- ปีดับคนดังPosted 10 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่?…ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 657 วันที่ 23-30 มีนาคม 2561)
หนังสือเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะเดินทางมาประชุม ครม.สัญจร ลงนามโดยนายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ออกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 โดยเนื้อหาในหนังสือระบุตอนหนึ่งว่า “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” ซึ่งหนังสือดังกล่าวถูกแชร์อย่างรวดเร็วในโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายถึงทัศนคติของทางราชการ
แม้นายสุชัยและผู้เกี่ยวข้องจะออกมาแถลงข่าวขอโทษ แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียก็ยังไม่จบ โดยในทวิตเตอร์มีการแสดงความเห็นและติดแฮชแท็ก “#ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” จนทำให้แฮชแท็กขึ้นอันดับหนึ่งอยู่ระยะหนึ่ง เช่น ทำอย่างไรให้ข้าราชการหายโง่ เลิกโกงกิน เลิกทำตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย เลิกค่านิยมที่คิดว่ามีศักดิ์และสิทธิ์เหนือกว่าประชาชน ยอมให้เขาบริหารบ้านเมืองมาตั้งหลายปี หรือให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น
ขณะที่นางพรทิพย์ ขำชื่น หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป สำนักส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ผู้ที่พิมพ์หนังสือราชการฉบับดังกล่าว ได้ออกมาขอโทษและยอมรับความผิดพลาดโดยกล่าวว่า ในวันที่พิมพ์หนังสือยอมรับว่าทำไปด้วยความไม่ระมัดระวังจนทำให้เกิดความผิดพลาด เนื่องจากต้องรีบนำเอกสารเสนอต่อผู้บังคับบัญชาลงนามท้ายหนังสือเชิญ จึงไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองอย่างถี่ถ้วน
“ดิฉันไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นดูแคลนประชาชนแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับแนวคิดจากผู้ใหญ่มาว่าจะทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของประชาชนตั้งแต่วัยเด็ก ประกอบกับระยะเวลาที่เร่งรีบจึงคิดคำง่ายๆโดยไม่ทันได้ไตร่ตรอง”
แต่ที่ตลกกว่าคือ ความเห็นของ พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 ที่กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวหลุดไปได้อย่างไร และเชื่อว่ามีคนวางยารองผู้ว่าฯ คนร่าง คนพิมพ์ คนตรวจเอกสารน่าจะรู้ว่าคำว่า “โง่” ไม่เหมาะ ไม่ควร แล้วนำมาให้รองผู้ว่าฯเซ็น ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าเร่งด่วน เพราะเตรียมต้อนรับนายกรัฐมนตรี รองผู้ว่าฯจึงไม่ได้ดูรายละเอียดเนื้อหา การใช้คำก่อนจะเซ็นลงนามไป คนที่พูดก็พูดไม่หมด ไม่บอกประโยคสำคัญนั้น หากบอกหรือสอบถามรองผู้ว่าฯว่าคำนี้เหมาะสมหรือไม่ เชื่อว่ารองผู้ว่าฯต้องดูและแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ ตอนนี้ให้ตรวจสอบกันอยู่
วาทกรรม “โง่ จน เจ็บ”
วาทกรรม “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” สะท้อนชัดเจนถึงความคิดของรัฐราชการไทยและผู้มีอำนาจที่เห็นประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยัง “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ใช้ผลิตซ้ำซากทางการเมืองว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย วาทกรรมที่ดูถูกประชาชนมาตลอดแม้แต่ก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ก่อนรัฐประหารซึ่งกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้ทำรัฐประหารเพื่อปฏิรูปประเทศ ดร.เสรี วงษ์มณฑา หนึ่งในแกนนำ กปปส. กล่าวตอนหนึ่งในการชุมนุม กปปส. (14 ธันวาคม 2556) ว่า “มีคน 15 ล้านคนที่ไม่มีคุณภาพ กับคน 300,000 คนที่มีคุณภาพ เราเลือก 300,000 คนที่มีคุณภาพไม่ดีกว่าเหรอ”
น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร (ภิรมย์ภักดี) หนึ่งในแกนนำ กปปส. ให้ความคิดเห็นผ่านสื่อต่างประเทศช่วงการชุมนุมของ กปปส. ว่า “คนชนบทไม่มีความรู้ความเข้าใจประชาธิปไตย”
ขณะที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ครั้งเป็นที่ปรึกษากลุ่ม กปปส. ก็เคยเสนอว่า “หลักการ 1 คน 1 เสียง ไม่เหมาะที่จะใช้กับสังคมไทย”
ประชาธิปไตยแบบลุงตู่
วาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” สะท้อนถึงการเมืองไทยที่วันนี้ก็ยังเห็นว่าคนไม่มีการศึกษา คนระดับรากหญ้า ไม่ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมในการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือเห็น “คนไม่เท่าเทียมกัน”
แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (21 กรกฎาคม 2560) ตอนหนึ่งว่า เหตุที่ 80 กว่าปีประชาธิปไตยของไทยไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ลุ่มๆดอนๆ โดยเฉพาะช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น เห็นว่าบ้านเมืองประสบกับภาวะบกพร่องทางจิตวิญญาณ หมายถึงจิตใจของคนไทยมีความบกพร่องหรือขาดภูมิคุ้มกันทางศีลธรรม เป็นเหตุให้สังคมมีปัญหา แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับไม่มองว่าที่ผ่านมากว่า 80 ปีที่ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานเพราะการทำรัฐประหารแย่งชิงอำนาจกันเองของกลุ่มชนชั้นสูงและคนในกองทัพ
พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม” คือยังเห็นว่าคนไทยไม่มีความเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ทั้งที่ควรถามผู้นำกองทัพ ข้าราชการ และกลุ่มชนชั้นนำมากกว่าว่าทำไมจึงไม่ยอมรับประชาธิปไตยอย่างที่คนทั่วโลกยอมรับ ซึ่งยอมรับว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในความเป็นคนที่เท่ากัน “1 สิทธิ 1 เสียง” ไม่ใช่ผูกขาดอำนาจอยู่กับคนไม่กี่กลุ่มที่มองว่า “คนไม่เท่ากัน”
คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน
การมองว่า “ประชาชนยังโง่อยู่” ไม่ใช่เพิ่งปรากฏในหนังสือราชการยุคไทยแลนด์ 4.0 แต่วาทกรรม “โง่-จน-เจ็บ” เป็นผลผลิตที่ใช้กับการเมืองไทยมาตั้งแต่หลัง 6 ตุลาคม 2519 จนเหมือนนิทานการเมือง ซึ่งนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวปาฐกถาในวาระครบรอบ 82 ปีการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 หัวข้อ “การเดินทางของความไม่เสมอภาคในสังคมไทย” เมื่อปี 2557 โดยอธิบายว่า แนวคิดที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลานานคือ “คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน” โดยมีปัญญาชนอนุรักษ์นิยม 3 ท่านคือ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาอนุมานราชธน และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้มีบทบาทหลักในการผลิตแนวคิดนี้ ก่อนจะถูกต่อยอด อ้างอิง และผลิตซ้ำมาจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์ประจักษ์กล่าวว่า หลัง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อสังคมไทยปรับตัวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ การเลือกตั้งเริ่มนำมาใช้เป็นวิถีทางขึ้นสู่อำนาจอย่างต่อเนื่องมากขึ้น แนวคิดคนไม่เท่ากันจึงถูกนำมาดัดแปลงและผลิตซ้ำจนกลายมาเป็นวาทกรรมเรื่อง “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งช่วงปี 2551 อาจารย์ประจักษ์ได้เขียนบทความเสนอในที่สัมมนาการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 9 สะท้อนภาพนิทานการเมือง “โง่ จน เจ็บ” ของคนชนบท ซึ่งมีโครงเรื่องคือ ผู้ร้ายของเรื่องได้แก่คนชนบทที่โง่และจน ร่วมกับนักการเมืองในการก่ออาชญากรรมที่เรียกว่าการซื้อสิทธิขายเสียง ทําให้การเมืองไทยเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันและไร้ซึ่งศีลธรรม
อาจารย์ประจักษ์ระบุว่า ที่มาของนิทานเรื่องนี้มีต้นตอมาจากนักรัฐศาสตร์เอง โดยศึกษาการเลือกตั้งในประเทศไทยว่า แม้จะมีจำนวนมาก แต่จะวนเวียนอยู่กับทฤษฎีและกรอบการวิเคราะห์เดิมๆ ซึ่งมักจะมุ่งไปที่การศึกษาในเชิงการสํารวจทัศนคติของผู้เลือกตั้งเพื่อทํานายผลทางการเมือง หรือเป็นการศึกษาพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงของประชาชน (behavioralism) ที่ใช้เครื่องมือหลักคือการออกแบบสอบถามและการหาค่าตัวแปรด้วยเทคนิคทางสถิติ แต่ขาดงานวิจัยเชิงมานุษยวิทยาที่ต้องลงพื้นที่พูดคุยเก็บข้อมูลเชิงลึกของพฤติกรรมเหล่านั้น
ที่สำคัญผลสรุปของการศึกษาแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง โดยข้อสรุปจากงานวิจัยจํานวนมากต่างเน้นย้ำความแตกต่างระหว่างผู้เลือกตั้งในชนบทกับในเมือง และสรุปว่าผู้เลือกตั้งชาวชนบทขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสําคัญของการเลือกตั้ง และไม่เข้าใจประชาธิปไตย ไม่รู้จักพิจารณานโยบายของพรรคการเมือง เน้นแต่คุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัคร ประกอบกับการที่มีฐานะอันยากจน ทําให้ผู้เลือกตั้งในชนบทตกอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทั้งตั้งข้อสังเกตว่า งานวิจัยจำนวนมากมักอ้างอิงทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่กลับตัดมิติโครงสร้างทางเศรษฐกิจออก เหลือแต่เพียงมิติทางศีลธรรม และที่สำคัญทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยกลับมีทัศนคติต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของชาวชนบทดีกว่างานวิจัยจํานวนมากที่อ้างอิงงานชิ้นนี้ ตัวอย่างที่มักถูกตัดทอนออกไป เช่น
