วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เทียบเชิญกกต.

On February 25, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังผู้ผ่านการสรรหาเป็นกกต. 7 คนไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม สนช. นอกจากความน่าสนใจการคัดเลือกตัวแทนสายศาลที่มีปัญหาเห็นต่างเรื่องวิธีลงคะแนนเปิดเผย ความน่าสนใจว่าจะคนมายื่นใบสมัครรอบใหม่กี่คน ยังมีอีกหนึ่งความน่าสนใจคือครั้งนี้กรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยประธานศาล 3 ศาลและตัวแทนองค์กรอิสระจะใช้สิทธิส่งเทียบเชิญคนที่เห็นว่าเหมาะสมเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็นกกต.หรือไม่ ถ้ากรรมการสรรหาใช้สิทธินี้ ใครบ้างที่จะได้รับเทียบเชิญ คนคนนั้นมีแนวคิดทางการเมืองอย่างไร ติดสี เลือกข้างหรือไม่ หรือว่าเป็นคนใกล้ชิดของใครหรือไม่ หากออพชั่นนี้ถูกใช้บางทีอาจทำให้ได้เหตุผลที่แท้จริงของการโละทิ้งผู้ผ่านกระบวนการสรรหาเพื่อไปเริ่มคัดเลือกใหม่

มีใบสั่งหรือมีใครสั่งจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ การสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ ต้องวนกลับไปที่เดิมเพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่

กว่าจะได้ 7 กกต.มาทำหน้าที่จัดเลือกตั้งน่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 90 วัน

เหตุผลทางเปิดเผยที่ว่าต้องเทกระจาดโละทิ้งว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญกำหนด และผ่านการตรวจสอบประวัติจากกรรมการสรรหาตามขั้นตอน ที่ว่าเทกระจาดทิ้งเพราะตัวแทนจากศาลฎีกา 2 คนอาจมีปัญหาในขั้นตอนลงคะแนนเลือกที่กฎหมายให้ลงคะแนนโดยเปิดเผยเพื่อให้รู้กันไปเลยว่าใครลงคะแนนให้ใคร แต่กลับใช้วิธีลงคะแนนลับ

อีกเหตุผลคือมีความกังวลว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อประมาณ 2-3 คน อาจทำงานไม่ได้ เพราะไม่มีประสบการณ์ด้านการเลือกตั้ง ส่วนอีก 2 คนที่ไม่มีปัญหาแต่ต้องถูกคว่ำกระดานทิ้งด้วยเพราะเกรงว่าหากให้ผ่าน 2 คนจะถูกมองว่าไม่ให้เกียรติศาล

เหตุผลในทางเปิดเผยเป็นอย่างนี้ ส่วนเหตุผลทางปิด ทางลับจะเป็นอย่างไรขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา

อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนดูเส้นทางการได้มาซึ่งว่าที่กกต.ที่ถูกเทกระจาดทิ้งจะเห็นว่าการจะให้ได้กกต.ชุดใหม่ 7 คนมาทำงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

อุปสรรคแรกอยู่ที่การสรรหาตัวแทนในสายศาลฎีกา 2 คน ที่จะใช้วิธีลงคะแนนแบบกาบัตรหย่อนหีบเหมือนครั้งที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว เพราะถูกมองว่าไม่เป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผยตามที่กฎหมายกำหนด

ต้องยกมือโหวตให้เห็นหน้ากันไปเลยว่าใครเลือกตั้ง หากใช้วิธีเดิมซึ่งศาลยืนยันถูกต้อง เมื่อมาถึงขั้นลงมติโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ต้องถูกคว่ำอีก เพราะจะให้กลับลำลงมติรับรองให้เป็นกกต.หากตัวแทนสายศาลผ่านการคัดเลือกด้วยการลงคะแนนแบบเดิม เท่ากับว่าไร้จุดยืน ตอบสังคมไม่ได้

เมื่อต้องลงคะแนนเปิดเผยฝ่ายศาลก็มีเหตุผลที่เคยพูดมาก่อนหน้านี้โดยเกรงว่าจะเป็นการสร้างความแตกแยก ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน

