- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 18 hours ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 18 hours ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 19 hours ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 19 hours ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 2 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 5 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 6 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 7 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 1 week ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 1 week ago
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ “โรดแมป” การเมือง
หนึ่งในนักธุรกิจที่ชอบคิดการใหญ่และสนุกกับการบริหารความเสี่ยง ต้องยกให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เคยลั่นวาจาไว้ว่าพร้อมเล่นการเมืองหากจำเป็น ท่ามกลางโรดแมปเลือกตั้งที่เลื่อนไปเรื่อย ๆ บีบีซีไทยชวนเขาเปิดโรดแมปชีวิต เช็คโอกาสที่ “ไพร่หมื่นล้าน” จะผันตัวเป็น “นักการเมืองสตาร์ทอัพ”
ในโลกธุรกิจ.. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหาร ไทยซัมมิท กรุ๊ป ตั้งเป้านำรายได้ไทยซัมมิททะยานสู่ตัวเลข 1.1 แสนล้านบาท ในปี 2564 หลังคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจประกอบชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์มานาน 18 ปี
ในโลกนักผจญภัย.. ธนาธรผู้หลงใหลในกิจกรรมผจญภัยทุกรูปแบบ ประกาศพา 10 คนไทยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการปักธงไตรรงค์ที่ขั้วโลกใต้เป็นกลุ่มแรก-เป็นประเทศที่ 19 ในเดือน พ.ย. 2561 นี้ ภายใต้โครงการ TJ’s True South เพื่อจุดประกายให้เกิดวัฒนธรรมการแสวงหา การเผชิญโลกภายนอก ที่สำคัญคือการไปยืนอยู่ในจุดที่ยังไม่เคยมีใครไปถึง
- ส่อเลื่อนวันเลือกตั้งครั้งที่ 4 จะมีใครเป็น “โมฆะบุรุษ”
- ประยุทธ์ลั่น “ผมไม่ใช่นักการเมือง” 9 ครั้ง ก่อนเปิดตัวเป็นนักการเมือง
- “ไพร่หมื่นล้าน” จับมือ สมาชิก “นิติราษฎร์” เปิดตัวพรรคใหม่
“ผมคิดว่าเป้าหมายต้องยาก ท้าทาย และมีความหมาย เป้าหมายง่าย ๆ มันไม่ค่อยมีประโยชน์อะไร เดินทางไปขั้วโลกใต้ยากแน่นอน ท้าทายแน่นอน และมีความหมายเพราะยังไม่มีคนไทยไปถึง เอเวอร์เรสต์มีคนไทยเคยไปถึงแล้ว ที่มันมีความหมายเพราะสามารถจุดประกายเล็ก ๆ ว่าเรื่องที่ยากขนาดนี้ ยังเคยมีคนคิดทำ” ธนาธรกล่าวกับบีบีซีไทย ก่อนออกเดินทางครั้งใหม่ไปยังจุดใต้สุดของโลก
ในฐานะคนชอบเสี่ยง การสัมผัสชีวิตที่อยู่อีกเพียงก้าวเดียว ณ ขอบเหว ไม่เพียงเป็นบททดสอบความกลัวและความกล้าในจิตใจ แต่ยังทำให้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง
ทว่าเกือบครึ่งชีวิต ของนักธุรกิจหนุ่ม-นักผจญภัยวัย 39 ปีผู้นี้ โลกที่เขาไม่เคยละทิ้งความสนใจ-ไม่เคยหยุดแสวงหาคือโลกการเมือง ถึงขั้นเคยประกาศพร้อมเล่นการเมือง “ถ้าจำเป็น และถ้ามีสถานการณ์”
น่าสนใจว่ามีเหตุ-ปัจจัยอะไรที่จะทำให้เขากระโจนสู่การเมือง ในจังหวะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมเปิดให้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ตั้งแต่ 1 มี.ค. นี้
