วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เมื่อต้องใส่ฟันปลอม / โดย ทพญ.พัชรมัย อดออมพานิช

On March 30, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช /

ผู้เขียน : ทพญ.พัชรมัย อดออมพานิช

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 30 มีนาคม-6 เมษายน 2561)

ผู้ที่ประสบปัญหาสูญเสียฟันและมีความจำเป็นต้องใส่ฟันปลอมทดแทนฟันจริง หลายคนกังวลว่าการใส่ฟันปลอมจะดีเท่ากับฟันจริงหรือไม่ แล้วจะเลือกอย่างไรให้เหมาะสม

ฟันปลอมคืออุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยมีบทบาททั้งในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพของการบดเคี้ยวอาหาร เมื่อมีการสูญเสียฟันและเกิดเป็นบริเวณสันเหงือกว่างขึ้นอาจส่งผลให้ฟันซี่ข้างเคียงในขากรรไกรเดียวกันเคลื่อนล้มมาสู่บริเวณช่องว่าง หรือฟันคู่สบในขากรรไกรตรงข้ามเกิดการยื่นยาวลงมา ส่งผลให้ระบบบดเคี้ยวโดยรวมทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะสมดุล สามารถป้องกันได้ด้วยการใส่ฟันปลอม และด้านความสวยงามเสริมสร้างบุคลิกภาพและความมั่นใจในการเข้าสังคม

ฟันปลอมแบ่งง่ายๆออกเป็น 2 ชนิดคือ ชนิดถอดได้ และชนิดติดแน่น

ชนิดแรก ได้แก่ ฟันปลอมชนิดถอดได้ สามารถจำแนกออกเป็นฟันปลอมบางซี่และฟันปลอมทั้งปาก ฟันปลอมฐานพลาสติกและฐานโลหะ โดยคุณลักษณะทั่วไปคือ ผู้ป่วยสามารถถอดใส่ได้ด้วยตนเอง นำออกมาล้างทำความสะอาดนอกช่องปากได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยในการใช้งานและปรับตัว อาจเกิดความรำคาญในขณะพูดหรือบดเคี้ยวอาหาร และดูไม่สวยงามในบางครั้ง เช่น กรณีเห็นตะขอเกี่ยวของฟันปลอม

ชนิดที่สอง ได้แก่ ฟันปลอมชนิดติดแน่น เช่น ครอบฟัน สะพานฟัน หรือรากเทียม โดยคุณลักษณะทั่วไปคือ จะติดแน่นในช่องปากถอดไม่ได้ และทดแทนตรงตำแหน่งของซี่ฟัน ไม่มีส่วนของเหงือกปลอมหรือตะขอ ทำให้รู้สึกใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้ มีความแข็งแรง สวยงาม แต่ค่าใช้จ่ายสูง

จะเห็นได้ว่าฟันปลอมแต่ละชนิดมีรายละเอียดข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป รวมทั้งมีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นควรตรวจและปรึกษากับทันตแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณาก่อนเลือกว่าฟันปลอมแบบใดที่เหมาะสมกับเรา

เรื่องการทำความสะอาดก็เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับฟันปลอมชนิดถอดได้ควรรักษาความสะอาดด้วยการถอดฟันปลอมออกมาแปรงทุกครั้งหลังอาหาร รวมทั้งทำความสะอาดช่องปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปากด้วยการแปรงฟัน นอกจากนั้นในการหยิบจับฟันปลอมแต่ละครั้งควรทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากหากทำตก ฟันปลอมสามารถแตกหักเสียหายได้ และเมื่อไม่ได้ใช้งาน เช่น เวลากลางคืน ก่อนเข้านอนควรทำความสะอาดฟันปลอมและแช่ฟันปลอมไว้ในน้ำอุณหภูมิห้อง แต่สำหรับฟันปลอมชนิดติดแน่นควรรักษาความสะอาดร่วมกับการทำความสะอาดช่องปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปากตามปรกติ

สำหรับผู้ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ในช่วงแรกๆอาจมีน้ำลายไหลออกมาก แนะนำให้กลืนและไม่บ้วนน้ำลายทิ้ง ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวภายใน 2-3 วัน น้ำลายจะลดลงเองตามธรรมชาติ ซึ่งระยะแรกอาจเกิดอาการระคายเคือง เจ็บ หรือเคี้ยวอาหารไม่ถนัด กัดโดนแก้มหรือริมฝีปาก พูดไม่ถนัด ผู้ใส่ฟันปลอมควรเริ่มจากการรับประทานอาหารชิ้นเล็กๆ เคี้ยวช้าๆ หลีกเลี่ยงอาหารเหนียวและแข็ง รวมถึงการเคี้ยวหมากฝรั่ง และควรฝึกพูดคำที่รู้สึกว่าพูดไม่ชัดบ่อยๆ อาการต่างๆเหล่านี้จะหายไปเมื่อเริ่มคุ้นชินกับการใส่ฟันปลอม


You must be logged in to post a comment Login