การคัดเลือกตัวแทนสายศาลใหม่ 2 คน จึงไม่ง่าย

อุปสรรคต่อมาคือเรื่องคุณสมบัติขั้นเทพตามกฎหมายกกต.ใหม่กำหนดไว้ซึ่งเคยถูกท้วงติงมาก่อนหน้านี้แล้ว อาจหาผู้มายื่นใบสมัครได้ยาก

หากจำกันได้การเปิดรับสมัครกกต.รอบที่แล้วที่เปิดตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม-10 พฤศจิกายน 2560 กว่าจะมีคนมายื่นใบสมัครคนแรกเวลาก็ผ่านไปถึงครึ่งเดือน จนถึงวันปิดรับมีคนยื่นใยสมัคร 41 คน

ในจำนวนนี้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเข้ามาถึงรอบสัมภาษณ์ได้เพียง 15 คน และถูกคัดเหลือ 7 คนส่งให้สนช.โหวตรับรอง ซึ่งถูกเทกระจาดทิ้งอย่างที่ทราบกัน

การวนกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่จึงน่าสนใจว่าจะมีคนยื่นสมัครกี่คน

อย่างไรก็ตามมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาว่ากฎหมายได้เปิดช่องให้กรรมการสรรหาใช้สิทธิทาบทามบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมเข้ามาเป็นผู้คัดเลือกเป็นกกต.ได้โดยไม่ต้องยื่นใบสมัคร

ครั้งที่แล้วกรรมการสรรหาไม่ได้ใช้ออพชั่นนี้ ครั้งนี้จึงน่าสนใจว่าจะมีการร่อนเทียบเชิญให้ใครมาเป็นกกต.หรือไม่

ถ้ากรรมการสรรหาใช้สิทธินี้ มีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีกว่า “ใคร” คือคนที่จะได้รับเทียบเชิญ คนคนนั้นมีแนวคิดทางการเมืองอย่างไร ติดสี เลือกข้างหรือไม่ หรือว่าเป็นคนใกล้ชิดของใครหรือไม่

ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นลองย้อนไปดูรายชื่อกรรมการสรรหา กกต.ก่อนว่ามีใครกันบ้าง

ตามกฎหมายกำหนดให้กรรมการสรรหามี 9 คน 3 คนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสนช. และประธานศาลปกครองสูงสุด

อีก 5 คน เป็นตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกมาจากองค์กรอิสระ 5 แห่ง คือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) อย่างไรก็ตามการสรรหากกต.ครั้งที่แล้วไม่มีตัวแทนจาก คตง.เพราะส่งรายชื่อไม่ทันตามกรอบเวลา 20 วันหลังได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภาให้ส่งตัวแทนเป็นกรรมการสรรหา

ส่วนอีก 1 ที่นั่งที่เหลือเป็นของผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้นำพรรคฝ่ายค้าน จึงเป็นเรื่องของศาล องค์กรอิสระ และ สนช.

ทั้งนี้การที่คตง.ส่งรายชื่อตัวแทนเป็นกรรมการสรรหาไม่ทันตามกำหนดส่วนหนึ่งเพราะติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติขั้นเทพของกรรมการสรรหาที่กฎหมายกำหนดไว้ แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งรายชื่อทันกำหนดก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีคุณสมบัติต้องห้าม แต่สุดท้ายก็ผ่านตรวจสอบคุณสมบัติมาได้

จะเห็นว่าขั้นตอนการให้ได้มาซึ่งกกต.ชุดใหม่ไม่ง่าย จึงอาจเป็นไปได้ที่จะได้เห็นกรรมการสรรหาใช้สิทธิทาบทามหรือส่งเทียบเชิญคนมาเป็นกกต.

เมื่อเห็นหน้าคนได้รับเทียบเชิญอาจทำให้เราได้รู้เหตุผลที่แท้จริงของการเทกระจาดเขี่ยทิ้ง 7 ว่าที่กกต.ที่ผ่านการสรรหาเพื่อกลับไปเริ่มต้นใหม่


You must be logged in to post a comment Login