คำตอบของธนาธรคือ “ต้องรอดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมดก่อน ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนในการตัดสินใจ”
“ภารกิจที่ต้องทำ” ในเวทีเลือกตั้ง
3 ปี 9 เดือน ภายใต้สถานการณ์ “การเมืองปิด” หลังการยึด-กุมอำนาจโดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนาคตการเลือกตั้งยังไม่แน่ชัดแม้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นฉบับ “เกลียด-กลัว-กีดกัน”นักการเมือง หลายคนมองไม่เห็นโอกาสสำหรับนักการเมืองหน้าใหม่ โดยเฉพาะขั้วตรงข้าม คสช. แต่ธนาธรผู้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540, 2550 และ 2560 เป็นงานอดิเรก เห็นต่าง
“ผมคิดว่าโอกาสมี ที่สำคัญมันไม่ใช่โอกาสด้วย มันเป็นภารกิจที่ต้องทำ” เขาระบุ
ธนาธรขยายความว่า ขณะนี้สังคมไทยมีปัญหาหนักและเป็นวิกฤตรุนแรงกว่าครั้งไหน ๆ นับจากปฏิวัติสยาม 2475 เป็นต้นมา หัวใจของวิกฤตครั้งนี้คือการไม่มีฉันทามติว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ต่างจากสังคมตะวันตกที่มีค่านิยมเรื่องสิทธิมนุษยชน 1 คน 1 เสียงเท่ากัน เป็นประชาธิปไตย หล่อหลอมให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้
“ถ้าคุณเชื่อในอะไรบางอย่างที่เรียกว่าค่านิยมสากล คุณก็ต้องเชื่อว่าอำนาจในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน” ธนาธรคิดดัง ๆ แต่สิ่งที่เขาเห็นคือมีคนหลากหลายกลุ่มออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลรัฐประหารอยู่ต่อ โดยปฏิเสธจะพูดถึงข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาความขัดแย้งที่ยังไม่ถูกจัดการ
“รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นภาคสองของระบอบ คสช. ซึ่งจะไม่ได้จบที่การเลือกตั้ง ระบอบ คสช. จะอยู่กับเราตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อยู่ การดำรงอยู่ของ คสช. ไม่ได้แก้ปัญหา สิ่งที่เราเห็นความสงบสุข เป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้นเอง”
นี่คือเหตุผลที่นำมาสู่บทสรุปของธนาธรที่ว่า ผู้รักในสิทธิเสรีภาพต้องยืนหยัดเพื่อสร้างค่านิยมประชาธิปไตย คนหนุ่มสาวต้องมีพื้นที่ยืนทางการเมืองในเวทีเลือกตั้งเพื่อเรียกร้องอนาคตที่สูญเสียไปจากความขัดแย้งในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา
สิ้นสุด Facebook โพสต์ โดย Piyabutr
“ผมคิดว่ามันจำเป็นต้องทำ เราไม่สามารถยืนอยู่เฉย ๆ แล้วเฝ้าดูสังคมไทยล่มสลายไปต่อหน้าต่อตาได้อีกต่อไป” คำกล่าวที่คล้ายเป็นคำเฉลยอนาคตของนักธุรกิจหนุ่มรายนี้
ชวนสนับสนุนนักการเมือง “สตาร์ทอัพ” กับความเสี่ยงสูงสุด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้แต่นักการเมืองอาชีพยัง “เสียเพื่อน-เสียพรรค-เสียนาย” ในจังหวะที่การเมืองรบพุ่ง แล้ว “นักการเมืองสตาร์ทอัพ” ไม่เสี่ยงเสียเงิน-เสียชื่อหรือ ? นักธุรกิจหมื่นล้านแย้งทันควันว่าอย่าไปปรามาสเขา คนที่ตั้งใจเข้ามาทำงาน คณิตศาสตร์ทางการเมืองพวกนี้ เขาดีดลูกคิดมาหมดแล้ว ถ้าเขาพร้อมที่จะรับความเสี่ยง เราต้องสนับสนุนเขา
