธรรม โดยเดินเป็นระยะทาง 500 เมตรในหมู่บ้าน
ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้แจ้งความดำเนินคดีรวม 14 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ขณะที่บางคนให้เซ็นเอกสารการทำกิจกรรมและบางคนถูกเรียกไปสอบกลางดึก ทั้งที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองกิจกรรม We Walk มิให้กระทำการใดๆที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพการชุมนุมจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เครือข่าย People GO network จึงแสดงความเสียใจต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ยานนาวา ยังเชิญตัวนายธัชพงศ์ แกดำ นักกิจกรรมจากกลุ่มศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) ที่แสดงละครใบ้เพียงคนเดียวในชื่อ “ปฏิบัติการขืนใจป้อม” ต้านโกงครั้งที่ 2 เพื่อประท้วงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ครอบครองนาฬิกาหรูและแหวนเพชรโดยไม่แจ้งแหล่งที่มาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สกายวอล์คแยกสาทร-นราธิวาส (สถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี)
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ กลุ่ม YPD 4 คน ได้แสดงศิลปะต้านโกงที่สกายวอล์ค BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใช้ชื่อการแสดงว่า “ตามใจป้อม” และถูกควบคุมตัวไปยัง สน.พญาไท มีการปรับเงิน 10,000 บาทก่อนได้รับการปล่อยตัว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ยุติการดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองทุกกรณี ทั้งเรียกร้องให้รัฐไทยเคารพการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ตลอดจนยอมรับว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่จำเป็นและต้องสามารถกระทำได้บนวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
กลุ่มหนุน “บิ๊กป้อม” แค่ปรับ3,000
การใช้คำสั่ง คสช. อย่างเข้มข้นกับผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆดูเหมือนจะแตกต่างสิ้นเชิงกับกลุ่มที่ชุมนุมสนับสนุน พล.อ.ประวิตร (1 กุมภาพันธ์) เพราะพนักงานสอบสวนแจ้งแค่ข้อหาความผิดการชุมนุมเกิน 5 คนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และชุมนุมในเขตพื้นที่ห่างไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ซึ่งมีอัตราปรับไม่เกิน 10,000 บาท โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
มีรายงานข่าว (5 กุมภาพันธ์) ว่า พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องศาลแขวงดุสิตเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ 6,000 บาท รับสารภาพเป็นประโยชน์ ลดกึ่งหนึ่งเหลือ 3,000 บาท ซึ่งการดำเนินคดีไม่มีอะไรซับซ้อน ผิดกับการดำเนินคดีกับกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามอำนาจรัฐ เช่น กลุ่ม MBK39 กลุ่ม “We Walk เดินมิตรภาพ” หรือกลุ่มต่างๆที่แสดงความเห็นอย่างสงบและสันติ
คนเดียวอยู่ไม่ได้ต้องอยู่ด้วยกันทั้งหมด
การชุมนุมสนับสนุน พล.อ.ประวิตรยิ่งทำให้เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหลังจากผลสำรวจทุกโพล ประชาชนเกือบ 100% ต้องการให้ พล.อ.ประวิตรลาออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กลับแสดงท่าทีชัดเจนระหว่างการประชุม ครม.สัญจรว่าไม่มีรัฐมนตรีคนใดต้องออก “ใครต้องออกไปออกมา มันวุ่นกันไปหมด ต้องอยู่ด้วยกัน” ทั้งกล่าวกับชาวบ้านที่ตราดว่า “อย่ารักผมคนเดียว รักรองนายกรัฐมนตรี รักรัฐมนตรี วันนี้มาทั้ง ครม. ประยุทธ์คนเดียวอยู่ไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกันทั้งหมดนี่แหละ”
