วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ทำไมต้องรัก คสช.? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On February 15, 2018

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

จากเหตุการณ์ภายหลังการยึดอำนาจของฝ่ายเผด็จการ ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากให้มีการเลือกตั้ง ในทางตรงข้ามก็มีฝ่ายที่นิยมชมชอบรัฐบาลและอยากให้ คสช. อยู่ต่อบ้างเหมือนกัน ต่างฝ่ายก็มีเหตุผลออกมาชักจูงและโน้มน้าวประชาชนที่อยู่ตรงกลางให้หันมาสนับสนุนสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่น

ทั้ง 2 ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากเราอยู่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เป็นสากล การที่ประชาชนจะออกมาแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องเรื่องใดๆก็ตามถือเป็นสิทธิเสรีภาพของทุกฝ่ายที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับที่นานาอารยประเทศเขาทำกัน

แต่เมื่อเราอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การออกมาเรียกร้องของฝ่ายประชาชนที่ต้องการ “การเลือกตั้ง” จึงกลายเป็น “อาชญากรรม” ในขณะที่การกระทำของฝ่ายสนับสนุน คสช. กลับได้รับ “ข้อยกเว้น” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องปรกติของการปกครอง “ระบอบเผด็จการ” ทุกประเทศอยู่แล้ว

ในยุคสมัยที่เผด็จการเรืองอำนาจ การปล่อยให้มีการปฏิบัติ “สองมาตรฐาน” ทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นนี้ ถือว่าเป็น “มาตรฐาน” ที่กระทำกันมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่สมัยนี้วิทยาการและเทคโนโลยีก้าวไกลไปมาก จึงทำให้การสื่อสารระหว่างกันทำได้รวดเร็วทั่วถึงและไร้พรมแดน ดังนั้น การกระทำที่ปราศจากเหตุผลรองรับจึงไม่สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับพี่น้องประชาชนได้อีกต่อไป

เพราะเหตุนี้การบังคับใช้กฎหมายกับ “ผู้เห็นต่าง” เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ เนื่องด้วยคนส่วนใหญ่ย่อมมองออกว่าเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม ดังนั้น เผด็จการยุคใหม่จึงต้องปรับตัวและค้นหาวิธีใหม่ๆเพื่อสร้างแนวร่วมด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆก็คือ การซื้อโฆษณาเพื่อโปรโมตผลงานของรัฐบาลและ คสช. รวมทั้งสร้างเนื้อหาแนวทางสร้างสรรค์เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างกองเชียร์หน้าใหม่ หากดำเนินการสะกดจิตเพิ่มยอดคนได้มากขึ้นเท่าไร ความชอบธรรมในการบริหารประเทศก็ย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย

ผมนั่งดูการปฏิบัติการด้านข่าวสาร (IO) ของฝ่าย “โปรรัฐบาล” ด้วยความสนใจ เพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่ลงทุนลงแรงไปไม่น้อยเช่นนี้จะได้ผลหรือไม่! ต้องยอมรับว่าการใช้มืออาชีพเข้ามารับผิดชอบอาจทำให้รูปลักษณ์การนำเสนอเรื่องราวต่างๆดูดีและทันสมัย แต่จะดีพอที่จะทำให้ประชาชนอยากให้ “ท่านผู้นำสูงสุด” พร้อมบริวารอยู่บริหารบ้านเมืองต่อไปหรือไม่ เรื่องนี้ผมไม่กล้าฟันธง (จริงๆ)

ผมขออนุญาตหยิบยกตัวอย่าง “เนื้อหา” หรือที่เราชอบเรียกทับศัพท์กันว่า “คอนเทนต์” (content) ที่พบเห็นกันบ่อยๆในโซเชียลมาขยายความให้ฟังกันว่า ฝ่าย IO ของ คสช. ต้องการสื่อสารถึงประชาชนเพื่อโน้มน้าวหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อของแต่ละท่านอย่างไรบ้าง ลองมาติดตามอ่านกันดูครับ

ขอเริ่มต้นจาก 10 เหตุผลยอดฮิตว่า ทำไมเราถึง (ต้อง) รัก คสช. กันก่อนดีกว่า ข้อแรกก็คือการ “ปกป้องสถาบันหลักของชาติ” เรื่องนี้คงไม่มีใครกล้าเถียง นอกจากจะเพิ่มเติมเข้าไปเองว่าในฐานะที่เกิดเป็นคนไทย แม้จะไม่มีโอกาสเป็น คสช. เหมือน “ลุงตู่” แต่ตรูก็รักและพร้อมที่จะปกป้องสถาบันหลักของชาติเหมือนกันนั่นแหละ ดังนั้น การเป็น คสช. จึงไม่ได้ผูกขาดความรักสถาบันหลักของชาติไว้คนเดียวอย่างแน่นอน

ต่อไปเป็นข้อ 2 ที่ผมคิดว่าคนเขียน “ช่างกล้า” ในการใช้เหตุผลข้อนี้ นั่นก็คือ “คืนความสุขแก่ประชาชน” เพราะตั้งแต่ปีแรกของการรัฐประหารจนถึงวันนี้ คสช. ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชนได้หรือยัง? ตามเนื้อเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” เนื่องจากประเทศถูก “แช่แข็ง” และประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนลงไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความชัดเจนว่าประเทศจะกลับไปเดินหน้าได้อย่างไร?