ในฐานะนักบริหารความเสี่ยง ธนาธรประเมินว่าความเสี่ยงสูงสุดสำหรับคนหน้าใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่โลกการเมือง คือการท้าชนกับชนชั้นนำที่มีพลังอำนาจเหนือกว่าประชาชนทั่วไป
“ถ้าเราจะเดินไปข้างหน้า เราปฏิเสธไม่ได้หรอกที่จะต้องทิ้งสัมภาระบางอย่างที่หนัก ล้าหลัง และไม่สอดรับกับโลกที่มันหมุนไป บางทีจำเป็นต้องตัดอะไรพวกนี้ออก มันหลีกไม่พ้นในระดับหนึ่งที่คุณจะต้องชนกับผู้สูญเสียประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางอำนาจการเมือง กับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้นที่เราอยากเห็น มันหนีไม่พ้นหรอกที่คุณต้องชน ปัญหาคือคนกลุ่มนี้ที่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชนธรรมดา ตรงนี้คือความเสี่ยง เมื่อคุณไปแตะต้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เมื่อคุณไปแตะต้องที่มาของอำนาจคนเหล่านี้ นี่คือความเสี่ยงสูงที่สุด” เขากล่าว
จาก “แนวกันชน” สมัชชาคนจน ถึงฉายา “ไพร่หมื่นล้าน”
ย้อนไปปี 2543 ภาพนักศึกษาหนุ่มผมยาว-มาดเซอร์ยืนเป็น “แนวกันชน” ระหว่างกลุ่มสมัชชาคนจนกับตำรวจหน้าทำเนียบรัฐบาล ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทราบในภายหลังว่านักศึกษาคนนั้นชื่อธนาธร ผู้เป็นรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และทายาทของอาณาจักรไทยซัมมิทนั่นเอง
เมื่อความคิดขบถเริ่มก่อตัว พร้อม ๆ กับการเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบโรแมนติก และการเชิดชูวาทกรรมท้องถิ่นนิยมเพื่อต่อต้านเสรีนิยม เด่นชัดอย่างยิ่งในสังคมไทยหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ธนาธรจึงโดดไปร่วมเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนนร่วมกับ “คนข้างล่าง” อีกหลายกลุ่ม เป็นช่วงเวลาที่เขานิยามว่า “ทะเลาะกับพ่อแม่บ่อยที่สุด” ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ก่อนที่ทุกอย่างจะสงบลงเมื่อต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ และกลับมาเป็นผู้บริหารหมายเลข 2 ของอาณาจักรไทยซัมมิทหลังบิดาเสียชีวิตลง ต้องสวมสูท-ผูกเนคไท
ถึงวันนี้ ธนาธรยอมรับว่าความคิดทางการเมืองเปลี่ยนไปมากหลังเห็นโลกกว้างขึ้น-ลึกขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่เขาชี้ว่าเป็นการเผยธาตุแท้ของกลไก “อประชาธิปไตย” ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย
“ผมว่าองค์ประกอบที่เป็นอประชาธิปไตยทั้งหมดในสังคมไทย มันน่าจะมารวมอยู่แถว ๆ ช่วงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แล้วก็มีการชูเรื่องใช้มาตรา 7 (ขอนายกฯ พระราชทาน) เข้ามาจัดการกับปัญหาการเมืองตอนนั้น”
ทว่าสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปของเขาคือการจัดตัวเองอยู่ในกลุ่ม “คนข้างล่าง” กลายเป็นที่มาของฉายา “ไพร่หมื่นล้าน” ที่ได้ติดตัวในช่วง นปช. เปิดฉากทำสงคราม “ไพร่-อำมาตย์” เมื่อปี 2553
5 เรื่องน่ารู้ของ “ไพร่หมื่นล้าน”
- 39 ปี อายุในปัจจุบัน
- 3 สาขา ป.โท กฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ, การเงินระหว่างประเทศ, เศรษฐศาสตร์การเมือง
- 3 ตำแหน่ง รองประธานไทยซัมมิทกรุ๊ป, กรรมการ บมจ.มติชน, กรรมการ สอท.
