วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

การเมืองสามก๊ก

On February 28, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังเปิดรับจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่สนามการเมืองคงฝุ่นตลบเพื่อแย่งชิงตัวอดีตส.ส.เข้าสังกัด เป็นที่ทราบกันว่ากติกาใหม่เขียนมาเอื้อพรรคเล็กให้ได้เปรียบเรื่องการคิดคำนวณส.ส.สัดส่วน ซึ่งน่าจะได้ส.ส.ส่วนนี้มากกว่าพรรคใหญ่ ถ้ามีเงินส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขตทั่วประเทศยิ่งมีโอกาสได้ส.ส.มาก เมื่อพรรคใหญ่ชนะไม่ขาด พรรคเล็กจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเลือกว่าจะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี หากเลือก “อภิสิทธิ์” ก็ไหลไปรวมกับประชาธิปัตย์ ถ้าเอาคนของพรรคเพื่อไทยก็มารวมกับขั้วนี้ แต่ถ้าไม่เอาข้างไหนเลยก็ต้องล็อบบี้ให้พรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งสนับสนุนคนที่ต้องการให้เป็นนายกฯ การเมืองหลังเลือกตั้งจะเป็นแบบสามก๊ก

หลังจากซุ่มเงียบฟิตซ้อมกันมานานวันที่ 2 มีนาคมที่จะถึงนี้ได้ฤกษ์ได้เวลาเปิดตัวออกสตาร์ตยิ่งชิ่งชื่อพรรคการเมืองใหม่ โดยเฉพาะเชื่อที่ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลทหารคสช. เช่น ประชารัฐ ไทยนิยมน่าจะมีคนจ้องจับจองชื่อเหล่านี้ตาเป็นมัน

ทั้งนี้เพราะต้องการสื่อให้มวลชนบางฝ่ายเห็นว่าเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ “ลุงตู่” ได้ต่อวีซ่านั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้ง

ใครของจริงของปลอมไม่รู้ แต่การคนที่ใช้ชื่อพรรคการเมืองทำนองนี้หวังตีกินเสียงจากมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลทหารคสช. แต่การมีพรรคทำนองนี้มากเกินไปอาจทำให้เปิดปัญหาแย่งชิงคะแนนเสียงกันเอง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีพรรคที่พรีเซ้นต์ตัวเองว่าว่าตั้งขึ้นมาเพื่อต่อวีซ่าให้ “ลุงตู่” แต่ดูเหมือนว่าจะมีเพียงพรรคเดียวที่น่าจับตามองในฐานะของจริง

พรรคที่ว่ายังไม่รู้จะใช้ชื่อพรรคว่าอะไร แต่ที่แน่ๆ จะมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นแกนนำที่ไม่ออกนอกหน้า

ไม่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ไม่รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค แต่จะดำรงตำแหน่งเป็นผู้มีอิทธิพลภายในพรรคสามารถกำหนดทิศทางของพรรคได้

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ที่ห้ามคนไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเข้ามายุ่งเกี่ยวชี้นำกิจการภายในพรรค หากฝ่าฝืนมีโทษถึงยุบพรรค อาจทำให้นายสุเทพ ต้องยอมใส่ชื่อไว้ในพรรค อาจเป็นเพียงสมาชิกพรรคธรรมดา หรือรับตำแหน่งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค

การเปิดรับจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคมนี้เป็นนไป นอจากจะทำให้มองเห็นภาพการเมืองชัดขึ้นในระดับหนึ่งว่าใครเป็นใครสายไหนมีแนวทางการเมืองอย่างไร

นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่เริ่มให้พรรคการเมืองเก่าทำกิจกรรมด้วยการยืนยันความมีอยู่จริงของสมาชิกพรรค ซึ่งคนที่ยังต้องการสวมเสื้อพรรคนั้นๆใส่ลงสนามการเมืองจะต้องยืนยันความเต็มใจเป็นสมาชิกพรรค หากไม่ยืนยันถือว่าขาดจากการเป็นสมาชิก

เป็นระยะเวลาที่น่าลุ้นว่าแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเหลือสมาชิกอยู่กี่มากน้อย โดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์

ในซีกของพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่ามีสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งได้ประกาศแยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ในนามพรรคพลังพลเมืองนำโดย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ โดยชูจุดขายพรรคคือการลดความขัดแย้ง เพื่อประสานงานกับทุกภาคส่วน ลดความเหลื่อมล้ำความเป็นอยู่ของประชาชน

เป็นพรรคกลางๆที่พร้อมผสมเข้าได้กับทุกฝ่ายที่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแนวทางพรรคแบบนี้ในอดีตมีเยอะไม่ต้องเป็นพรรคใหญ่ แค่มารวมกลุ่มกันได้ให้ส.ส.จำนวนหนึ่งก็ได้เป็นรัฐบาลผสมทุกสมัยไม่ว่าขั้วไหนชนะเลือกตั้ง

จึงน่าสนใจว่าพรรคที่มีแนวทางแบบนี้จะดูดอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ เข้ามาร่วมชายคาได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในพรรคเพื่อไทยที่จะว่าไปแล้วก็มีอดีตส.ส.ที่มีแนวทางการเมืองแบบเหยียบเรือสองแคมอยู่ไม่น้อย

อีกพรรคที่น่าจับตาคือพรรคประชาธิปัตย์ที่จะได้รับผลกระทบจากการตั้งพรรคของนายสุเทพ

เป็นที่รู้กันดีว่าทั้งพรรคประชาธิปัตย์และนายสุเทพต่างมีฐานการเมืองเดียวกันคือภาคใต้ การมีตัวเลือกมากกว่าหนึ่งอาจทำให้เสียงคนภาคใต้แยกเป็นสองส่วน

อย่างไรก็ตามแม้เสียงคนภาคใต้จะแตกเป็นสองส่วนแต่จะไม่ส่งผลกระทบอะไรเลยหากสุดท้ายแล้วพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคใหม่ของนายสุเทพจับมือกันตั้งรัฐบาล

อุปสรรคเดียวที่อาจทำให้ไม่สามารถจับมือกันได้คือเรื่องตัวบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันหนุนนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ขณะที่นายสุเทพ หากหนุนนายอภิสิทธิ์คงไม่คิดดึงคนในบ้านเก่าออกมาสร้างบ้านใหม่

ทั้งนี้ทั้งนั้นผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวแปรที่สำคัญเพราะตามกติกาใหม่เขียนมาเอื้อต่อพรรคการเมืองขนาดเล็กที่จะได้เปรียบเรื่องการคิดคำนวนส.ส.สัดส่วนซึ่งน่าจะได้ส.ส.ส่วนนี้มากกว่าพรรคใหญ่

ถ้ามีเงินส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขตทั่วประเทศยิ่งมีโอกาสได้ส.ส.มาก เมื่อพรรคใหญ่ชนะไม่ขาด พรรคเล็กจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเลือกว่าจะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี หากเลือกนายอภิสิทธิ์ก็ไหลไปรวมกับประชาธิปัตย์ ถ้าเอาคนของพรรคเพื่อไทยก็มารวมกับขั้วนี้

แต่ถ้าไม่เอาข้างไหนเลยก็ต้องลอบบี้ให้พรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งสนับสนุนคนที่ต้องการให้เป็นนายกฯ

การเมืองหลังเลือกตั้งจะเป็นแบบสามก๊กแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login