“การลงคะแนนเสียงของชาวชนบท ซึ่งเรียกคลุมๆว่าการซื้อขายเสียงนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องความเห็นแก่ตัว ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม อย่างที่ชนชั้นกลางหรือคนในเมืองเข้าใจ หากมีธาตุของการประเมินผลงานในอดีตของผู้สมัครและผลประโยชน์ที่คาดว่าผู้สมัครจะนํามาให้แก่ชุมชนเช่นกัน จริงอยู่นับวันเงินจะเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ แต่เงินก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่เพียงพอที่จะดลบันดาลให้ใครคนใดคนหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเสมอไป…สรุปว่าชาวบ้านส่วนใหญ่คํานึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าการรับอามิสสินจ้างในช่วงหาเสียง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่รับเงิน”
การเมืองของคนรุ่นใหม่
วาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” และรัฐประหารที่ซ้ำซากจึงเป็นที่มาของกระแสการเมืองที่ร้อนระอุขณะนี้ เมื่อพรรคอนาคตใหม่ที่นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ประกาศสร้างการเมืองที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้าถึงทุนและทรัพยากร ทำลายระบบผูกขาดที่ทำให้ประชาชนไร้อำนาจต่อรอง ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ผูกขาดอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยประกาศไม่เอา “นายกฯคนนอก” และทำให้การเมืองหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์อย่างถาวร
นายธนาธรเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแสดงจุดยืนผ่านเฟซบุ๊ค Thanathorn Juangroongruangkit ยืนยันจะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ทำงานการเมืองเพื่อสร้างพรรคที่เป็นของประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ แม้เวลาและกติกาไม่อยู่ข้างเรา แต่เราพร้อมจะลงสนามและส่งคนสมัครรับเลือกตั้งครบทุกเขต
แต่สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ตามมาคือ การป้ายสีสาดโคลนและทำลายล้าง โดยนายธนาธรระบุว่าเป็นการทำลายกันโดยการสร้างความเท็จแบบการเมืองเก่าๆที่ทำให้บ้านเมืองจมอยู่กับการทำร้ายและทำลายกันในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะประเด็นที่นายปิยบุตรต้องการให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อไม่ให้นำสถาบันมาทำลายล้างกันทางการเมือง จนมีการโพสต์กล่าวหาทั้งนายธนาธรและนายปิยบุตรว่าเป็นกลุ่มล้มเจ้าจากคนกลุ่มหน้าเดิมๆ ซึ่งล่าสุด (17 มีนาคม) พ.ต.อ.ภาคภูมิ สุนทรศร อดีตรองผู้บังคับการข่าวกรองยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (รอง ผบก.ขส.บช.ปส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Bhakbhum Soonthornsorn ถึงขนาดขู่ว่าเคยฆ่าคนไม่ดีมาเยอะแยะจนจำไม่ได้ เพราะถือว่าชั่วกว่าโจรผู้ร้าย นักค้ายา หรือผู้ก่อการไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เสียอีก
“วรเจตน์” แอ่นอกรับ ม.112
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร (18 มีนาคม) ในงานเปิดตัวหนังสือ “ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา” ของนายวรเจตน์ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับนิติราษฎร์หรือเข้าใจผิดว่านิติราษฎร์อยู่เบื้องหลัง แต่ยอมรับว่านายปิยบุตรได้มาปรึกษา รู้สึกเสียดายความสามารถทางวิชาการของนายปิยบุตร แต่ก็เคารพการตัดสินใจ
นายวรเจตน์ยอมรับว่า นิติราษฎร์ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างมากหลังการยึดอำนาจปี 2557 เนื่องจากบทบาทในการเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหารและการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา โดยเฉพาะมาตรา 112 ถูกโจมตีมากและยังกลายเป็นประเด็นอยู่แม้เวลาผ่านไปหลายปีแล้ว ช่วงหลังบทบาทของนิติราษฎร์ลดลงไป ทั้งจากเว็บถูกปิด เสรีภาพทางวิชาการที่ลดน้อยถอยลง และนายวรเจตน์ถูกดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่ง คสช.
