วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คนหลายชีวิต / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On March 16, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 656 วันที่ 16-23 มีนาคม 2561)

นายแพทย์ชื่อดังชาวอเมริกันหายออกจากบ้านอย่างลึกลับ ภรรยาออกติดตามหาจนกระทั่งไปพบตัวที่อังกฤษ แต่เขากลับจำอะไรไม่ได้และหายตัวไปอีกครั้ง ก่อนจะกลับมาโผล่ที่อเมริกาในอีกหลายปีต่อมา

วิลเลี่ยม เบตส์ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กรุงนิวยอร์ก เมื่อปี 1885 เชี่ยวชาญทางด้านจักษุวิทยา หลังจากจบการศึกษาก็ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายให้กับแพทย์ในโรงพยาบาลและแพทย์จบใหม่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆหลายแห่ง

วิลเลี่ยมเชื่อว่าการรักษาผู้ป่วยที่มีสายตาผิดปรกติด้วยการวัดสายตาประกอบแว่นนั้นไม่ถูกต้อง โดยให้เหตุผลว่า “หากแว่นตาเป็นวิธีการรักษาที่ถูกต้องจะต้องสามารถทำให้สายตาของผู้ป่วยดีขึ้นจนกระทั่งกลับมามีสายตาดีดังเดิมโดยไม่ต้องสวมแว่น เปรียบเสมือนการให้ยากับผู้ป่วยจะต้องทำให้สุขภาพของผู้ป่วยดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อยๆลดยาจนกระทั่งไม่ต้องกินยาอีกเลย”

วิลเลี่ยมทำการวิจัยกลุ่มตัวอย่างทั้งคนและสัตว์จำนวนหลายพันตัวอย่างจนได้ข้อสรุปว่า อาการสายตาสั้นเกิดจากความกลัวและระดับการมองเห็นแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่คงที่ ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความเครียด สามารถรักษาได้ด้วยการให้ผู้ป่วยพักผ่อน วิลเลี่ยมเขียนบทความงานวิจัยการรักษาอาการสายตาสั้นครั้งแรกเมื่อปี 1891

ปี 1896 วิลเลี่ยมลาออกจากการเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาล เขาใช้เวลาทั้งหมดทำการศึกษาและวิจัยการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปรกติทางสายตาโดยไม่ต้องสวมแว่น ในเวลานี้วิลเลี่ยมเป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียงและมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย

ลาก่อนที่รัก

วันที่ 30 สิงหาคม 1902 วิลเลี่ยมเขียนโน้ตสั้นๆถึงภรรยามีใจความว่า “ภรรยาที่รัก ผมถูกตามตัวไปรักษาที่นอกเมือง ผมไปกับ ดร.ฟอร์ชและลูกศิษย์ เพื่อผ่าตัดต้อกระจกตาและอื่นๆ เขาสัญญาว่าจะให้ค่าตอบแทนอย่างคุ้มค่า ผมดีใจที่เราจะได้รับเงินจำนวนมาก ผมกำลังรีบ ไม่ต้องเป็นห่วง แล้วจะเล่ารายละเอียดให้ฟังทีหลัง ด้วยความรัก ลงชื่อ วิลลี่”

มันเป็นข้อความที่น่าสงสัย เพราะในเวลานั้นวิลเลี่ยมมีทรัพย์สินเงินทองมากมายอยู่แล้ว ทำไมเขาจะต้องสนใจกับค่ารักษาผู้ป่วยคนเดียว ทำไมถึงต้องรีบร้อนไปจนไม่มีเวลารอพบหน้าภรรยาก่อน และไม่บอกว่าคนป่วยเป็นใคร อยู่ที่ไหน

หลายวันผ่านไปวิลเลี่ยมไม่ได้ติดต่อกลับมาอีกเลย ภรรยาเริ่มเป็นห่วง สอบถามไปยังญาติและเพื่อนๆทั้งในอเมริกาและยุโรป แต่ก็ไม่มีใครได้ข่าววิลเลี่ยมเช่นเดียวกัน เธอจึงบากหน้าไปพึ่งสมาคมช่างก่อสร้างซึ่งวิลเลี่ยมเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ทางสมาคมได้จัดการส่งภาพถ่ายและบรรยายรูปร่างลักษณะวิลเลี่ยมกระจายไปยังสาขาต่างๆทั่วโลก

6 สัปดาห์ต่อมามีจดหมายตอบกลับจากประเทศอังกฤษ แจ้งว่าพบคนที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายวิลเลี่ยมทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลแชริ่งครอส กรุงลอนดอน ภรรยาของวิลเลี่ยมรีบจับเรือเที่ยวแรกเดินทางไปกรุงลอนดอนโดยทันที

เธอคือใครไม่รู้จัก

แรกเริ่มนั้นวิลเลี่ยมถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในฐานะคนป่วย เขามีร่างกายซูบผอม อิดโรย เบ้าตาโบ๋ อาการคล้ายคนไม่ได้กินอาหารมาหลายวัน ทั้งๆที่เขามีเงินฝากอยู่ในบัญชีธนาคารมากพอที่จะเช่าห้องพักในโรงแรมระดับ 5 ดาว กินอาหารหรูๆทุกวันได้เป็นปีๆ

