วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สะดุดขาตัวเอง?

On March 8, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

พรรคการเมืองน้องใหม่กระแสแรงตั้งแต่ยังไม่มีชื่อพรรคของ “ธนากร-ปิยบุตร” มีความน่าสนใจว่ามีความพร้อมที่จะโดดลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งหรือไม่เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขกฎหมายพรรคการเมืองที่กำหนดให้ต้องหาสมาชิกระดับจังหวัด ระดับภาคจำนวนมากในกรอบเวลาที่จำกัด การไม่มีมือไม้ทำงานให้ในท้องถิ่นจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะหาสมาชิกได้ตามจำนวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สมาชิกต้องเสียเงินบำรุงพรรค และชื่อของ “ธนากร-ปิยบุตร” ก็ป๊อปปูล่าแต่เฉพาะในเขตเมือง ปัญหาเรื่องสมาชิกพรรคอาจทำให้สะดุดขาตัวเองได้

กระแสแรงถึงขั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องจับตา สำหรับพรรคการเมืองใหม่ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล

ได้รับความสนใจมากแค่ไหนดูได้จาก หัวข้อร้อนสังคมออนไลน์ ที่ต่างพากันติดแฮชแท็ก #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค ซึ่งก็มีคนมาเสนอความเห็นเป็นจำนวนมาก

แน่นอนว่าเมื่อแนวของนายธนากร นายปิยบุตร ไม่ใช่แนวทางสนับสนุน “ลุงตู่” กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ และคนที่ให้การสนับสนุนส่วนมากอยู่ในกลุ่มเสื้อแดง จึงอยู่จับวางตำแหน่งให้อยู่ตรงข้ามกับขั้วอำนาจปัจจุบัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า คสช.จับตาดูการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียของนายธนากรอยู่

“คสช. คงจับตาดูอยู่ ถ้าไปถึงจุดที่ล้ำเส้นเมื่อไหร่ ก็คงจะเตือน แต่ถ้าเกินจากนั้นต้องเชิญมาห้ามปราม”

จุดล้ำเส้นที่นายวิษณุพูดถึงคือการตีความการเปิดตัวให้สัมภาษณ์เป็นการหาเสียงทั้งที่คสช. ยังไม่ปลดล็อกทางการเมือง

หากมีการเตือนหรือเชิญมาห้ามปรามเกิดขึ้นจริงจะยิ่งแสดงตำแหน่งพรรคใหม่ของนายธนากรชัดเจนขึ้น เมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหวหรือการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตามพรรคใหม่กระแสแรงตั้งแต่ยังไม่มีชื่อพรรค ยังไม่ยื่นแจ้งความจำนงค์ขอตั้งพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจถูกตลบหลังให้เป็นพวกเสียงดีไม่มีคะแนน

แม้จะมีความพร้อมที่จะตั้งพรรค แต่ความพร้อมที่จะทำให้พรรคเป็นรูปเป็นร่างและพร้อมที่จะส่งตัวแทนลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งถือว่าน่าเป็นห่วง

ในการตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้นไม่ใช่เดินไปยื่นเอกสารกับกกต.แล้วจบ หากจะส่งตัวแทนลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งต้องหาสมาชิกในสาขาภาค 4 ภาคให้ได้ ภาคละ 500 คน หาตัวแทนในระดับจังหวัดให้ได้อีก จังหวัดละ 100 คน รวมทั่วประเทศต้องหาสมาชิกในส่วนนี้ให้ได้ รวม 7,700 คน

หากเขตไหนหาไม่ได้ก็ส่งผู้สมัครส.ส.ในเขตนั้นไม่ได้

“หาก โรดแม็พ เร็วกว่าที่คิด เช่น หากนายกรัฐมนตรีสามารถทูลเกล้าฯ ได้ภายใน 15 มีนาคม 2561  และหากมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาภายใน 1 เดือน ไม่ใช่กรอบเต็ม 3 เดือนตามกฎหมาย    นับจากกลางเมษายนนี้  ปฏิทิน 90 วันที่ชะลอใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จะเริ่มนับ  และตามด้วยการเลือกตั้งใน 150 วัน  และ ถ้า กกต.ไม่ใช้เวลาเต็ม 150 วัน ในการจัดการเลือกตั้ง วันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปลายปี 2561  ตัวเลขเวลาที่ปลอดภัยในการเตรียมการของทุกฝ่ายจะสั้นลง”

เป็นเสียงเตือนจาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติกันในวันนี้ (8 มี.ค.)

ความเป็นคนรุ่นใหม่มีแนวคิดก้าวหน้าของนายธนากรและนายปิยบุตรมีทั้งความได้เปรียบและเสียเปรียบในสนามการเมือง

ความได้เปรียบคือการได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจนเป็นพรรคกระแสแรงอย่างที่เห็น

แต่ความเสียเปรียบคือการที่ไม่มีมือไม้ในระดับจังหวัด ระดับตำบล ระดับหมู่บ้านคอยทำงานในพื้นที่ให้ ซึ่งจะทำให้การหาคนมาเป็นสมาชิกให้ได้ตามจำนวนที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่กฎหมายกำหนดให้สมาชิกต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกให้กับพรรคที่สังกัด

ถึงจะเปิดตัวแรงแต่การจะเร่งโตเป็นพรรคใหญ่นั้นไม่ง่าย เมื่อไม่เป็นพรรคใหญ่มีส.ส.ในมือไม่มาก หรือถ้าไม่ได้ส.ส.เลยก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันแนวคิดนโยบายดีๆที่พูดไว้ให้เป็นผลทางปฏิบัติได้

พูดแล้วทำไม่ได้ภาพความเป็นนักการเมืองดีแต่ปากดีแต่พูดจะถูกฉาบทับ สุดท้ายก็จะถูกระบบการเมืองแบบเก่าดูดกลืนให้เลือนหายใหม่เหมือนซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วกับดาวรุ่งทางการเมืองหลายคน

ความสดใหม่จะมีประโยชน์ช่วยให้ได้เปรียบเฉพาะการเลือกตั้งครั้งแรกเท่านั้น แต่ถ้าไม่พร้อมความสดใหม่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ต่อให้พร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็หามีประโยชน์ไม่


You must be logged in to post a comment Login