วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วิบากกรรมเลือกตั้ง / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On February 19, 2018

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

เกาะติดความคืบหน้ากรณีตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ขณะที่ทั้ง กกต. และ กรธ. ส่งข้อโต้แย้งของร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับให้ สนช. เรียบร้อยแล้ว

เมื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาแล้วจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ให้เสร็จภายใน 15 วัน จากนั้นส่งเข้าที่ประชุม สนช. เพื่อลงมติว่าจะยื่นตามร่างเดิมหรือเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการร่วมแก้ไข

เท่าที่ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับนี้ หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ สนช. จะลงมติคว่ำร่าง พ.ร.ป. ฉบับใดฉบับหนึ่ง โดยโฟกัสไปที่ร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.

เนื่องจากเชื่อว่าเป็นเทคนิคกฎหมายชิ้นสุดท้ายที่จะใช้ยื้อการเลือกตั้งออกไปได้อีก เพราะเมื่อหมดจากเทคนิคนี้หากจะยื้อเลือกตั้งต้องใช้อำนาจมาตรา 44 เพียงอย่างเดียว ซึ่งเสี่ยงมากที่จะเกิดการต่อต้าน

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมของกลุ่มอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นตัวแปรที่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปพอสมควร

แม้จะเชือดไก่ให้ลิงดูด้วยการจับแกนนำดำเนินคดีหลายข้อหา แต่ก็ยังมีคนออกมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก ถึงจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ส่งสัญญาณให้เห็นภาวะ “กูไม่กลัวมึง” เริ่มขยายตัวมากขึ้น มีคนที่เตรียมพร้อมในที่ตั้งหรือสู้อยู่หลังบังเกอร์อีกจำนวนมากที่พร้อมจะออกมาเมื่อถึงเวลาสุกงอมจริงๆ

จากสัญญาณที่เด่นชัดก่อนหน้านี้เรื่องคว่ำร่าง พ.ร.ป. เพื่อเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีกเริ่มมีคลื่นรบกวน ทำให้สัญญาณอ่อนลงไปกว่าเดิม

หากติดตามความเคลื่อนไหวของผู้เกี่ยวข้องและสนับสนุนรัฐบาล คสช. จะเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับเริ่มเปลี่ยนไป

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. บอกว่า ถึง สนช. จะคว่ำร่าง พ.ร.ป. ฉบับใดฉบับหนึ่ง การยกร่างใหม่ก็ใช้เวลาเพียงแค่ 1-2 วันเท่านั้น

สิ่งที่นายมีชัยสื่อออกมาก็เพื่อโต้แย้งความเห็นของนักการเมืองบางคนที่เคยบอกว่าหากร่าง พ.ร.ป. ถูกคว่ำจะทำให้รัฐบาล คสช. อยู่ในอำนาจต่อไปได้อีก 1-2 ปี เพราะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาคนมายกร่าง พ.ร.ป. ใหม่

ว่ากันว่าเป็นเทคนิคกฎหมายขั้นสุดยอดเพื่อใช้ยื้อเลือกตั้ง

นายมีชัยยืนยันว่าแม้ กรธ. จะยกร่าง พ.ร.ป. เสร็จและส่งให้ สนช. พิจารณาครบทั้ง 10 ฉบับตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่สถานะของ กรธ. ยังไม่ถูกยุบไป ดังนั้น การยกร่าง พ.ร.ป.ใหม่ก็ต้องเป็นหน้าที่ของ กรธ. คณะเดิม ทำให้สามารถปรับแก้ร่าง พ.ร.ป. ที่ถูก สนช. คว่ำ (ถ้ามี) ให้เสร็จและส่ง สนช. พิจารณาได้ภายใน 1-2 วันเท่านั้น