ขณะที่ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง พล.อ.ประวิตรว่า “ผมไม่ได้บอกว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่ลาออก แต่บอกว่าท่านจะทำงานต่อไปอย่างมั่นคงและหนักแน่น” โดยกองทัพยังเป็นเอกภาพและมีความเป็นหนึ่งเดียวกันที่จะทำหน้าที่หลักประกันความมั่นคงของประเทศเคียงข้างประชาชน
กรณี “นาฬิกาเพื่อน” ยิ่งเป็นประเด็นร้อนขึ้นไปอีก เมื่อเฟซบุ๊ค เฮดเอค_เสต็นซิล (Headache Stencil) ศิลปินเจ้าของผลงานกราฟิตี้ “นาฬิกาเพื่อน” ที่พ่นรูปบริเวณสะพานลอยย่านสุขุมวิทรูปนาฬิกาปลุกโบราณ บนหน้าปัดเป็นรูปใบหน้า พล.อ.ประวิตร ได้โพสต์ว่า ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเฝ้าที่คอนโดฯตลอด 24 ชั่วโมง จึงเรียกร้องให้ส่งหมายเรียกตามที่อยู่บนหน้าบัตรประชาชนแล้วจะไปตามหมายเรียกพร้อมทนาย
ขณะที่ขบวนล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ มีหุ่นชายร่างใหญ่สวมเสื้อฮาวายสวมแหวนและนาฬิกามากกว่า 1 เรือน นั่งอยู่บนฐานที่มีภาพรถถังและเรือดำน้ำ สะท้อนการล้อเลียนผู้มีอำนาจอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องเอ่ยชื่อว่าเป็นใคร
“บิ๊กป้อม” อยู่ต่อดูบอลโลกสบายใจ (เกี่ยวกันตรงไหน?)
กรณี “นาฬิกาเพื่อน” ยิ่งเป็นข่าว (ฉาว) เมื่อมีการรณรงค์จากผู้ใช้นามแฝงว่า Anonymous@Thailand ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยให้ลงชื่อสนับสนุน พล.อ.ประวิตรอยู่ในตำแหน่งต่อเพื่อความมั่นคงของประเทศและฟุตบอลโลก 2018 พร้อมกับตั้งคำถามว่า 1.คสช. บริหารประเทศมา 3 ปีกว่า บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีหรือไม่?? 2.ประเด็นนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตรทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหรือไม่?? 3.ขณะนี้ พล.อ.ประวิตรได้ส่งเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนาฬิกาไปให้ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เราควรจะรอผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. ก่อนไหม? และ 4.เราอยากดูบอลโลกอย่างสบายใจเหมือนชาวโลก?
ปรากฏว่ามีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเป็นจำนวนกว่า 16,000 รายชื่ออย่างรวดเร็ว ก่อนที่ทางเว็บไซต์ change.org จะตรวจสอบและพบว่ามีการลงชื่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีหมายเลข IP เดียวกัน จึงได้ปรับลดจำนวนตัวเลขผู้สนับสนุนลงมาอยู่ที่ 250 คน โดยอ้างอิงข้อมูลตามระบบการป้องกันตรวจสอบ ส่วนตัวเลขเมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 6 กุมภาพันธ์ มีผู้สนับสนุนไม่ถึง 600 คน ต่างกันลิบลับกับการรณรงค์ว่าอยากให้ พล.อ.ประวิตรลาออกตามที่พูดหรือไม่ของ “ทิชา ณ นคร” ที่มีผู้ร่วมสนับสนุนแล้วถึง 65,913 รายชื่อ
นางทิชากล่าวถึงการรณรงค์ครั้งนี้ว่า “เราไม่ได้ไล่เพราะคุณชื่อประวิตร เราไม่ได้ไม่ต้องการคุณเพราะคุณชื่อประยุทธ์ แต่ว่าพฤติกรรมของคุณในฐานะที่เป็นผู้นำบ้านนำเมืองมันไม่ใช่ มันต้องแยกให้ออก มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มันไม่ใช่เรื่องที่คุณทำอะไรในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของบ้านหลังเล็กๆหลังหนึ่งในครอบครัวของคุณ มันไม่ใช่ประเด็นนั้น”
ถูกถาม.. ใครโหวตช่วยนาย?
