วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไข่ฟาแบร์เช / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On March 23, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 657 วันที่ 23-30 มีนาคม 2561)

คนค้าของเก่าบอกขายไข่ทองคำโดยประเมินราคาตามน้ำหนักทอง แต่ผู้ซื้อไม่ตกลงเพราะจะนำไปหลอมเอาแต่ทองคำและคิดว่าคนขายประเมินราคาเกินจริง ต่อมาภายหลังพบว่ามันคือไข่อีสเตอร์ของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ของรัสเซีย มีมูลค่ากว่า 20 ล้านดอลลาร์

พ่อค้าของเก่าชาวอเมริกันผู้ไม่ประสงค์จะออกนามคนหนึ่งซื้อไข่ทองคำ 18K แกะสลักลวดลายลูกคลื่นรอบใบ วางบนขาหยั่งทองคำ 3 ขา ปลายขาหยั่งแกะสลักเป็นรูปอุ้งเท้าราชสีห์ ระหว่างขาหยั่งเชื่อมต่อกันด้วยพู่ห้อยทำจากทองสามกษัตริย์ กลางพู่ห้อยประดับลูกเพชรล้อมรอบพลอยไพลิน

เหนือพลอยไพลินด้านหน้าเป็นเพชรเม็ดเขื่อง ใช้เป็นปุ่มกดเปิดไข่ทองคำเผยให้เห็นนาฬิกาสตรี ตัวเรือนเป็นทองคำ 14K ซ่อนอยู่ภายใน ไข่ทองคำใบนี้ถูกวางขายในร้านค้าของเก่าแห่งหนึ่งในราคา 13,302 ดอลลาร์ โดยประเมินจากน้ำหนักทองคำและมูลค่าเพชรพลอยที่ประดับ

พ่อค้าของเก่าที่ซื้อไข่ทองคำใบนี้นำมันไปตั้งในห้องครัวตั้งแต่ปี 2004 จนกระทั่งถึงปี 2012 เขาตัดสินใจจะขายทิ้งโดยประเมินราคาตามน้ำหนักทองคำและมูลค่าเพชรพลอยที่ใช้ประดับเช่นเดียวกับตอนที่ซื้อมา โดยหวังว่าจะได้ราคาราว 15,000 ดอลลาร์ แต่ผู้สนใจจะซื้อไม่ตกลงเพราะคิดว่าคนขายประเมินราคาสูงเกินจริง

ระหว่างรอคนสนใจจะซื้อไข่ทองคำรายต่อไป พ่อค้าของเก่านิรนามค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตโดยใช้คำค้นหาว่า “egg” และ “Vacheron Constantin” ซึ่งเป็นยี่ห้อของนาฬิกาสตรีที่ซ่อนอยู่ในไข่ทองคำ เขาต้องประหลาดใจที่พบบทความของสำนักข่าว The Telegraph ระบุว่า มันคือหนึ่งในไข่ฟาแบร์เชที่สร้างให้กับซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ของรัสเซีย มีมูลค่าประมาณ 20 ล้านดอลลาร์

ของขวัญวันอีสเตอร์

ปี 1885 จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย สั่งทำไข่อีสเตอร์เพื่อเป็นของขวัญให้กับจักรพรรดินีมารีเยีย ฟอโดรอฟนา แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 สั่งทำไข่อีสเตอร์ประดับอัญมณีให้กับจักรพรรดินี เพราะในสมัยนั้นเทศกาลอีสเตอร์ถือว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดของปี เพียงแต่ว่าคราวนี้จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 มอบหมายงานให้กับปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช ช่างอัญมณีวัย 38 ปี

ฟาแบร์เชแตกต่างจากช่างอัญมณีคนอื่นๆตรงที่เขาใส่ใจกับการออกแบบมากกว่าการเน้นเพียงแค่ตัวทองคำและเพชรพลอย ไข่ฟาแบร์เชใบแรกมองภายนอกดูเรียบง่ายเหมือนไข่อีสเตอร์ทั่วไป มีความยาว 2.5 นิ้ว ทำจากทองคำเคลือบวัสดุสีขาวเพื่อให้ดูเหมือนไข่จริง เมื่อแกะเปลือกออกจะพบไข่แดงทำจากทองคำ และเมื่อแกะไข่แดงออกจะพบแม่ไก่ทองคำซ่อนอยู่ภายใน