ทันทีที่พบหน้าภรรยารีบโผเข้าหาวิลเลี่ยมด้วยความดีใจ แต่วิลเลี่ยมกลับแสดงสีหน้าไม่ยินดียินร้าย อีกทั้งยังต่อว่าภรรยาที่ทำแบบนั้นโดยกล่าวว่า “ผมไม่รู้ว่าคุณต้องการอะไร ผมไม่รู้จักคุณ” นายแพทย์โรงพยาบาลแชริ่งครอสแนะนำให้วิลเลี่ยมไปพักกับภรรยาที่โรงแรมซาวอยเพื่อค่อยๆระลึกความทรงจำ

วิลเลี่ยมคุ้นๆว่าเขาถูกเรียกตัวไปรักษาคนป่วยเป็นฝีในสมองที่เมืองนิวยอร์ก แต่นึกชื่อคนป่วยไม่ได้ ภรรยาเริ่มใจชื้นขึ้นมาหน่อยหนึ่ง และตัดสินใจพักที่โรงแรมซาวอยจนกว่าวิลเลี่ยมจะจดจำทุกอย่างได้ แต่ความหวังต้องพังทลายลง เนื่องจากหลังจากพบหน้ากันได้เพียง 2 วัน วิลเลี่ยมก็เดินออกจากโรงแรมและหายตัวไปอีกครั้ง

ภรรยาออกตามหาตัววิลเลี่ยมอีกครั้ง แต่คราวนี้ไร้ร่องรอย แม้แต่เงาก็ไม่เห็น จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1907 ว่ากันว่าเธอเสียชีวิตขณะที่กอดภาพถ่ายวิลเลี่ยมไว้ในอ้อมอก

คืนสู่เหย้า

ปี 1910 นายแพทย์ เจ.อี. เคลลีย์ อดีตเพื่อนร่วมงานของวิลเลี่ยม เดินทางไปเมืองแกรนด์ฟอร์กส์ รัฐนอร์ทดาโคตา เมืองเล็กๆที่มีประชากรเพียงแค่ 12,000 คน บังเอิญไปพบวิลเลี่ยมสหายเก่าเปิดคลินิกรักษาตาอยู่ที่นั่น

วิลเลี่ยมจำเพื่อนเก่าไม่ได้ แต่สนใจข้อเสนอที่จะร่วมกันวิจัยการรักษาอาการสายตาเสื่อมตามแนวทางของวิลเลี่ยม ทั้งคู่เดินทางกลับนิวยอร์ก เปิดคลินิกรักษาโรคสายตาเสื่อมร่วมกัน หลังจากนั้นวิลเลี่ยมก็กลับมาทำงานประจำเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลฮาร์เล็ม และแต่งงานกับเอมิลี่ เริ่มต้นชีวิตแบบคนปรกติใหม่อีกครั้ง

ปี 1917 วิลเลี่ยมคิดค้นวิธีถนอมดวงตาแบบใหม่ชื่อว่า “การบริหารดวงตาตามวิธีของเบตส์” ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ Physical Culture บทความของวิลเลี่ยมได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพิ่มยอดขายให้กับวารสารแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ปี 1920 วิลเลี่ยมเขียนหนังสือของตัวเองชื่อเรื่อง Cure of Imperfect Eyesight by Treatment Without Glasses หรือการรักษาปัญหาทางสายตาโดยไม่พึ่งแว่นตา ในหนังสือมีภาพประกอบมากมายที่ต่อมาพบว่าวิธีการที่แนะนำในหนังสือเล่มนี้เป็นการให้ข้อมูลผิดๆ เช่น การพักสายตาด้วยการใช้อุ้งมือปิดตา การบริหารสายตาด้วยการกลอกลูกตาไปมา หรือเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นด้วยการจ้องมองดวงอาทิตย์

วิธีการของวิลเลี่ยมถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ร้อนถึงทางการต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซง แต่กว่าคณะกรรมาธิการการค้า (Federal Trade Commission) จะเข้ามาดูแลก็ปาเข้าไปปี 1929 ถึงกระนั้นก็ยังมีหลายคนหลงเชื่อว่าการรักษาตามวิธีของวิลเลี่ยมนั้นได้ผล ไม่จำเป็นต้องสวมแว่นสายตาอีกต่อไป

วิลเลี่ยมเสียชีวิตด้วยวัย 71 ปีเมื่อปี 1931 ทิ้งปริศนาการหายตัวไปอย่างลึกลับถึงสองครั้งสองคราอย่างน่าสงสัย หลายคนเชื่อว่าเขาเป็นโรคความจำเสื่อม แต่แพทย์จากเมโยคลินิกเห็นแตกต่างออกไป โดยให้เหตุผลว่าผู้ป่วยความจำเสื่อมแม้จะจดจำเหตุการณ์บางเหตุการณ์ไม่ได้ แต่อย่างน้อยพวกเขารู้ว่าตัวเองเป็นใคร

อาการของวิลเลี่ยมใกล้เคียงกับโรคหลายบุคลิกมากกว่าโรคความจำเสื่อม เพราะเขาไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองเป็นใคร เดินทางไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดหมาย แต่ยังมีความสามารถทางการแพทย์เหมือนเดิมทุกประการ

2

วิลเลี่ยมกับผู้ช่วย

3

พักสายตาด้วยการใช้อุ้งมือปิดตา

4

ใช้แว่นขยายเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น

5

บริหารสายตาด้วยการเหลือกตาขึ้นลง

6

คนตาส่อน ก่อน (1) และหลัง (2) การรักษา

7

คนตาส่อน (1) รักษาด้วยการให้ตาขวามองตรงและตาซ้ายมองล่าง (2) ฝึกมองดินสอ (3) ตาเป็นปรกติหลังได้รับการรักษา (4)

8

เอมิลี่ เบตส์


You must be logged in to post a comment Login