นอกจากนี้เพจ CSI LA ซึ่งรณรงค์ว่าอยากให้ พล.อ.ประวิตรลาออกหรือไม่ ยังพบความผิดปรกติว่ามีคนต้องการให้ พล.อ.ประวิตรอยู่ต่อถึง 8,000 คน หรือ 53% ของผู้ออกความเห็นทั้งหมด ซึ่งเพจ CSI LA จับได้ว่าเอาเวลาราชการอย่างน้อย 3 ชั่วโมงมากดโหวต ปรับเป็นเวลาไทยน่าจะเป็นเวลา 17.00-20.00 น. จึงโพสต์ในเพจว่า
“ผู้บังคับบัญชาทหารคงจะลืมไปนะครับว่า ผมเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ ข้อมูลและระบบที่ผมสร้างขึ้นสามารถตรวจสอบได้ว่าใครกดซ้ำๆกันจาก IP เดียวกัน เวลาไหน เมื่อไร จะ…ระบบโหวตทั้งทีทำให้เนียนหน่อยสิครับ สมัยนี้เป็นสมัย Thailand 4.0 เเล้ว”
ขณะที่ พล.ท.คงชีพกล่าวถึงเฟซบุ๊คเพจ CSI LA ที่โพสต์บุคคลที่อ้างถึงทหารว่า ไม่รู้ว่าเฟซบุ๊คเพจ CSI LA เป็นใคร และไม่รู้ว่าเจตนาที่บริสุทธิ์คืออะไร การกล่าวหาว่าทหารโกงผลโหวต ตนยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมไม่มีนโยบายดังกล่าวและไม่ได้มีการสั่งการใดๆในเรื่องนี้ ทุกอย่างต้องดูข้อเท็จจริง เราก็ไม่รู้ว่าคนที่อ้างตัวว่าเป็นทหารนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของทหารบางคนจนทำให้ทหารส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ทหารทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อีกทั้งประชาชนจำนวนมากก็เคยผ่านการเป็นทหาร เชื่อว่าทุกคนมีอุดมการณ์เดียวกันคือ ทำงานเพื่อส่วนรวม ทหารในอีกฐานะหนึ่งก็คือประชาชน เรามีครอบครัว เราก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ทหารเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชน มีสิทธิเหมือนประชาชน ถ้ามีการสั่งการแบบนั้นจริง ยอดคนโหวตน่าจะสูงกว่านี้ เพราะทหารทั้งประเทศมีกว่า 300,000 คน
ประชาธิปไตยไทยระบม
การเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเร่งให้เลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน หรือเรียกร้องสิทธิต่างๆของผู้ชุมนุม ผนวกกับความล้มเหลวในการสร้างความปรองดองและแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ล้วนปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัญหาที่สะสมมาเกือบ 4 ปี ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. จึงไม่แปลกที่ผลสำรวจทุกสำนักระบุว่า ประชาชนกังวลการเลือกตั้งที่ไม่แน่นอนและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวระหว่างประชุม ครม.สัญจรล่าสุด แต่พยายามพูดไม่ให้ผูกมัดตัวเองเหมือนที่ผ่านมาว่า
“เมื่อไรก็เมื่อนั้น คือวันเลือกตั้งเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือ กฎหมายที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และที่มาของ ส.ว. ยังอยู่ในกระบวนการ เมื่อทุกอย่างพร้อม ทุกฝ่ายพร้อม ก็เลือกตั้ง”