“เรื่องมาตรา 112 บรรดาสื่อมวลชนต่างๆที่จ้องโจมตีอาจารย์ปิยบุตรไม่ควรเอาประเด็นนี้มาเป็นภาระให้อาจารย์ปิยบุตร สมมุติจะบอกว่ามันไม่ถูกก็ชี้มาที่ผมหรือนิติราษฎร์ก็ได้ อาจารย์ปิยบุตรต้องการไปทำอย่างอื่น แล้วเมื่อไปทำการเมืองก็ถือว่าขาดจากการเป็นนิติราษฎร์โดยสภาพ เพราะคนหนึ่งทำการเมือง อีกคนทำงานวิชาการ ตอนนี้บทบาทคนละส่วนแล้ว อาจารย์ปิยบุตรก็พูดเองว่าบทบาทของท่านอยู่ในทางการเมืองแล้ว”
ประชาชนต้องการพรรคใหม่?
การเมืองที่ยังจมปลักกับความขัดแย้งและวงจรอุบาทว์มายาวนาน จึงไม่แปลกที่นิด้าโพลสำรวจความเห็นของประชาชน ปรากฏว่าร้อยละ 62.32 อยากได้พรรคใหม่เป็นรัฐบาล แม้ร้อยละ 38.64 จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็ตาม ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 13.04 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เพียงร้อยละ 12.24
แม้ในความเป็นจริงมีโอกาสน้อยมากที่พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคใหม่จะได้เป็นรัฐบาล เพราะเงื่อนไขการเลือกตั้งที่ออกแบบมาเพื่อไม่ให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก ทั้งยังมีพรรค ส.ว. ที่ คสช. เลือกเองอีก 250 คน แต่การเคลื่อนไหวและการชูนโยบายของพรรคการเมืองก็เชื่อว่าจะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่าในอดีต ไม่ใช่แค่พรรคอนาคตใหม่ที่ประกาศชัดเจนว่าประชาชนทุกคนคือเจ้าของ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยที่ถือเป็น 2 พรรคใหญ่ก็มีข่าวการขยับปรับเปลี่ยนนโยบายพรรคอย่างมากเช่นกัน
โดยเฉพาะการต่อต้านการ “สืบทอดอำนาจ” และไม่เอา “นายกฯคนนอก” แม้แต่นายอภิสิทธิ์ยังประกาศว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่ประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะมีการวางกับดักไว้มากมายก็ตาม
พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ชัดเจนและร้อนระอุที่สุดคือ พรรคเสรีรวมไทย ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นแกนนำ ประกาศว่าถ้ามีอำนาจจะปฏิรูปกองทัพและย้ายที่ตั้งทหารต่างๆออกนอกกรุงเทพฯ โดยจะย้ายกองทัพบกไปลพบุรี กองทัพเรือไปสัตหีบ และกองทัพอากาศไปนครสวรรค์ โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน คือให้เอกชนเช่าที่ตั้งของหน่วยทหารต่างๆ แล้วเอาค่าเช่าไปสร้างสถานที่ใหม่ให้กองทัพในต่างจังหวัด เหมือนการรถไฟแห่งประเทศไทยให้กลุ่มเซ็นทรัลลาดพร้าวเช่า นอกจากนี้ยังเสนอยุบกองบัญชาการกองทัพไทย ยุบผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชำนาญการ รวมถึงไม่ให้ผู้นำกองทัพพักอาศัยบ้านพักหลังเกษียณอีกต่อไป ฯลฯ
อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด?
