วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บัวช้ำน้ำขุ่น?

On February 14, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เกิดเรื่องผิดคาดกรณี “หมอธี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล้าวิจารณ์ “บิ๊กป้อม” ที่มีปัญหาเรื่องนาฬิกาหรูแต่ยังไม่ยอมลาออก จนทำให้ถูกมองว่าเป็นคนมีหลักการ มีคุณธรรมจริยธรรมน่ายกย่อง และคิดว่าคงเกิดอาการมองหน้ากันไม่ติดนั่งทับเก้าอี้ต่อไปลำบาก แต่ผิดคาด ไม่มีการยื่นลาออกเพื่อแสดงจุดยืน หรือให้ออกฐานผิดมารยาทวิจารณ์พวกเดียวกันเอง แม้จะเกิดภาวะบัวช้ำ น้ำขุ่น แต่ประเมินแล้วว่าทนอยู่มองหน้ากันไปจะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองน้อยกว่า

ถึงจะดูตลกๆ และงงๆ อยู่สักหน่อยแต่ก็เข้าใจได้กับท่าทีของ “หมอธี” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พูดกับนักเรียนไทยและนักธุรกิจไทยในงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน แสดงตนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมสูงด้วยการพูดถึงกรณีนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าหากเป็นตนเองคงลาออกไปตั้งแต่นาฬิกาเรือนแรกแล้ว

“เรื่องนาฬิกา ถ้าผมถูก exposed (เปิดโปง) เรือนแรก ผมก็ออกแล้ว อันนี้ถามผมนะ ส่วนใครจะว่าอะไร ให้ไปถามคนนั้น ของอย่างนี้ คนก็ไม่กล้าพูด กลัวอะไร ทำไม พูดแล้ว มันจะมาไล่ผมออกหรือ”

เมื่อข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกมาใครก็คาดการณ์ว่าจะทำให้มองหน้ากันไม่ติด อยู่ทำงานร่วมกันต่อไปได้ยาก

แต่ผิดคาด

“หมอธี” ทำแค่แถลงขอโทษ “บิ๊กป้อม” ยอมรับว่าเป็นเรื่องผิดมารยาทที่ไปวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมคณะรัฐมนตรี แต่ยืนยันไม่ลาออก จะช่วยนายกรัฐมนตรีทำงานต่อไปเพราะยังมั่นใจในตัวนายกฯ จนกว่าท่านจะเห็นว่าตนเองไม่เหมาะสมแล้ว

ยังดีหน่อยก็ตรงที่เป็นลูกผู้ชายพอที่จะยอมรับว่าพูดจริง ไม่ใช่การตัดต่อ แต่ไม่ใช่การให้สัมภาษณ์เป็นแค่การยืนพูดคุยกับนักข่าวของบีบีซีไม่รู้ว่าถูกอัดเสียง

อย่างไรก็ตามน่าคิดว่ากรณีนี้หากไม่มีคลิปเสียงยืนยันไม่รู้ว่าจะยืดอกรับแบบนี้หรือไม่ เมื่อเทียบมาตรฐานทางจริยธรรมในคำพูดกับการปฏิบัติที่ยืนยันอยู่ทำงานต่อไปไม่ลาออก

การไม่ลาออกจากตำแหน่งของ “หมอธี” หากมองในมุมการเมืองเข้าใจได้ว่าไม่อยากให้ประเด็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมถูกนำไปขยายความจนเกิดผลกระทบต่อรัฐบาลทหารคสช.มากกว่าที่เป็นอยู่

ต้องไม่ลืมว่าก่อน “หมอธี” ออกมาแถลงข่าวได้เข้าพบเพื่อพูดคุยกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มาก่อน

การผิดมารยาทวิจารณ์คุณธรรม จริยธรรม รัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ในความเป็นจริงไม่ว่ามองมุมไหนก็ออกได้สองหน้า คือ ไม่ลาออกเองก็ถูกเชิญให้ออก

แต่ที่ไม่เกิดทั้งกรณีลาออกเองหรือถูกเชิญให้ออกคงเพราะประเมินแล้วว่ามีแต่เสียกับเสีย          ถ้าลาออก “หมอธี” จะเป็นพระเอกถูกยกให้สูงกว่าคนอื่น จะมีแรงกดดันพุ่งเข้าใส่รัฐมนตรีคนอื่นๆที่ไม่ลาออก

หากเชิญให้ออกจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัฐบาลที่เลือกอุ้มคนมีปัญหา ไม่สนับสนุนคนมีหลักการ

แม้จะเกิดภาวะบัวช้ำ น้ำขุ่น ก็ต้องทนทำงานร่วมกันต่อไป

การไม่ลาออกแม้จะถูกตั้งคำถาม ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่น้ำหนักจะไปตกที่ “หมอธี” เพียงคนเดียวไม่กระทบชิ่งไปถึงผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีคนอื่นๆ

กลายเป็นระเบิดพลีชีพจุดเองตายเองคนเดียว

การไม่ลาออกจะทำให้สังคมคิดถึงคำกล่าวของ “หมอธี” ที่บอกกับนักข่าวบีบีซีว่า

“ไม่มีทางที่จะเห็นนักการเมืองไทยลาออก เพราะมาสาย เพราะมันเป็น conscience (ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี) ลึกๆ อยู่ในสายเลือด การรู้ว่าอะไรควร อะไรถูก มาสายไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิด ethic (จริยธรรม)… เมื่อไม่ได้ฝึกมาแต่เด็ก ให้หน้าบาง อยู่เมืองไทย ไม่มีทาง เมืองไทยเป็นอย่างหนาตราช้าง”

เรื่องคุณธรรม จริยธรรม มีเอาไว้พูดเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดีมีหลักการเหนือกว่าคนอื่นเท่านั้น เพราะเราไม่ได้ฝึกมาแต่เด็กให้เป็นคนหน้าบาง ก็เลยมีแต่พวกอย่างหนาตราช้างอย่างที่เห็น


You must be logged in to post a comment Login