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้เขียนในคอลัมน์ “ประสงค์พูด” กล่าวถึงอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารว่า ไม่ใช่คำตอบว่าจะอยู่ได้นานหรือไม่นาน เพราะแท้จริงแล้วอำนาจนั้นต้องอยู่ที่ประชาชนเชื่อถือด้วย ถ้าประชาชนไม่เชื่อถือแล้ว ไม่ว่าใครก็อยู่ไม่ได้ทั้งสิ้น เฉพาะอย่างยิ่งอยู่ที่หมู่คณะของตนด้วยว่าเป็นอย่างไร ได้รับความเชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริตมากน้อยแค่ไหนจากประชาชน มีจิตใจเสียสละในการทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน ประชาชนเขาสงสัยในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของผู้คนในหมู่คณะที่ร่วมกันบริหารบ้านเมืองขณะนี้ก็ต้องชี้แจงให้เขาหายสงสัย โดยเฉพาะผู้เป็นหัวแถวของหมู่คณะด้วยแล้ว ยิ่งต้องเป็นตัวหลักในการจัดการแก้ไขกับข้อสงสัยดังกล่าวให้กระจ่างโดยเร็วที่สุด
น.ต.ประสงค์ยังกล่าวถึง “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ว่า ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่บอกไว้ เห็นแต่การใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองมาร่วม 4 ปีเต็ม ประเทศไทยตกอยู่ในรูปแบบของ “ประชาธิปไตยไทยระบม” มากกว่า ผู้คนในบ้านเมืองส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในสภาพของความระทมขมขื่นในการดำรงชีวิต ทั้งทางด้านการประกอบอาชีพและการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับไหนที่ผ่านมาของบ้านเราเขียนบอกให้รู้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เคยเป็นจริงอย่างที่เขียนไว้ เพราะมีคนเอาอำนาจของประชาชนไปใช้ตามใจชอบของตนตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคของอำนาจปืน การมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆมองแทบไม่เห็น เพราะถูกจำกัดด้วยข้อห้ามตามคำสั่งที่เขียนเองเออเองว่าต้องปฏิบัติอย่างโน้นอย่างนี้ ขัดขืนไม่ได้ ด้วยเหตุผลง่ายๆเพียงว่า บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย เมื่อเป็นอย่างนี้ประชาธิปไตยไทยจะไม่ระบมได้อย่างไร
กุญแจมือ..ไม่ต้องยืมเพื่อน
ขบวนล้อการเมืองงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ที่ไฮไลท์เป็นหุ่นล้อสังคมและการเมืองคือ หุ่นฉีกรัฐธรรมนูญออกมาเป็น “นายกฯคนนอก” และ “ยักษ์นนทก” ที่มีนิ้วเพชร ทำให้มีอำนาจและวาสนายิ่งใหญ่เหนือเทวาแต่กลับบ้าอำนาจ สุดท้ายนิ้วเพชรก็ชี้ตัวเองตาย ขณะที่การจัดกิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง” กลุ่ม BMK 39 หรือกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ล้วนสะท้อนปัญหาที่หมักหมมมาเกือบ 4 ปีของ คสช. ที่ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ทั้งการปฏิรูปประเทศ การสร้างความปรองดอง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเลือกตั้ง และปัญหา “นาฬิกาเพื่อน” ที่ทำให้การปราบโกงเป็นแค่วาทกรรมและเลือกปฏิบัติ
แม้แต่กระบวนการยุติธรรมปรกติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำภายใต้รัฐบาลรัฐประหารก็ถูกตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม โปร่งใส และเท่าเทียมกันจริงหรือไม่ เพราะหลายคดีปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาแต่ละฝ่ายแตกต่างกัน
