- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 18 hours ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 18 hours ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 19 hours ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 19 hours ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 2 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 5 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 6 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 7 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 1 week ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 1 week ago
ปลดแล็อค “มรดก คสช. ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ”
“ปิยบุตร แสงกนกกุล” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่” โพสต์เสนอความเหนผ่านเฟสบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul (21 มีนาคม 2561) ปลดแล็อค “มรดก คสช.” ด้วยการ“ปฏิรูปศาล-ปฏิรูปกองทัพ” โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐและสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดเป็นการมอง “อดีต” แก้ไขปัญหาใน “อดีต” เพื่อเดินหน้าสู่ “อนาคต” และกำหนด “อนาคต” ของเรา กำหนด “อนาคต” ของประเทศไทยให้ออกจากวงจรรัฐประหาร โดยชี้แจงว่า
ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอของผมเกี่ยวกับการจัดการ “มรดก” ของ คสช. การปฏิรูปศาล การปฏิรูปกองทัพ และสิทธิเสรีภาพ ดังนี้
1. ข้อเสนอทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐ และสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้ “แรง” หรือ “อันตราย” เลย
หากท่านยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐ สิทธิมนุษยชน ข้อเสนอนี้ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากท่านยืนอยู่บนหลักแบบเผด็จการ ก็อาจจะเห็นว่า “แรง” หากมันจะ “แรง” ก็คง “แรง” ต่อฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เชือมั่นในประชาชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น
2. หากใครที่เห็นว่ารัฐประหารโดยกองทัพเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หากใครไม่อยากเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากใครที่เห็นว่ากองทัพไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หากใครที่เห็นว่ากองทัพไม่ควรยึดอำนาจและตั้งตนเป็นรัฐบาล ก็น่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของผม
3. เกือบ 4 ปี และคงจะต้องผ่านไปจนเกือบ 5 ปี ประเทศไทยมีประกาศ คำสั่ง ของ คสช จำนวนมาก มีเนื้อหาที่ครอบคลุมในหลายเรื่อง กระทบกับบุคลจำนวนมาก ไม่เพียงเฉพาะแต่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม คสช เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญกลับรับรองให้ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และชอบด้วยกฎหมายชั่วกัลปาวสาน ทำให้บุคคลทั้งหลายไม่สามารถโต้แย้งประกาศ คำสั่งเหล่านี้ได้เลย ในขณะที่ศาลก็ไม่อาจทำอะไรได้นอกจากยกฟ้องโดยอ้างมาตรา 279
หากปล่อยไว้เช่นนี้ เท่ากับว่า ระบบกฎหมายไทยจะยอม “ยกเว้น” ให้กับการใช้อำนาจของ คสช ให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญทุกมาตรา และกฎหมายทุกฉบับ
เมื่อระบบรัฐประหารของ คสช พ้นไป กลับเข้าสู่ระบบปกติ จึงหมดความจำเป็นที่จะต้องรับรองสิ่งเหล่านี้ ต้องเปิดโอกาสให้บุคคลโต้แย้งประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ได้ ต้องเปิดทางให้ศาลได้ใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ได้ มิเช่นนั้น ประเทศไทยจะไม่มีทางได้ชื่อว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตยและนิติรัฐ
4. การปฏิรูปกองทัพ ก็เพื่อให้กองทัพไทยทันสมัย ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ เป็นสถาบันที่ดำรงอยู่ในระบบได้อย่างสอดคล้องกับประชาธิปไตย เป็นสถาบันที่โปร่งใส ถูกตรวจสอบได้ ให้ทหารชั้นผู้น้อยได้มีสิทธิ มีหลักประกัน
ข้อเสนอต่างๆถูกนำมาใช้และประสบความสำเร็จในหลายประเทศที่เจริญแล้วทั้งสิ้น
5. การปฏิรูปศาล ก็เพื่อให้ศาลโปร่งใส ถูกตรวจสอบได้ เป็นสถาบันที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ให้ศาลได้กลายเป็นองค์กรตุลาการที่เป็น “เสาหลัก” ในการรักษาประชาธิปไตย-นิติรัฐ ได้อย่างแท้จริง
6. หากเชื่อในเสรีประชาธิปไตย เชื่อในสิทธิและเสรีภาพ เชื่อมั่นว่าบุคคลต้องเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพ และการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลนำมาซึ่งการพัฒนาตนเอง และสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่ให้บุคคลได้ถกเถียงอภิปรายอย่างสร้างสรรค์แล้ว ก็น่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของผมในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ
ข้อเสนอทั้งหมดนี้ เกิดจากการศึกษาค้นคว้าทั้งทางตำรา คำอธิบาย ประวัติศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบ และระบบกฎหมายเปรียบเทียบ ของผมอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน ผมทดลองนำเสนอเพื่อโยนประเด็นให้สังคมได้ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ หากเชื่อมั่นในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย จริง ก็ต้องยอมรับข้อเสนอเหล่านี้ได้ และผมพร้อมที่จะถกเถียงและปกป้องข้อเสนอต่างๆเหล่านี้ในทุกเวทีครับ
ข้อเสนอทั้งหมดนี้ คือ การมอง “อดีต” แก้ไขปัญหาใน “อดีต” เพื่อเดินหน้าสู่ “อนาคต” และกำหนด “อนาคต” ของเรา กำหนด “อนาคต” ของประเทศไทยให้ออกจากวงจรรัฐประหาร
กำหนด “อนาคต” ประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย ยึดมั่นในนิติรัฐ เคารพสิทธิมนุษยชน
การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับศาล
1. ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
2. กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์คณะที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง
3. กำหนดให้มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง และเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ
4. คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน
5. ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการและว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล
6. แก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและผู้แทนของประชาชน
7. กำหนดให้มีผู้ตรวจการศาลแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของศาล ตรวจสอบระเบียบต่างๆของศาลที่เพิ่มเงินให้แก่ตนเอง ตรวจสอบหลักสูตรอบรมต่างๆที่ศาลจัดขึ้น และรับเรื่องร้องเรียนจากผู้พิพากษา
8. กำหนดให้การศึกษาอบรมผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีวิชาที่ว่าด้วยประชาธิปไตย และประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยร่วมสมัย
9. กำหนดความผิดอาญาในกรณีที่ผู้พิพากษาและตุลาการจงใจใช้กฎหมายอย่างบิดผัน บิดเบือน
10. รับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นต่อศาลและคำพิพากษา ไว้ในรัฐธรรมนูญ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล กำหนดกรอบการใช้กฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล
การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย
1. รับรองหลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ หลักอำนาจสูงสุดของพลเรือนอยู่เหนือทหาร ไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กฎหมายหรือการกระทำอื่นใดจะขัดกับหลักการนี้ไม่ได้
2. แก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม กำหนดให้การแต่งตั้งข้าราชการทหารเป็นอำนาจของรัฐบาล มิใช่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
3. กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ จัดทำความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณของกองทัพ รับเรื่องร้องเรียนจากทหารในกรณีที่คับข้องใจจากการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชา
4. ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบรับสมัคร เพิ่มสวัสดิการให้แก่ทหารชั้นผู้น้อย
5. สร้างหลักประกันให้แก่ทหารชั้นผู้น้อย มิให้ถูกผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจตามอำเภอใจ เช่น ระบบการพิจารณาความผิดทางวินัยที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้โต้แย้งได้ มีความโปร่งใส เป็นกลาง ระบบร้องเรียนต่อองค์กรภายนอก เป็นต้น
6. แก้ไขปรับปรุงระบบศาลทหารให้สอดคล้องกับหลักการ Decaux
7. ปรับปรุงหลักสูตรวิชาการทหารให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เรียนหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ และการฝึกทหารต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน
8. ลดบทบาทของกองทัพในเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ เรื่องภายในประเทศเป็นหน้าที่ของตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ส่วนทหารมีหน้าที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ และในยุคปัจจุบัน ทหารต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศไม่ให้เกิดขึ้น ทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ ทำหน้าที่ในเรื่องมนุษยธรรม เช่น กรณีติมอร์ตะวันออก กรณีสึนามิ กรณีเฮติ เป็นต้น
9. การรับสมัครทหารตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ
รับรองสิทธิของทหารในความหลากหลายทางศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม รสนิยมทางเพศ และเพศ
10. รับรองสิทธิและหน้าที่ของทหารในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง เช่น ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เข้าร่วมก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล, ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ยิงประชาชน กรณีเหล่านี้ เป็นคำสั่งที่ละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ทหารผู้ใต้บังคับบัญชามีสิทธิและหน้าที่ในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตาม
การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในส่วนของสิทธิและเสรีภาพ
1. แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นยกเลิกมาตรการต่างๆอันเป็นอุปสรรคหรือขัดขวางการใช้เสรีภาพ หรือกำหนดองค์ประกอบความผิดให้ชัดเจน หรือลดอัตราโทษหรือกำหนดให้เหลือเพียงโทษปรับ
กฎหมายเหล่านี้ ได้แก่ กฎหมายกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งระบบ กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ กฎหมายกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล เป็นต้น
2. ตรากฎหมายที่สนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคล
3. แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างดุลยภาพระหว่างการบริหารราชการในสถานการณ์จำเป็นและวิกฤติ และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล สร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษเหล่านี้
กฎหมายเหล่านี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2550
4. ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ 2002
5. ตรากฎหมายและแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งหมด
6. บัญญัติให้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๑๙๔๘ ของสหประชาชาติ มีผลโดยตรงในระบบกฎหมายภายใน มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญ
You must be logged in to post a comment Login