- ปีดับคนดังPosted 9 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
เรื่องปลา..ปลา.. / โดย รศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : รศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย
(โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 656 วันที่ 16-23 มีนาคม 2561)
“ปลา” แหล่งโปรตีนย่อยง่าย คุณภาพดี ไขมันต่ำ แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินบี 1, บี 2, บี 6 และวิตามินดี เหมาะกับผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคหัวใจ แถมหาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ที่สำคัญอร่อยอีกด้วย
ประเภทของปลา
1.ปลาที่ไม่มีไขมัน หรือมีไขมันน้อย เนื้อปลามีสีขาว เช่น ปลาเนื้ออ่อน ปลาสำลี ปลาจะละเม็ด ปลากะพง
2.ปลาไขมันปานกลาง เช่น ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาอินทรี
3.ปลาไขมันสูง ส่วนมากมีเนื้อสีเหลือง ชมพู หรือเทาอ่อน เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพทะเล
เคล็ดลับการเลือกซื้อ – ทำความสะอาด
สังเกตดู ตาปลาต้องใส เนื้อแน่น เมื่อกดดูไม่บุ๋มตามรอยนิ้วมือ เหงือกสีแดงสด ส่วนขั้นตอนทำความสะอาด ต้องขอดเกล็ดออกให้หมด ถ้าไม่มีเกล็ดต้องขูดเมือกเหงือกและควักไส้ออก จากนั้นล้างให้สะอาด
ปลา…แหล่งแร่ธาตุไอโอดีน
เมื่อรับประทานปลาทะเล ร่างกายจะได้รับแร่ธาตุไอโอดีน ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันโรคคอพอกชนิดที่เกิดจากการขาดธาตุไอโอดีน เด็กที่กำลังเจริญเติบโตหากขาดแร่ธาตุชนิดนี้ โอกาสที่จะเป็น “โรคเอ๋อ” ก็มีมากขึ้น และทำให้เจริญเติบโตช้า
ปลา…แหล่งแร่ธาตุแคลเซียม
ปลาตัวเล็กๆที่รับประทานได้ทั้งตัว เช่น ปลาข้าวสาร ปลาฉิ้งฉั้ง ปลากระป๋อง จะเพิ่มธาตุแคลเซียมที่ได้จากกระดูกปลา ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักง่าย
ไขมันจากปลา
เป็นไขมันประเภทไม่อิ่มตัว มีความจำเป็นต่อร่างกาย เพราะช่วยในกระบวนการเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงาน และยังไม่ก่อให้เกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด
น้ำมันตับปลากับน้ำมันปลาต่างกันอย่างไร
-น้ำมันตับปลา สกัดจากตับของปลาทะเล นิยมรับประทานเพื่อเสริมวิตามินเอ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเยื่อบุผิวให้เป็นปรกติ นอกจากนี้ยังมีวิตามินดีที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมรวมทั้งฟอสฟอรัสบริเวณลำไส้เข้าสู่ร่างกาย ทำให้การสร้างกระดูกเป็นไปอย่างปรกติ
-น้ำมันปลา สกัดจากเนื้อ หนัง หัว และหางปลาทะเล อาทิ ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอร์ริง ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันปลามีกรดไขมันที่ร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างเองได้ โดยเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated Fatty Acid) หรือ PUFA 2 ชนิด ในกลุ่มโอเมก้า 3 คือ Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexaenoic acid (DHA)
ปัจจุบันวงการแพทย์ให้ความสนใจความสัมพันธ์ของน้ำมันปลากับโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ สาเหตุการเกิดโรคมาจากการที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจไหลเวียนไม่สะดวก เพราะผนังหลอดเลือดหนาและแข็งขึ้นจากการเกาะตัวของโคเลสเตอรอล การอุดตันของเกล็ดเลือดที่รวมตัวกันส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง บางรายที่อาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้รับประทานน้ำมันปลา เพราะมีส่วนช่วยลดระดับไขมันในเลือด และยังช่วยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยลดปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดได้เป็นอย่างดี
รับประทานน้ำมันปลาอย่างไรจึงจะปลอดภัย
1.บุคคลทั่วไป ควรรับประทานน้ำมันปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งอาหารที่มีกรด alpha-linolenic acid สูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืช เต้าหู้ เป็นต้น
2.ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรรับประทานน้ำมันปลาประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน
3.ผู้ป่วยที่ต้องการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ควรรับประทานวันละ 2-4 กรัม
ก่อนตัดสินใจรับประทานควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย และพึงระวังว่าการรับประทานน้ำมันปลาขนาดสูงอาจทำให้ระดับวิตามินอีในร่างกายลดลง
จะปลาเล็ก ปลาน้อย ปลาตัวโต หากเรารับประทานเป็นประจำ ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจหรือไขมันอุดตันก็จะน้อยกว่าคนทั่วไป ที่สำคัญยังมีผลวิจัยว่าสาร DHA มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะในส่วนของความจำและการเรียนรู้ เพราะสาร DHA จะเข้าไปเสริมสร้างความเจริญเติบโตของปลายประสาทที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ดีขึ้น ท่านไม่จำเป็นต้องซื้อปลาแพงๆมารับประทาน เพราะแค่ปลาตาใสๆที่วางขายในตลาดแถวบ้าน เช่น ปลาทู ปลาตะเพียน ก็มีสารอาหารเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว
You must be logged in to post a comment Login