ล่าสุดที่เป็นข่าวดังสะท้านป่าคือ กรณีนายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ลักลอบเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและถูกจับได้คาหนังคาซากสัตว์ป่าคุ้มครองและอาวุธปืน ไม่ว่าจะเป็นซากเสือดำถูกชำแหละถลกหนัง ไก่ฟ้าหลังเทา และซากเนื้อเก้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท ที่สำคัญยังมีคลิปเผยแพร่หลังการจับกุมถึงเจ้าหน้าที่ที่จับกุมว่า “เดี๋ยวให้ผู้ใหญ่มาคุย กฎหมายก็มีช่อง” ทั้งการเดินเข้าเขตป่าก็ยังมีวิทยุให้ “อำนวยความสะดวกคณะท่องเที่ยว เพราะเป็นแขกของนาย” อีกด้วย
แตกต่างสิ้นเชิงกับกลุ่ม MBK39 ที่ถูกกล่าวหาข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ชุมนุมเกิน 5 คน พ.ร.บ.ชุมนุมใกล้พื้นที่เขตพระราชฐาน และเพิ่มข้อหาร้ายแรงว่ายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ทั้งที่เป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกกระทำเหมือนเป็นอาชญากรร้ายแรง แม้แต่การประกันตัวก็ยังมีความพยายามที่จะสร้างเงื่อนไขต่างๆ ขณะที่ม็อบเชียร์ พล.อ.ประวิตรที่มีข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ชุมนุมเกิน 5 คน และ พ.ร.บ.ชุมนุมใกล้พื้นที่เขตพระราชฐาน ถูกศาลสั่งปรับ 6,000 บาท รับสารภาพลดเหลือ 3,000 บาท
สถานการณ์บ้านเมืองภายใต้รัฐประหารที่มีอำนาจจากปลายกระบอกปืนในยุครัฐราชการและกลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม ท่ามกลางกระบวนการยุติธรรมปรกติหรือองค์กรอิสระก็ถูกตั้งคำถาม ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายเรื่องสองมาตรฐานและเลือกปฏิบัติ ทำให้ย้อนคิดถึงกลิ่นอายของการปฏิวัติของประชาชนเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภา 2535 ที่การใช้อำนาจรัฐล้นเกินและไม่สามารถตรวจสอบได้
แม้จะคาดเดาได้ว่าการออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามสัญญาและให้ คสช. ไม่สืบทอดอำนาจ จะไม่ทำให้ “ทั่นผู้นำ” และ คสช. สั่นคลอน เพราะกองทัพยังสนับสนุนเต็มที่ แต่เมื่อคะแนนนิยมลดลง ความเชื่อมั่นและความศรัทธาของประชาชนก็ย่อมเสื่อมถอย และเมื่อใดที่ประชาชนพร้อมใจกันทวงคืนอำนาจของตน ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็อยู่ไม่ได้ทั้งนั้น
การใช้อำนาจเป็นใหญ่และใช้อำนาจตามอำเภอใจที่อาจทำให้ประชาชนกลัวและไม่กล้าออกมาเรียกร้อง ย่อมไม่ใช่ความสงบสุขและมั่นคงที่แท้จริง
การที่ประชาชนออกมาทวงสิทธิเลือกตั้งตามที่ “ทั่นผู้นำ” สัญญา หรือเรียกร้องให้ดำเนินการกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ถูกตั้งข้อหาและจับกุมคุมขัง จึงเป็นวาทกรรมย้อนแย้งที่กำลังกลับมาทิ่มแทง “ทั่นผู้นำ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ ทั้งเลือกปฏิบัติและสองมาตรฐาน จึงเป็นเรื่องการใช้ “กฎหมาย” ที่มักจะทำ “ย.ยักษ์” หล่นหายอยู่เสมอๆ
ทำไมความยุติธรรมแบบ “ไทยนิยม” จึงพิลึกพิลั่นและพิเรนทร์ ทำไมเสนาบดีใหญ่ยืมนาฬิกาเพื่อน (ตาย) มูลค่านับ 30 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ทำไมนายตำรวจใหญ่ยืมเงินเพื่อนเสี่ยค้ากาม 300 ล้านบาทถือเป็นเรื่องปรกติ
แต่ทำไมประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างสันติ ทวงคืนอำนาจของตนเองที่ถูกปล้นไปแท้ๆ กลับถูกดำเนินคดีและได้รับการปฏิบัติเยี่ยงอาชญากรร้ายแรง?
หรือนี่คือระบอบประชาธิปไตย (ไทยนิยม) แบบไทยๆ
ทำไมถึงอยู่ยากขึ้นทุกวัน!!??
You must be logged in to post a comment Login