- 4 ฉบับ นสพ. ที่ขาดไม่ได้ทุกวัน – นิวยอร์ก ไทมส์, ไฟแนนเชียล ไทมส์, กรุงเทพธุรกิจ, มติชน
- 25 อันดับความมั่งคั่งที่ดีที่สุดของตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ตามการจัดอันดับของฟอร์บส์
“ถ้ามีอำนาจต้องถูกตรวจสอบ ลงโทษ และถอดถอนได้ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งในประเทศที่มีอำนาจ แต่ไม่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ ดังนั้นโดยนิยาม พวกนี้คืออำมาตย์ คือคนที่มีอำนาจ แต่ไม่ยึดโยงกับประชาชน สำหรับผม ต่อให้รวยแค่ไหน ถ้าไม่มีอำนาจเหนือคนทั่วไปก็คือไพร่” ธนาธรย้ำ
ในปี 2556 สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มไทยซัมมิท ผู้เป็นมารดาของธนาธร ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 25 ของไทย ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 2.34 หมื่นล้านบาท
แท้จริงแล้วการเมืองในอุดมคติของธนาธรเป็นอย่างไร เขาตอบว่า ไม่มี เพราะเป็นสิ่งที่ต้องพูดกันหลังจากสถาปนาความเป็นประชาธิปไตยคืนสังคมไทยแล้ว
“ปัญหาคือวันนี้มันไม่มีเวทีสำหรับทุกคน คนที่คิดแบบเดียวกับ คสช. เท่านั้นที่มีพื้นที่ในการพูด คนที่คิดต่างอยู่ที่ไหน ต้องไปรายงานตัวที่ สน. นั้นนี้ตลอดเวลา” ธนาธรผู้เคยรุดไปให้กำลังใจนักศึกษาที่ สน.ปทุมวัน เมื่อปี 2558 กล่าว
ในครั้งนั้น เขาถูกกล่าวหาว่าเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ของนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่าขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกจับกุมจากการจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร อย่างไรก็ตามธนาธรได้ปฏิเสธเรื่องการเป็น “นายทุนขบวนการนักศึกษา” โดยให้เหตุผลว่าการเดินทางไป สน.ปทุมวัน ทำในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิและอิสระในความคิดความเชื่อของตนเอง
มาถึงปี 2561 เป็นอีกครั้งที่นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ถูกดำเนินคดีหลังจัดกิจกรรมชุมนุมเมื่อ 27 ม.ค. และ 10 ก.พ. เพื่อทวงสัญญาเลือกตั้งในปีนี้ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยลั่นวาจาไว้ ธนาธรเห็นว่า “คนที่ออกมายืนหยัดพูดเรื่องประชาธิปไตย เสียสละพอสมควรในการมายืนอยู่ ณ จุดนี้ในเวลานี้”
ขณะเดียวกันการมีฉันทามติและการสร้างค่านิยมประชาธิปไตยที่เขาชวนคนไทยกำหนดอาจเกิดขึ้นได้ “ด้วยพลังแห่งเวลา คือนาฬิกา”
เมื่อถามว่า ระหว่างปีนเขาที่ขั้วโลกใต้ กับพูดเรื่องประชาธิปไตยในไทย อะไรมีความเสี่ยงมากกว่ากัน ธนาธรอุทาน “โอ้โห! อย่างหลังแน่นอน” ก่อนระเบิดเสียงหัวเราะปิดท้ายการสนทนา
เปิดวิธีคิดผู้ชายที่มีหลากหลายตัวตน
- นักผจญภัย : เส้นแบ่งระหว่างความกล้าหาญกับความบ้าคลั่งของเขาอยู่ที่ “ต้องกลับบ้านอย่างปลอดภัย” ในเวลาที่นาทีเป็น-นาทีตายใกล้กันจะคิดเสมอว่า “ต้องไม่ตาย”
- นักธุรกิจ : ไม่เคยเอาการเมืองมายุ่งกับบริษัท ไม่เคยโปรโมทพนักงานด้วยแนวคิดทางการเมือง ไม่ว่าใครจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบใด จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
- เพื่อนโอ๊ค พานทองแท้-หลานสุริยะ : ได้พิสูจน์ตัวเองมาหลายปีแล้วว่าสิ่งที่พูด ทำ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร ดังนั้น “ผมยักไหล่กับฉายานี้”
- แอคติวิสต์ซ้ายจัด: ในยุคที่เติบโตมา คนที่ชื่นชมแนวคิดแบบสังคมนิยมอาจมีน้อย พอเขาสมาทานความคิดนี้ก็เลยถูกป้ายว่าเป็นซ้ายจัด ทั้งที่ถ้าอยู่ในสังคมตะวันตกก็เป็นแนวคิดหนึ่ง ไม่ใช่สุดโต่ง
- นายทุน “ฟ้าเดียวกัน” : ไม่เป็นไร เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง
ที่มา: ธนาธรให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย
You must be logged in to post a comment Login