แต่นั่นยังสร้างความประหลาดใจไม่พอ หางไก่ทองคำทำหน้าที่เป็นบานพับ เมื่อยกหางไก่ขึ้นตัวไก่จะเปิดออกเผยให้เห็นมงกุฎจักรพรรดิจำลอง มีจี้ทับทิมร้อยสร้อยคอทองคำห้อยอยู่บนมงกุฎจำลองสำหรับจักรพรรดินี

จักรพรรดินีทรงพอพระทัยของขวัญชิ้นนี้มาก จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 จึงมอบหมายงานออกแบบไข่อีสเตอร์ให้ฟาแบร์เชรับผิดชอบทำถวายเป็นประจำทุกปีภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อคือ 1.ต้องเป็นรูปทรงไข่เท่านั้น 2.ภายในต้องซ่อนของขวัญสร้างความประหลาดใจ และข้อสุดท้าย ห้ามทำซ้ำโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะสร้างถวายพระองค์หรือทำให้ผู้อื่น นอกเหนือจากเงื่อนไข 3 ข้อนี้ ฟาแบร์เชอยากจะทำอะไรก็ทำไปเลย ไม่ต้องบอก ไม่ต้องถาม เพราะพระองค์ก็อยากจะประหลาดใจเหมือนกันว่าในไข่มีอะไร

ไข่คู่เหมือน

ไข่ใบที่สองสูญหายไปตั้งแต่ปี 1922 ไม่มีข้อมูลมากนักนอกจากภายในบรรจุสร้อยคอไพลิน ส่วนไข่ใบที่ 3 สร้างเมื่อปี 1887 ซึ่งก็คือไข่ทองคำใบที่พ่อค้าของเก่าชาวอเมริกันพบเมื่อปี 2012 ฟาแบร์เชสร้างไข่อีสเตอร์ถวายจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 เป็นประจำทุกปีจนกระทั่งพระองค์สวรรคตในปี 1894

จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ขึ้นครองราชย์ พระองค์รับสั่งให้ฟาแบร์เชทำไข่อีสเตอร์ถวายเหมือนเดิม แต่คราวนี้ต้องทำให้ครั้งละ 2 ใบ ใบหนึ่งถวายพระมารดา อดีตจักรพรรดินีมารีเยีย ฟอโดรอฟนา ส่วนอีกใบหนึ่งถวายจักรพรรดินีองค์ปัจจุบัน อเล็กซานดรา ฟอโดรอฟนา

ฟาแบร์เชสร้างไข่อีสเตอร์ถวายจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เป็นประจำทุกปีเหมือนที่เคยทำถวายพระบิดาพระองค์ ยกเว้นปี 1904-1905 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่รัสเซียทำสงครามกับญี่ปุ่น แต่น่าแปลกใจที่ไม่รับสั่งให้หยุดทำไข่อีสเตอร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ฟาแบร์เชสร้างไข่อีสเตอร์ถวายจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ราชวงศ์ถูกโค่นล้มราชบัลลังก์ รวมแล้วฟาแบร์เชสร้างไข่อีสเตอร์ถวายราชวงศ์รัสเซีย 50 ใบ อดีตจักรพรรดินีมารีเยีย ฟอโดรอฟนา เป็นผู้เดียวที่สามารถหลบหนีออกมาได้ ส่วนจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 จักรพรรดินีอเล็กซานดรา ฟอโดรอฟนา พระราชบุตรและพระราชธิดา เสียชีวิตทุกพระองค์

ไร้ราคา

ปี 1918 ฟาแบร์เชหลบหนีไปยังสวิตเซอร์แลนด์ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1920 ทรัพย์สมบัติของราชวงศ์โรมานอฟจำนวนมากถูกปล้นสะดม รวมถึงไข่ฟาแบร์เชทั้งหมดสูญหายไป จนกระทั่งในปี 1922 รัฐบาลรัสเซียติดตามไข่ฟาแบร์เชคืนมาได้ 40 ใบ แต่ช่วงเวลานั้นรัฐบาลต้องการเงินมาฟื้นฟูประเทศ ทรัพย์สินส่วนหนึ่งจึงถูกนำออกมาขายหาเงินเข้าประเทศ รวมถึงไข่ฟาแบร์เช

นักสะสมงานศิลปะที่สนใจไข่อีสเตอร์มีเพียงกลุ่มเล็กๆเท่านั้น ทำให้ไข่ฟาแบร์เชถูกขายไปในราคาที่ถูกแสนถูก เช่น ไข่ฟาแบร์เชที่สร้างในปี 1903 ถูกขายให้กับอเล็กซานเดอร์ เชฟเฟอร์ นายหน้าชาวอเมริกัน ในราคาเพียง 1,000 ดอลลาร์ (ค่าเงินปัจจุบันราว 13,500 ดอลลาร์)

