วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปฏิรูปประเทศจริงหรือ? / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On February 26, 2018

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

การเมืองยุคปฏิรูป 4.0 มีแต่เรื่องให้พูดถึงในแง่มุมที่ต้องถามว่า ปฏิรูปแล้วดีขึ้นกว่าเดิมจริงหรือไม่

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีประเด็นน่าสนใจคือ ที่ประชุม สนช. ลงมติด้วยคะแนน 160 เสียง งดออกเสียง 6 ผ่าน ร่างข้อบังคับประมวลจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการจำนวน 45 ข้อ

ข้อบังคับดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์และกลไกในการควบคุมความประพฤติทางจริยธรรม และวางมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช. และกรรมาธิการให้สอดคล้องตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนด

สาระสำคัญที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือข้อ 23 สมาชิกต้องอุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

ในการพิจารณาก่อนลงมตินั้น สมาชิก สนช. หลายคนที่ประกอบธุรกิจในภาคเอกชนได้อภิปรายซักถามความชัดเจน พร้อมตั้งคำถามว่ามีวิธีการใดที่จะทำให้ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็น สนช.

คำตอบที่ได้จากนายกล้านรงค์ จันทิก ประธานกรรมาธิการจัดทำข้อบังคับประมวลจริยธรรมคือ สมาชิก สนช. ยังสามารถยื่นลาต่อประธาน สนช. ได้เหมือนที่เคยปฏิบัติมา และไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติ

สรุปคือต้องอุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่สามารถยื่นใบลาไปทำธุรกิจได้ตามปรกติที่เคยทำ

คำถามคือ แล้วจะมีข้อบังคับขึ้นมาเพื่ออะไร

ถ้าจะย้อนไปดูองค์ประกอบของ สนช. ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) ฉบับ 2557 เพื่อทำหน้าที่เสนอ เห็นชอบ และกลั่นกรองกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ซึ่งจะมีสมาชิกไม่เกิน 220 คน

หากพิจารณาจากองค์ประกอบของ สนช. จะเห็นว่าสมาชิกส่วนมากมีงานประจำทำ ไม่รับราชการก็เป็นนักธุรกิจ การจะทำตามข้อบังคับประมวลจริยธรรมข้อ 23 ที่ระบุไว้ว่า สมาชิกต้องอุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

ย้อนไปก่อนหน้านี้หากจำกันได้เกิดเรื่องอื้อฉาวกรณีมี สนช. 7 คน ขาดประชุมเกินกว่ากติกาที่กำหนด เข้าข่ายต้องพ้นจากตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 2.นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ 3.นายดิสทัต โหตระกิตย์ 4.นายสุพันธุ์ มงคลสุธี 5.พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา 6.พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง 7.พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ

ประเด็นของเรื่องนี้คือ ข้อบังคับสภากำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน

คณะกรรมการจริยธรรม สนช. ได้ทำการตรวจสอบและสรุปว่า แม้จะขาดการลงมติตามจำนวนที่กำหนด แต่ไม่พ้นสภาพการเป็น สนช. เพราะยื่นใบลาอย่างถูกต้องตามข้อบังคับ เนื่องจากมีภารกิจของหน่วยงานที่ตนเองเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ จึงมีความจำเป็นต้องลาประชุม

แม้จะมีคนตั้งคำถามว่า ได้มีการตรวจสอบไปยังต้นสังกัดว่าภารกิจที่ลาประชุม สนช.ไปทำนั้นมีจริงหรือไม่

แต่คำตอบก็อยู่ในสายลม ไม่มีการตรวจสอบแต่อย่างใด

กรณีนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ข้อบังคับประมวลจริยธรรมข้อ 23 เขียนขึ้นเพื่อให้ดูดี แต่ใช้ไม่ได้จริง

ที่สำคัญทุกครั้งที่ยื่นใบลาประชุมยังได้รับค่าตอบแทนทั้งเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งเต็มจำนวน ไม่ได้ถูกหักตามวันลางานแต่อย่างใด

คนเสียประโยชน์จากกรณีนี้คือประชาชน เพราะเป็นผู้จ่ายภาษีที่นำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้บรรดา สนช. รวมถึงเงินเดือนในตำแหน่งราชการที่รับทั้ง 2 ทางอีกด้วย

