- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ยิ่งยื้อยิ่งโกลาหล
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
ความดื้อแพ่งไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมหลัง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่มีผลบังคับใช้กำลังนำมาซึ่งความโกลาหลทางการเมือง แม้จะมีการแก้ไขด้วยการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 แก้ปัญหามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ส่อว่าจะต้องใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งแก้คำสั่งเดิมอีกครั้ง และดูเหมือนว่าแม้จะมีการออกคำสั่งแก้แล้วปัญหาก็ไม่จบ ยิ่งหากรอปลดล็อกพรรคการเมืองหลัง พ.ร.ป. ฉบับสุดท้ายบังคับใช้ที่อาจลากยาวถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีคงเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ เพราะจะไม่มีพรรคไหนพร้อม 100% สำหรับการเลือกตั้งหากมีขึ้นตามโรดแม็พในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่ ซึ่งความไม่พร้อมจะนำไปสู่อะไรได้บ้างลองคิดเอาเอง
เข้าตำราวัวพันหลัก ลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งเดินยิ่งวน ต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่
หลังไม่ยอมปลดล็อกยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม จนทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการใดๆตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่กำหนดให้ต้องทำตามกรอบเวลาที่ขีดเส้นไว้ได้
นำมาซึ่งการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง
มาถึงวันนี้ส่อว่าจะมีการออกคำสั่งอีกครั้งเพื่อปรับปรุงแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 หลังจากมีแนวโน้มว่าพรรคการเมืองจะดำเนินการตามกรอบเวลาไม่ทัน เพราะไม่มีอิสระที่จะดำเนินการอะไรได้อย่างเต็มที่
สาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 คือ นับแต่มีคำสั่ง แม้พรรคการเมืองจะเริ่มทำกิจกรรมได้ แต่ต้องยื่นขอและได้รับอนุญาตจาก คสช. ก่อนเท่านั้น
ให้เปิดรับจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 พรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่ต้องยืนยันจำนวนสมาชิกพรรค โดยต้องให้สมาชิกส่งหนังสือยืนยันต่อหัวหน้าพรรคว่ายังมีความประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นต่อไป เมื่อส่งหนังสือยืนยันแล้วต้องชำระค่าสมาชิกพรรคให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน ถ้าทำไม่ทันให้ถือว่าพ้นจากสภาพการเป็นสมาชิกพรรค
นอกจากนี้ยังกำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองหาเงินทุนประเดิมพรรค 1 ล้านบาท หาสมาชิกพรรคให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 คน พร้อมชำระค่าสมาชิกพรรคภายใน 180 วันนับแต่วันที่ 1 เมษายน และภายใน 1 ปีต้องมีสมาชิกพรรคไม่ต่ำกว่า 5,000 คน พร้อมชำระค่าสมาชิกพรรค ภายใน 4 ปีต้องมีสมาชิกพร้อมชำระค่าสมาชิกไม่น้อยกว่า 10,000 คน
ให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ ปรับโครงสร้างบุคคลและข้อบังคับ จัดตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัดภาคละ 1 สาขา ภายใน 90 วันนับแต่ประกาศปลดล็อกให้พรรคการเมือง โดยขอขยายเวลาได้ 1 เท่า หากไม่ทันตามกำหนดจะงดจ่ายเงินอุดหนุนพรรค
ในการเลือกตั้งครั้งแรกให้พรรคการเมืองจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 คน และหัวหน้าสาขาเลือกกันเอง 7 คน หากพรรคใดหัวหน้าสาขาไม่พอก็ให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้จนครบ 7 คน เพื่อทำหน้าที่สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งพรรคเก่าพรรคใหม่ต่างแสดงความกังวลว่าจะดำเนินการต่างๆตามกรอบเวลาไม่ทัน โดยเฉพาะการยืนยันสมาชิกพรรคของพรรคการเมืองเก่า เนื่องจากเดือนนี้ติดวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์หลายวัน อาจทำให้การยืนยันสมาชิกและการชำระค่าสมาชิกมีปัญหา
นอกจากการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคและจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่อาจทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เซ็นรับรองการเป็นสมาชิกถึงคราวซวยในอนาคตได้ เพราะหัวหน้าพรรคอาจไม่มีเวลาในการตรวจสอบให้ละเอียดก่อนเซ็นรับรอง ซึ่งอาจถูกนำไปฟ้องร้องเป็นคดีว่าปั้นตัวเลขเพื่อต้องการให้สมาชิกครบจำนวนตามกฎหมายกำหนดโดยไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ
ดูแล้วปวดหัว มองเห็นความวุ่นวายรออยู่เบื้องหน้า
แม้จะมีการปรับแก้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เพื่อขยับกรอบเวลาหรือผ่อนปรนเงื่อนไขให้พรรคการเมืองดำเนินการต่างๆได้ แต่ก็คงไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมด
ที่เป็นเช่นนี้เพราะดื้อแพ่งไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมือง และหากยึดตามคำพูดของผู้มีอำนาจที่ว่าจะปลดล็อกเมื่อ พ.ร.ป. มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการครบทุกฉบับแล้ว
กว่าจะปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้เต็มรูปแบบโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตจาก คสช. ก่อน อาจลากยาวไปถึงช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน (หากมีการยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.)
ถ้าลากยาวไปถึงขนาดนั้นคงเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ เพราะคงไม่มีพรรคไหนพร้อม 100% สำหรับการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งหากมีขึ้นตามโรดแม็พในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่
ความไม่พร้อมของพรรคการเมืองอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้อ้างเลื่อนเลือกตั้งเพื่อให้เวลาพรรคการเมืองเตรียมความพร้อม
ทั้งหมดเป็นเพราะไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมืองหลัง พ.ร.ป.พรรคการเมืองประกาศใช้แท้ๆ
You must be logged in to post a comment Login