วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ทุนนิยมกับประชาธิปไตย / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On March 5, 2018

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

สังคมโลกภายใต้ทุนนิยมและประชาธิปไตยมักตกเป็นเครื่องมือและอยู่ในการควบคุมของชนชั้นสูงซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคม ซึ่งเมื่อพิจารณาด้วยวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ทางการเมือง กลุ่มอภิสิทธิ์ชนมักทำตัวสวนกระแสประวัติศาสตร์ จึงเกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรงทางการเมืองที่จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวงวัฏของประวัติศาสตร์ในการคลี่คลายปัญหาของชาติในแต่ละชาติ

เราพิจารณาได้จากประวัติศาสตร์ของโลก เช่น อาณาจักรโรมันในอดีตมีพวกชนชั้นสูงที่โค่นล้มอำนาจกษัตริย์แล้วยกสถานะตนเข้าทำหน้าที่ในฐานะผู้ปกครองแทน

ในทางวิชาการหากเราศึกษาถึงประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีชนชั้นปกครองที่เรียกว่าพวกโชกุนได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นไม่มีปัญหาอะไรที่เป็นความขัดแย้งเกิดขึ้น เนื่องจากพวกโชกุนคือพวกเจ้าที่ดินนั่นเอง

จึงมีข้อสังเกตว่า ในสังคมใดที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มีความยึดโยงเกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตและความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลง สังคมนั้นๆก็จะสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีเหตุมีผล

อย่างสมัยโรมันที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพวกอภิสิทธิ์ชนที่โค่นล้มอำนาจของกษัตริย์ ทั้งที่ไม่มีความรู้ ขาดความเข้าใจในกระบวนการผลิต ไม่รู้จักรายละเอียดของกระบวนการผลิตเพียงพอที่จะขับเคลื่อนและบริหารบ้านเมือง การก้าวขึ้นสู่อำนาจจึงชักนำทั้งความวุ่นวายและความขัดแย้งเข้ามาในบ้านเมือง

ทำนองคล้ายกันในฝรั่งเศส เมื่อนโปเลียนที่ 3 พยายามอาศัยเครดิตของบรรพบุรุษเพื่อกระโจนสู่สนามทางการเมือง ก็ตามมาด้วยความขัดแย้งและวุ่นวายในท้ายที่สุด

โลกยุคนี้จึงมีคำถามตามมามากว่า เราจะเป็นประชาธิปไตยกันแบบไหน จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอย่างไร และมีเป้าหมายเพื่อใคร?

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาติใด บ้านเมืองใดในโลกนี้ หากผู้ปกครองไม่เข้าใจเรื่องของปัจจัยการผลิต ความสัมพันธ์ทางการผลิต และที่สำคัญไม่รู้จะเป็นประชาธิปไตยอย่างไรและเพื่อใคร? ก็นับว่าเสี่ยงต่อบ้านเมืองอย่างมากหากตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการของอำนาจ

จึงเป็นคำถามถึงประชาธิปไตยและการขับเคลื่อนชาติบ้านเมืองในอนาคต โดยสรุปแล้วการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุนนิยม ควรต้องมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและส่วนรวมในแต่ละชาติ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับหรือเป็นเครื่องมือของเครือข่ายกลุ่มทุนผูกขาดอำนาจที่เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคมอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะเกิดความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาอย่างแน่นอน

บางประเทศที่พวกขุนศึกก่อการรัฐประหาร แม้แต่ยุคที่ขุนศึกแย่งชิงอำนาจจากฝ่ายราชวงศ์ เราก็อาจกล่าวได้ว่าระบอบการปกครองและการขับเคลื่อนบริหารเศรษฐกิจนั้น ฝ่ายขุนศึกจะสร้างความเละเทะไร้ศักยภาพยิ่งกว่าฝ่ายราชวงศ์เสียอีก แต่ทั้งฝ่ายราชวงศ์และฝ่ายขุนศึกต่างก็ถักทอเครือข่ายกลุ่มก้อนของตัวเองเป็นระบอบอุปถัมภ์ไม่ต่างกันนัก

เหตุผลที่ฝ่ายศักดินาหรือฝ่ายราชวงศ์ดูทิศทางการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจได้ดีกว่าฝ่ายขุนศึก เนื่องจากหลายเหตุผล เช่น ฝ่ายราชวงศ์มีทุนของตัวเอง รู้จักการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต แต่กลุ่มขุนศึกมักไม่ประสีประสาเรื่องของทุน ไม่ค่อยมีการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ทางการผลิต โดยส่วนใหญ่ฝ่ายขุนศึกมักกระทำตนเป็นนายทุนนายหน้าเสียมากกว่า หรือใช้อำนาจทางการบริหารในแบบการมุ่งรับใช้หรือคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นเครือข่ายของพวกตน กรณีนี้อาจศึกษาได้จากประเทศที่ฝ่ายขุนศึกเข้าสู่อำนาจการบริหาร ซึ่งมักล้มเหลวในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ดำเนินการอย่างสะเปะสะปะและล้มเหลวจนสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจบ้านเมืองในที่สุด

จีนคือประเทศสังคมนิยม แต่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ด้วยทุนนิยม จนจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันไปแล้ว ตรงนี้น่าจะเป็นมุมมองและข้อสังเกตว่าถึงที่สุดแล้วแต่ละประเทศต่างมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนทุนของตัวเองอย่างไรและมีเป้าหมายเพื่อใคร คล้ายกับเรื่องของประชาธิปไตยซึ่ง Arnold Toynbee เคยกล่าวไว้ว่า ระบอบประชาธิปไตยในแต่ละประเทศจะเป็นประชาธิปไตยอย่างไร เป็นเผด็จการ กึ่งเผด็จการ หรือเป็นทรราช สิ่งเหล่านี้คือประกาศนียบัตรในแต่ละประเทศ แต่การบริหารประเทศย่อมขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆเป็นสำคัญ

เรื่องของทุนนิยมโดยรัฐตามคำกล่าวของ Oswald Spengler ที่บอกว่าแท้จริงนั้นระบอบสังคมนิยมก็คือทุนนิยมของคนชั้นล่าง จุดนี้สะท้อนได้ชัดเจนถึงวิถีขับเคลื่อนของทุนนิยมว่าแท้จริงมีเป้าหมายเพื่อใครต่างหาก คล้ายกับคำตอบเรื่องประชาธิปไตยคือประชาธิปไตยของชนชั้นสูงในแต่ละประเทศ ซึ่งแน่นอนมันคือวุฒิภาวะของประชาธิปไตยที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศตามทรรศนะของ Arnold Toynbee

โดยสรุปทิศทางและเป้าหมายของการขับเคลื่อนทั้งประชาธิปไตยและทุนนิยมจะมุ่งไปอย่างไร และให้รับใช้อะไร ล้วนขึ้นอยู่กับ mind set หรือพฤติกรรมที่ส่งผลมาจากกลุ่มผู้ควบคุมและมีอำนาจรัฐในมือในสถานการณ์ช่วงนั้นๆ จึงหนีไม่พ้นสำนึกในทางการเมืองและสำนึกทางชนชั้นนั่นเอง!


You must be logged in to post a comment Login