การเลือกตั้งจะยื้อออกไปจากกำหนดเดิมคือช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เต็มที่ก็ไม่พ้นครึ่งปีหลังของปี 2562 เว้นแต่ว่าร่างๆคว่ำๆกันไปอีกหลายครั้งกว่าจะได้ พ.ร.ป. ครบทั้ง 10 ฉบับ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่กำหนดให้ กรธ. อยู่ทำหน้าที่ต่อจนร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 10 ฉบับส่งให้ สนช. พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายนปีที่แล้ว จึงให้ กรธ. พ้นจากตำแหน่ง

จึงมีปัญหาที่ต้องตีความว่า เมื่อ กรธ. ยกร่าง พ.ร.ป. เสร็จและส่งให้ สนช. พิจารณาครบทั้ง 10 ฉบับแล้ว ถือว่า กรธ. พ้นจากตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือยัง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ยกร่าง พ.ร.ป. ให้แล้วเสร็จทั้ง 10 ฉบับภายใน 240 วันนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เมื่อครบกำหนด 240 วันแล้ว ถือว่า กรธ.ได้พ้นจากตำแหน่งแล้วหรือไม่

ที่สำคัญรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าหากเกิดกรณี สนช. ลงมติคว่ำร่าง พ.ร.ป. ฉบับใดฉบับหนึ่ง ใครจะทำหน้าที่ยกร่าง พ.ร.ป. เสนอให้ สนช. พิจารณาใหม่

รัฐธรรมนูญเขียนไว้เพียงว่า หากร่าง พ.ร.ป. ใดผ่านความเห็นชอบจาก สนช. แล้วถูกองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 11 คน ประกอบด้วย ตัวแทน สนช. ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และตัวแทน กรธ. ร่วมกันพิจารณาแล้วส่งให้ สนช. ลงมติใหม่ หาก สนช. ไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงสองในสามให้ถือว่าร่าง พ.ร.ป. นั้นเป็นอันตกไป

รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนอีกเช่นกันว่า ถ้าเกิดกรณีนี้ขึ้น เมื่อร่าง พ.ร.ป. ตกไปแล้ว ใครจะทำหน้าที่ยกร่าง พ.ร.ป. ฉบับใหม่เสนอให้ สนช. พิจารณา

กำหนดการเลือกตั้งจึงยังคลุมเครือต่อไปถ้าเกิดกรณีคว่ำร่าง พ.ร.ป. ขึ้น

หากไม่ต้องการยื้อเวลาเลือกตั้งออกไป “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 เคลียร์ให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจนได้ อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่เท่านั้น

ทั้งนี้ จุดสำคัญที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วนจากความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญกรณี สนช. คว่ำร่าง พ.ร.ป. คงต้องจับตาดูการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ของ สนช. หลังจากคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายปรับแก้ร่างเสร็จแล้ว

หาก สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ ทุกอย่างก็เป็นไปตามกำหนดเดิม คือเริ่มนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้า สนช. ไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ฉบับใดฉบับหนึ่ง ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นทันที

เชื่อได้เลยว่าจะต้องมีคนออกมาแย้งสถานะของ กรธ. ว่าสิ้นสภาพไปแล้ว ไม่มีสิทธิยกร่าง พ.ร.ป. ให้ สนช. พิจารณาใหม่

ที่คุยว่าปรับแก้ 1-2 วันก็เสร็จ ไม่ต้องกังวลว่าจะยื้อเลือกตั้งออกไปได้นาน ก็ไม่เป็นความจริง

สุดท้ายก็ต้องวกกลับไปหา “บิ๊กตู่” ว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร จะใช้อำนาจให้เกิดความชัดเจนหรืออ้างขั้นตอนกฎหมายต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดที่มาของคณะที่จะมายกร่าง พ.ร.ป. ชุดใหม่

ถ้าเลือกทางนี้ก็ยื้อเวลานั่งทับอำนาจไปได้อีกนาน

แต่ปัญหาคือจะนั่งทับอำนาจได้อย่างมีความสุขหรือไม่ก็ต้องติดตามกันต่อไป


You must be logged in to post a comment Login