แม้กระแสการตื่นตัวทางการเมืองและเสียงตอบรับพรรคอนาคตใหม่จะดังกระหึ่ม โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่จะเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญทางการเมือง แต่กระแสการป้ายสีสาดโคลนพรรคอนาคตใหม่และการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็รุนแรงเช่นกัน ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ต้องเร่งสร้างฐานสนับสนุนทางการเมืองใหม่ทั้งหมดและต้องแย่งชิงมวลชนจาก 2 พรรคใหญ่คือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย รวมถึงกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ที่วางฐานเสียงและกลไกอำนาจรัฐ
โดยเฉพาะภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ยังให้อำนาจมาตรา 44 ทำอะไรก็ได้ อย่างการออกคำสั่งปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพียงเหตุผลว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมถึงการปิดหูปิดตาปิดปากทั้งสื่อและข้อมูลฝ่ายที่เห็นต่าง
อย่างที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งระงับรายการ Tonight Thailand ของ Voice TV เป็นเวลา 15 วัน โดยระบุว่ารายการมีลักษณะส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร ก็มีหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความถูกต้องชอบธรรม ซึ่ง Voice TV ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งต่อศาลปกครองและยื่นฟ้องแพ่งเพื่อคุ้มครองความเสียหายที่จะเกิดกับสถานีโดยเร็วที่สุด โดยยืนยันว่าทำหน้าที่สื่อมวลชนที่เปิดกว้างทางความคิดและยืนหยัดในเสรีภาพสื่อ
การสั่งระงับรายการครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หลังการรัฐประหารปี 2557 Voice TV ถูกระงับการเผยแพร่ออกอากาศครั้งแรก 26 วัน (20 พฤษภาคม-14 มิถุนายน) เป็นทีวีดิจิตอลเพียงช่องเดียวที่ถูกสั่งระงับการออกอากาศ และในเวลาต่อมาก็ถูกระงับรายการอีกหลายครั้งคือ วันที่ 3 มิถุนายน 2558 ระงับการออกอากาศรายการ Wake Up Thailand 2 สัปดาห์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ระงับการออกอากาศรายการ The Daily Dose 3 วัน วันที่ 15 สิงหาคม 2559 (วาระที่ 2) ระงับการดำเนินรายการของพิธีกร 10 วัน วันที่ 29 สิงหาคม 2559 ระงับการออกอากาศรายการ Wake Up News 7 วัน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ระงับการออกอากาศรายการ The Daily Dose 7 วัน วันที่ 4 มีนาคม 2560 ระงับการดำเนินรายการของพิธีกร 10 วัน วันที่ 27 มีนาคม 2560 ระงับการออกอากาศทั้งช่องเป็นเวลา 7 วัน
ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่?
สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้และในอนาคตท่ามกลางวาทกรรม “คนดี” ที่หลายกลุ่มเชิดหน้าออกมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เส้นทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่จึงเหมือน “เข็นครกขึ้นภูเขา” แม้การเปิดตัวจะเป็นปรากฏการณ์ที่มาแรงและเป็นความหวังของประชาชนและคนรุ่นใหม่ซึ่งเบื่อหน่ายการเมืองแบบเดิมๆและวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก แต่ก็ยากจะได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นเหมือนพรรคไทยรักไทยในอดีตที่พลิกประวัติศาสตร์กวาด ส.ส. ถึง 248 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมากมาย
เพราะยังไม่ทันพรรคอนาคตใหม่จะเกิดอย่างเป็นทางการก็ถูกกลุ่มอำนาจยุคไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ป้ายสีสาดโคลนและโจมตีจนน่วมไปหมดแล้ว ทั้งยังมีการพยายามโยงไปเปรียบเทียบกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เพื่อยัดเยียดเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องสถาบัน และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ
สถานการณ์ของพรรคอนาคตใหม่จึงแตกต่างสิ้นเชิงกับการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะการต่อสู้ภายใต้อำนาจรัฐประหารที่ “ทั่นผู้นำ” มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การปิดหู ปิดตา ปิดปาก การจำกัดเสรีภาพสื่อ ประชาชน และฝ่ายการเมืองต่างๆ จึงจะยังมีความเข้มงวดต่อไป
เกือบ 4 ปีภายใต้รัฐประหารที่ “ทั่นผู้นำ” ประกาศว่าจะปฏิรูปประเทศให้มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ประชาชนมีความสุขภายใต้ระบอบประชารัฐและประชาธิปไตยแบบไทยนิยม
สิ่งที่ทำมาทั้งหมดไม่แน่ใจว่า..
คิดอยากจะ..ทำให้ประชาชนหายโง่ หรืออยากให้ประชาชนโง่ตลอดไปกันแน่!!??
You must be logged in to post a comment Login