ปี 1930 อาร์มานด์ แฮมเมอร์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน เหมาซื้อไข่ฟาแบร์เช 10 ใบ ในราคาระหว่างใบละ 240-3,900 ดอลลาร์ แต่นั่นก็ใช่ว่าแฮมเมอร์จะสามารถทำกำไรได้อย่างที่คาดคิด เพราะดูเหมือนจะไม่มีนักสะสมคนไหนสนใจ

อุปสงค์ อุปทาน

หลายปีผ่านไปไข่ฟาแบร์เชถูกเร่ขายเอากำไรเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งในปี 1965 มัลคอล์ม ฟอร์บส์ เจ้าของนิตยสารฟอร์บส์ ทุ่มเงิน 50,000 ดอลลาร์ ซึ่งเขาให้ราคาสูงกว่าราคาตลาด 3 เท่าตัว กว้านซื้อไข่ฟาแบร์เชและพยายามตามล่าหาไข่ฟาแบร์เชที่เหลือทั้งหมด

ฟอร์บส์ไล่บี้ราคาไข่ฟาแบร์เช จนกระทั่งในปี 1985 ราคาพุ่งไปสูงถึงใบละ 1.7 ล้านดอลลาร์ เมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1990 ฟอร์บส์ควานหาไข่ฟาแบร์เชมาได้ 9 ใบ มาถึงตอนนี้นักสะสมเริ่มเบนเข็มมาสนใจไข่ฟาแบร์เช

ทายาทฟอร์บส์สืบสานความตั้งใจของมัลคอล์ม ตระเวนควานหาไข่ฟาแบร์เชที่เหลือชนิดที่ว่าจ่ายไม่อั้น เท่าไรเท่ากัน ทันทีที่ได้ข่าวว่ามีคนนำไข่ฟาแบร์เชออกมาประมูล พวกเขาจะตัดหน้าติดต่อเสนอราคาก่อนเปิดการประมูลชนิดที่ว่าเจ้าของไข่ฟาแบร์เชปฏิเสธไม่ลง

ปี 1996 ทายาทฟอร์บส์ควักกระเป๋าซื้อไข่ฟาแบร์เช 5.6 ล้านดอลลาร์ และอีกครั้งในปี 2002 ยอมจ่าย 9.6 ล้านดอลลาร์ เพื่อตัดขั้นตอนการประมูล แต่ตระกูลฟอร์บส์ไม่ใช่พ่อบุญทุ่มเพียงรายเดียว ปี 2004 วิคเตอร์ เว็กเซลเบิร์ก มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย โดดลงมาเล่นด้วย ทำให้เกิดการแย่งชิงจนราคาไข่ฟาแบร์เชถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์

แม้ว่าจะมีคนสนใจไ­ข่ฟาแบร์เชเพียงไม่กี่คน แต่คนกลุ่มนี้มีเงินทองมากมายมหาศาล พวกเขาแก่งแย่งกันเป็นเจ้าของไข่ฟาแบร์เชชนิดเท่าไรเท่ากัน ทำให้ราคาไข่ฟาแบร์เชในปัจจุบันประเมินว่ามีมูลค่าใบละอย่างน้อย 20 ล้านดอลลาร์

เป็นที่แน่นอนว่าปัจจุบันมีการค้นพบไข่ฟาแบร์เชแล้ว 43 ใบจากจำนวน 50 ใบ ส่วนอีก 7 ใบที่เหลือเชื่อว่าอยู่ในความครอบครองของใครบางคน รอแต่เพียงว่าเมื่อไรจะนำออกมาประมูลเท่านั้น

2-1

ปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช

3-1

ไข่ฟาแบร์เชใบแรก

4

จักรพรรดินีมารีเยีย ฟอโดรอฟนา

5-1

ไข่ฟาแบร์เชในตู้โชว์ (ขวา)

6

ภาพขยายไข่ฟาแบร์เชใบที่ 6

7-1

ส่วนประกอบไข่ฟาแบร์เชใบที่ 3

8-1

ไข่ฟาแบร์เชใบที่ 3 ถูกค้นพบล่าสุด

9

จักรพรรดินิโคลัสที่ 2

10-1

ราชวงศ์โรมานอฟรุ่นสุดท้าย


You must be logged in to post a comment Login