นี่ยังไม่รวมการทำหน้าที่ในสภาที่เต็มไปด้วยคำถามว่าทำอย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมาหรือไม่ โดยเฉพาะหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้ยินว่ามีการเปิดอภิปรายตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารเลยสักครั้งในช่วงเกือบ 4 ปีของการทำหน้าที่

แม้แต่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีจำนวนเงินมหาศาลยังใช้เวลาอภิปรายกันเพียงสั้นๆ ก่อนลงมติให้ความเห็นชอบตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอมา

“การลาเพื่อไม่ให้ขัดกับมาตรฐานจริยธรรมต้องพิจารณาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ สาเหตุที่ลาเพราะอะไร จำนวนครั้งที่ลา สมมุติผมเป็นข้าราชการอยู่ แต่ไม่มาทำหน้าที่ สนช. เลย โดยบอกว่าต้องไปปฏิบัติราชการ ซึ่งเป็นงานหนัก ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมไม่ลาออก เพราะควรจะมีคนอื่นที่มาทำหน้าที่ตรงนั้น”

เป็นคำถามจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงความเหมาะสมในการยื่นใบลา

เช่นเดียวกับ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ระบุว่า

“เห็นข่าวนี้ทีแรกคิดว่าไม่จริง เพราะการทำงานไม่เต็มเวลาเป็นการคอร์รัปชันอีกรูปแบบหนึ่ง ท่านทั้งหลายอ้างว่ามาเพื่อปราบโกง แต่เมื่อมันเป็นอำนาจของเขาและห้ามตรวจสอบก็ไม่ว่ากัน ผมจะว่าเฉพาะมวลเหล่ามหาประชาชนที่กวักมือเรียกคนพวกนี้เข้ามาต่างหากทั้งๆที่รู้ว่าจะมีอะไร อย่าทำเป็นไม่รู้เรื่อง วางแผนร่วมกันมาแต่แรกแล้ว ตอนนี้คงรู้ไส้ เห็นกันชัดเจนแล้วว่างานราชการคือไซด์ไลน์ การทำธุรกิจนั้นสำคัญกว่า

ถ้าเป็นฝ่ายการเมืองละก็ไม่ได้ ต้องดัดจริตออกมา ใครที่เที่ยวไปด่าสภาผัวเมีย นี่มากันทั้งตระกูลยังเฉยๆ ใครด่า ส.ส.หลับ ขี้เกียจ หาย ไม่มาประชุม ที่นี่ก็มีให้เห็น บางคนขาดประชุมเป็นเดือนๆรับเงินเต็มก็ได้ ทีนี้ไม่ต้องเหนียมกันละ ไปทำธุรกิจในเวลาราชการได้เลย ไม่เห็นแปลก พวกอ้างตัวเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน สื่อคุณภาพ ของจริง ตัวจริงอะไร หายเงียบไปไหนหมด หรือว่ากำลังแทะกระดูกกันปากมันอยู่ครับ

เป็นทั้งความเห็นและคำถามที่ทิ่มตรงไปถึงปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทยว่า ที่ออกมาเดินบนถนนประกาศตัวเกลียดเผด็จการรัฐสภา ไม่เอาสภาผัวเมีย ไม่ชอบพวกนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือในสภา ฯลฯ เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อล้มล้างสภาที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ได้มีหลักการอะไรอย่างที่ปากว่าไว้จริงๆ

ยุคปฏิรูปที่เคยพูดกันถึงขนาดเอาโทรศัพท์มือถือไปเสียบชาร์จไฟในสถานที่ทำงานก็ไม่ได้ เอาซองขาวของราชการใส่เงินช่วยงานบุญ งานบวช งานแต่ง งานศพก็ไม่ได้ ถือว่าทุจริต

แต่ให้ลางานไปทำธุรกิจผลประโยชน์ใส่ตัวได้ นั่งถ่างขาควบ 2-3 เก้าอี้ รับเงินเดือน ค่าตอบแทนอื่นหลายทางได้

ทำให้เกิดคำถามว่าเรากำลังปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าที่ผ่านมา


You must be logged in to post a comment Login