เหตุผลข้อที่ 3 ที่เราต้องรัก คสช. คือ “จริงจังกับการจัดระเบียบสังคม” ข้อนี้จริงๆฟังดูดีและน่าเชื่อถือ เพราะประเทศไทยไปที่ไหนก็มีแต่บุคคลในเครื่องแบบยืนรักษาความสงบเต็มไปหมด นอกจากตำรวจแล้วเรายังเห็นทหารออกมาช่วยทำงานของตำรวจเป็นจำนวนไม่น้อย จนผมต้องตั้งข้อสังเกตว่า ทหารเหล่านี้จะเอาเวลาที่ไหนไปฝึกพร้อมรบ และถ้าต้องรบตามภารกิจหลักของกองทัพ กองทัพไทยจะมีความพร้อมรบมากน้อยแค่ไหน?

แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับความสำเร็จในการจัดระเบียบสังคม เพราะคนทั่วไปรวมถึงผมด้วยยังเห็นอาชญากรรมมากมายเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ลักวิ่งชิงปล้นกลายเป็นเรื่องปรกติ ในขณะที่อบายมุขต่างๆก็เห็นกันอย่างดาษดื่น โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น คำว่า “จริงจัง” จึงเป็นคำบอกเล่าที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับกองเชียร์ของ คสช.

ข้อที่ 4 บอกว่า “รัฐบาลสนใจคนในชาติมากกว่าสิ่งใด” ปัจจุบันคนไทยมีจำนวนกว่า 70 ล้านคน ผมเชื่อว่าอย่างน้อยต้องมีเกินกว่าครึ่งประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลข้อนี้ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในภาคการผลิตทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรม

เพราะตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจไปจากประชาชน คนจนก็ยากจนลงไปเรื่อยๆ ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ลดกำลังการผลิต ทำให้การจ้างงานลดลงและไม่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาพแท้จริงที่ปรากฏก็คือ คนกลุ่มเล็กๆที่เป็น​ “ชนชั้นนำ” หรือ “นายทุนขุนศึก” เท่านั้นที่เป็นฝ่ายได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

ข้อต่อไปอ่านแล้วอย่าเพิ่งหัวเราะนะครับ เพราะเหตุผลที่เขาบอกว่าเราต้องรัก คสช. ก็คือ “ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน” ฟังแล้วผมนึกถึงเพลง “รักเดียว” ของ “ปู พงษ์สิทธิ์” ขึ้นมาทันทีที่ว่า “จริงจังแค่ไหน แค่ไหนเรียกจริงจัง ผิดเพียงแปดครั้ง ถึงเก้าซะที่ไหน”

เพราะเรื่องแบบนี้เกิดได้เฉพาะในรัฐบาลเผด็จการเท่านั้น ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งจากประชาชน ลองทำอะไรน่าเกลียดแบบนี้รับรองว่าไม่ได้ผุดได้เกิด เนื้อร้องของพี่ปูต้องเปลี่ยนเป็น “ผิดเพียงหนึ่งครั้งติดคุกไปจนตาย” ทั้งนี้เพราะฝ่ายค้านจะตามจิกกัดไม่เลิก บวกกับองค์กรภาคประชาชนที่จะออกมาตรวจสอบอย่างเข้มข้น ปฏิบัติการกันอย่างเฉียบขาดจนกว่าจะได้ข้อยุติ

ผมยืนยันว่าไม่ได้กล่าวหาว่าใครทุจริตทั้งสิ้น เพียงแค่อยากจะสะท้อนให้เห็นว่า “รัฐบาลเลือกตั้ง” ที่ถูกกล่าวหาป้ายสีใส่ไข่จากพวกนิยมเผด็จการ ไม่ว่าจะดีเลวแค่ไหน แต่ “ประชาชน” ทุกคนสามารถ “ตรวจสอบ” ได้ ผิดกับเผด็จการที่ปกครองบ้านเมืองด้วยปลายกระบอกปืนโดยไม่มีฝ่ายค้าน แม้องค์กรต่างๆจะช่วยทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็พบกับปัญหาอุปสรรคมากมาย

โชคดีที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทุจริตกันคนละไม้คนละมือจนความจริงปรากฏออกมาหลายเรื่อง ดังนั้น เรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันจึงควรยกเครดิตให้กับพลเมืองในโซเชียลมากกว่า คสช. หรือไม่

เพิ่งเขียนมาได้ 5 ข้อ หน้ากระดาษก็หมดซะแล้ว แต่ผมคงไม่เขียนต่อ เพราะคงไม่มีสาระอะไรมากกว่า 5 ข้อแรกที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง พบกันฉบับหน้า


You must be logged in to post a comment Login