วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ตีความ2ฉบับ

On March 19, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การยื่นตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ที่ สนช.กำลังดำเนินการโดยไม่แตะร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.โดยให้เหตุผลไม่อยากให้กระทบโรดแม็พเป็นเหตุผลที่ฟังดูดี แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งอาจเป็นความต้องการวางระเบิดเวลาเอาไว้ล้มเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่ เพราะในอดีตมีบทเรียนมาแล้วแค่กกต.จัดวางคูหาให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหันหน้าเข้ากำแพงหันหลังออกยังถูกฟ้องจนโมฆะเลือกตั้งได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ แต่ครั้งนี้สนช.เขียนกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ลงคะแนนแทนผู้พิการได้ ทั้งมองเห็น ทั้งกาบัตรแทน แต่ไม่ยอมยื่นตีความให้ชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ ถ้าจริงใจควรยื่นตีความพร้อมกันทั้งสองฉบับให้ครบทุกประเด็นที่อาจทำให้เกิดปัญหา เว้นแต่ว่าต้องการวางระเบิดเวลาไว้เพื่อให้มีช่องล้มเลือกตั้งในอนาคต

หลัง นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) ออกมารับไม้ต่อจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ต้องการให้สนช.เข้าชื่อกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่กั๊กจะส่งตีความร่างเดียวคือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.

ที่ต้องขีดเส้นใต้ตัวโตๆ คือจะยื่นเฉพาะประเด็นที่ สนช.เห็นว่าคลุมเครือไม่ชัดเจนเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ยื่นทุกประเด็นที่นายมีชัยเสนอมา

ทั้งที่ความจริงในเมื่อยื่นตีความแล้วก็ควรจะยื่นให้ครบทุกประเด็นที่มีคนติดใจสงสัยเพื่อชำระให้กระจ่างไปในคราวเดียว ไม่ใช่กั๊กเอาไว้รอยื่นตีความเพิ่มเติมภายหลังเพื่อให้การคัดเลือกส.ว.ทอดเวลาออกไปอีก

สำคัญคือหากจริงใจว่าการยื่นตีความครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อยื้อเวลาก็ควรจะยื่นตีความร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ในประเด็นที่นายมีชัยทักท้วงไปด้วยพร้อมกันเพื่อชำระความให้กระจ่างไปในคราวเดียว ไม่ใช่กั๊กเอาไว้รอยื่นตีความในภายหลัง หรือเปิดช่องเอาไว้ให้มีการฟ้องร้องเพื่อล้มการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

หากดูประเด็นที่นายมีชัยต้องการให้ยื่นตีความร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ต้องบอกว่ามีความแหลมคมที่จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากกว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.

ประเด็นดังกล่าวคือ การจำกัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและท้องถิ่น ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมเพราะถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ประชาชน กับประเด็น ให้เจ้าหน้าลงคะแนนแทนผู้พิการได้ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ

ในสองประเด็นนี้ประเด็นหลังคือให้เจ้าหน้าที่ลงคะแนนแทนผู้พิการได้ดูจะเป็นประเด็นแหลมคมที่สุดหากไม่ยื่นตีความให้เกิดความกระจ่างแล้วอาจทำให้การเลือกตั้งในอนาคตข้างหน้าเป็นอันโมฆะได้

ทั้งนี้ในอดีตเราเคยมีบทเรียนมาแล้วจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

หากจำกันได้การเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ถูกศาลฯสั่งให้เป็นโมฆะ และมีการฟ้องร้องทางอาญาจนทำให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุคนั้นซึ่งนำโดยพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ มีความผิดต้องติดคุก

สาเหตุที่นำมาซึ่งการเป็นโมฆะประเด็นหนึ่งเกิดจากกรณีกกต.เปลี่ยนวิธีการจัดวางคูหาเลือกตั้งใหม่ จากเดิมที่ให้ผู้ลงคะแนนเสียงหันหลังเข้ากำแพง เปลี่ยนมาเป็นให้ผู้ลงคะแนนหันหลังออกสู่ภายนอก ทำให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและบุคคลภายนอกมองเห็นได้ว่าผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนให้ผู้สมัครหมายเลขใด

หากนำกรณีนี้มาเทียบเคียงกับประเด็นที่นายมีชัยต้องการให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อให้เกิดความกระจ่างก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นถือว่าประเด็นของนายมีชัยมีความแหลมคมมากกว่าการจัดวางคูหาเลือกตั้งโดยให้ผู้ใช้สิทธิหันหน้าเข้ากำแพงหันหลังออกด้านนอก

การหันหน้าเข้ากำแพงหันหลังออกด้านนอกหากผู้ที่อยู่ภายนอกไม่อยากรู้อยากเห็นไม่สอดส่องก็เป็นเรื่องยากที่จะเห็นว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครคนใด

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกรณีให้เจ้าหน้าลงคะแนนแทนผู้พิการได้ เพราะไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นว่าผู้ใช้สิทธิลงคะแนนให้ผู้สมัครรายได้แล้ว ยังเป็นการลงคะแนนแทนโดยที่ผู้ใช้สิทธิไม่ได้เป็นคนกาบัตรเอง

หากมองในแง่ร้ายกว่านั้นก็ไม่มีหลักประกันใดที่จะรับรองได้ 100 % เจ้าหน้าที่ซึ่งกาบัตรแทนผู้ใช้สิทธิจะหาหมายเลขที่ผู้ใช้สิทธิต้องการเลือกกรณีผู้ใช้สิทธิเป็นผู้พิการทางสายตา

ไหนๆก็ไหนๆแล้วหากจะมีการยื่นตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ก็ควรยื่นตีความร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ไปด้วยในคราวเดียวกัน เพราะมีประเด็นที่จะเป็นปัญหาต่อการเลือกตั้งมากกว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.

เว้นแต่ว่าจะวางระเบิดเวลากันไว้เพื่อให้มีช่องล้มเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


You must be logged in to post a comment Login