วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ยิ้มได้ไม่สุด

On March 2, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเลือกตั้งตามโรดแม็พแม้จะมีพรรคการเมืองทั้งพรรคเก่าพรรคใหม่กว่า 100 พรรค แต่ที่แข่งกันจริงๆจะไม่มีไม่กี่พรรค ซึ่งความน่าสนใจคงไม่พ้นการแข่งกันเองระหว่างพรรคใหม่ของ “ลุงกำนัน” กับต้นสังกัดเก่าอย่างประชาธิปัตย์ ไม่ใช่น่าสนใจแค่ว่าใครจะเข้าป้ายเป็นที่สอง แต่น่าสนใจในกลยุทธ์ชิงอดีตส.ส.เข้าสังกัด น่าสนใจในกลยุทธ์หาเสียง ตกปลาบ่อเดียวกัน เตะตัดขากันเอง คนที่จะนั่งยิ้มคือพรรคเพื่อไทยเพราะในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน ไม่มีคู่แข่งมาแบ่งเค้กจำนวนส.ส. อย่างไรก็ตามคงยิ้มได้ไม่สุด เพราะการชนะเลือกตั้งกับการได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลมันคนละเรื่องกัน

ถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะลั่นวาจามาแล้วว่าไม่มีนโยบายคว่ำกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้าย และการเลือกตั้งใหญ่จะมีภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

แต่ทุกอย่างจะเป็นไปดังวาจาท่านผู้นำหรือไม่ต้องรอลุ้นกันในวันที่ 8 มีนาคม ที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะประชุมเพื่อลงมติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) สองฉบับสุดท้ายคือ ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

หากที่ประชุมชูรักแร้รับรองให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับผ่านความเห็นชอบก็มั่นใจได้ 99% ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนด ส่วนอีก 1% เหลือไว้ให้ความผันผวนที่อาจเป็นปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามาทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก

ทั้งนี้เท่าที่ติดตามการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายประกอบด้วย สนช. ตัวแทนกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตัวแทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะผ่านไปอย่างราบรื่น ประเด็นที่คาดว่าน่าจะเป็นปัญหาก็ไม่ได้ทำให้เกิดข้อโต้แย้งถึงขนาดที่ว่าต้องไปวัดใจ สนช.ในการโหวตลงคะแนน

ทำให้คาดการณ์ได้ว่าร่างพ.ร.ป.สองฉบับสุดท้ายจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ไม่ถูกคว่ำให้กลับไปยกร่างมาเสนอใหม่ค่อนข้างแน่

การเมืองกำลังเดินไปตามสเต็ปที่ควรจะเป็น

เมื่อธงเลือกตั้งค่อนข้างเห็นชัดแล้วความคึกคักจะไปอยู่ที่ฝ่ายการเมือง เริ่มต้นจากวันนี้ (2 มี.ค.) สำนักงานกกต.น่าจะมีความเคลื่อนไหวแต่เช้ามืดเพื่อไปแย่งคิวจับจองชื่อพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นมาใหม่

มีการคาดการณ์กันว่าจะมีพรรคการเมืองเกิดใหม่ไม่น้อยกว่า 20-30 พรรค เมื่อรวมกับพรรคเก่าที่มีอยู่ 70 พรรค ประชาชนจะมีตัวเลือกในการเลือกตั้งกว่า 100 พรรค

แม้จะมีพรรคการเมืองจำนวนมาก แต่จะมีเพียงไม่กี่พรรคที่เป็นคู่แข่งขันกันในสนามเลือกตั้ง ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มหัวตารางแย่งอันดับ 1-3 จะเป็นการแข่งกันระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคตั้งใหม่ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

กลุ่มกลางตารางแย่งอันดับ 4-6 จะเป็นการแข่งกันระหว่างพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติไทย และพรรคพลังพลเมืองพรรคน้องใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มอดีตส.ส.หลายพรรค

กลุ่มท้ายตารางจะเป็นการแข่งกันระหว่างพรรคพลังชล และพรรคอื่นๆ

ความน่าสนใจอยู่ที่การแข่งขันกันของกลุ่มหัวตารางและกลางตาราง พรรคของนายสุเทพ ประกาศเป้าหมายแล้วว่าไม่หวังเข้าป้ายเป็นที่หนึ่งแต่หวังชิงตำแหน่งที่สอง เพื่อให้ได้สิทธิแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อพรรคนายสุเทพตั้งเป้าหมายไว้แบบนี้พรรคกลุ่มกลางตางรางจึงมีความสำคัญค่อนข้างมากเพราะเป็นตัวแปรยกพวกไปจับมือฝ่ายไหนฝ่ายนั้นก็จะได้เป็นรัฐบาลทันที

แต่การที่พรรคนายสุเทพจะเข้าป้ายเป็นที่สองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องผ่านด่านพรรคประชาธิปัตย์ไปก่อน และจากการที่พรรคนายสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงเดียวกันคือในภาคใต้และกรุงเทพฯ จะทำให้จำนวนส.ส.ของสองภาคถูกแบ่งออกไป

การแข่งกันเป็นที่สองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคนายสุเทพจึงน่าสนใจยิ่ง ไม่ใช่น่าสนใจแค่ว่าใครจะเข้าป้ายเป็นที่สอง แต่น่าสนใจในกลยุทธ์ชิงอดีตส.ส.เข้าสังกัด น่าสนใจในกลยุทธ์หาเสียง

แย่งปลาบ่อเดียวกัน เตะตัดขากันเอง คนที่จะนั่งยิ้มคือพรรคเพื่อไทยเพราะในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน ไม่มีคู่แข่งมาแบ่งเค้กจำนวนส.ส. อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยคงยิ้มได้ไม่สุดมุมปาก ถึงชนะเลือกตั้งแต่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ พรรคกลุ่มกลางตารางจะเป็นผู้ให้คำตอบ


You must be logged in to post a comment Login