วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“เวียดนาม”ใกล้ถึงเส้นชัย !

On April 5, 2018

คอลัมน์:โดนไปบ่นไป “เวียดนาม”ใกล้ถึงเส้นชัย!

โดย อนุดิษฐ์ นาครทรรพ (โลกวันนี้วันสุข วันที่ 6-13 เมษายน 2561)

วันก่อนผมอ่านรายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดของประเทศเวียดนาม  ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าศึกษาอยู่ไม่น้อยทีเดียวว่า  ทำไมเศรษฐกิจของเวียดนามจึงวิ่งแรงแซงโค้งทุกประเทศในอาเซียนได้อย่างสบายๆ  ใครๆก็ฉุดไม่อยู่จริงๆ

จากรายงานบอกว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ (2561) “ผลิตภัณฑ์มวลรวมของเวียดนาม” หรือ“GDP ใน Q1” เติบโตเร็วที่สุดในรอบ 10 ปีนี้เลยทีเดียว  โดยภาคการเกษตรอาหารทะเลและกิจการป่าไม้โตขึ้น 4.05 % ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกระโดดพรวดไปที่ 13.56%

เวียดนาม

การประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามในครั้งนี้  แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งสูงสุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา  โดยมาจากการขยายตัวทั้งสิ้น 7.38%ในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.)ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคงของทั้ง 2 ภาคเศรษฐกิจหลัก  ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรหรืออุตสาหกรรม

ว่ากันไปตามจริงแล้วอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของเวียดนามปีนี้  ต้องถือว่าเป็นโมเมนตัมต่อเนื่องมาจากครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว  ซึ่งเมื่อตัวเลข Q1 ยังโตต่อเนื่องด้วยก้าวย่างที่มั่นคง  จึงแปลความได้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีการพัฒนาในรูปแบบที่ทุกประเทศอยากได้  นั่นก็คือการเติบโตอย่าง “ยั่งยืน” นั่นเอง

เศรษฐกิจเวียดนามไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มขยายตัว  แต่ขยายตัวเป็น “อันดับ 1” จาก 10 ประเทศในอาเซียนตั้งแต่ปี 2553 ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงปีละ 6.81% ซึ่งเรื่องนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย  ถ้ารัฐบาลเวียดนามไม่ตัดสินใจปฏิรูปเศรษฐกิจมาสู่รูปแบบของ “ทุนนิยม” และทำให้การส่งออกของเวียดนามเป็นเครื่องมือสำคัญในการหารายได้ให้กับประเทศ

สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตตัวเลข 13.56% ในไตรมาสที่ 1 ถือเป็นตัวเลขที่สูงลิ่วจริงๆ  ตัวเลขนี้ยืนยันให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนและสนับสนุนให้มีกระบวนการกระตุ้นและเพิ่มกำลังการผลิตจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายยกตัวอย่าง เช่น “โทรศัพท์มือถือ” ที่ส่งขายทั่วโลกของ“บริษัทซัมซุง” ส่วนใหญ่จะถูกผลิตออกมาจากโรงงานในเวียดนามแทบทั้งสิ้น

เชื่อหรือไม่ว่าเฉพาะไตรมาสแรกประเทศเวียดนามทำการส่งออกโทรศัพท์มือถือและอะไหล่ต่างๆมีมูลค่าสูงถึง 12,300 ล้านเหรียญสหรัฐ  ซึ่งก้าวกระโดดขึ้นมาจากปีที่แล้วถึง 58.8%  ทำให้ได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นถึง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนภาคการเกษตรอาหารทะเลและกิจการป่าไม้ที่ขยายตัวสูงขึ้น 4.05% เมื่อเทียบจากปีที่แล้วในห้วงเวลาเดียวกัน  ต้องนับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปีทีเดียวที่การผลิตในภาคนี้มีอัตราการเติบโตเกิน 4% โดยตัวที่ทำรายได้หลักให้กับเวียดนามก็คือการส่งออกข้าวและสัตว์ปีกนั่นเอง

เวียดนามเป็นประเทศส่งออก “ข้าว” ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก  แต่ที่คนไทยอาจไม่ค่อยทราบก็คือ เวียดนามเป็นสุดยอดอันดับ 2 ของโลกที่ผลิตกาแฟคุณภาพสำหรับการส่งออกข้าวในไตรมาสแรกของปี 2561 นี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัว 9.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วด้วยปริมาณการส่งออก 1,350 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 668 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งสูงกว่าเดิม 23.8%

สำหรับไตรมาสแรกนี้  เวียดนามมีอัตราเงินเฟ้อแค่ 2.82% ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะเกินลิมิต 4% ตามที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้ก็ได้  ถ้าราคาน้ำมันผลิตภัณฑ์อาหารหรือเนื้อหมูมีราคาสูงขึ้นจนควบคุมไม่ได้แต่ในกรณีนี้คงเกิดขึ้นได้ยากมากๆ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของปีนี้จะยอดเยี่ยมในไตรมาสแรก  แต่รัฐบาลเวียดนามคงไม่ประมาทแน่นอน  เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งมีค่าเฉลี่ยเกือบ 7% ต่อปีถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายพอสมควร

การที่ประเทศจะประสพความสำเร็จได้นั้น  ย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน  ซึ่งรัฐบาลเวียดนามทำได้ “สุดยอด” จริงๆที่สามารถทำให้ทุกฝ่าย “จับมือ” และประสาน “ผลประโยชน์” กันได้อย่างลงตัว

ผมเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีจากนี้  เวียดนามจะพลิกโฉมจากประเทศ “กำลังพัฒนา” ไปสู่การเป็นประเทศ“พัฒนาแล้ว” เร็วกว่าที่ใครๆ คาดคิด  เหตุผลที่ผมมีความเชื่อเช่นนี้ก็เพราะ  เวียดนามมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีความเป็น “อินเตอร์” สูง  ประชาชนชาวเวียดนามเองก็มีความเป็นชาตินิยม ขยันขันแข็งและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี

วันนี้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามกำลังเดินตามประเทศมหาอำนาจใหม่ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของตนเองนั่นก็คือประเทศจีน ด้วยการ “ปฏิรูปประเทศ” โดยเฉพาะการเปิดรับเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยม”

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ผมนำมาถ่ายทอดในวันนี้คงจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า เวียดนามกำลังเป็นประเทศในอาเซียนอีกหนึ่งประเทศที่วิ่งไปข้างหน้าเพื่อเข้าเส้นชัยเหมือนกับสิงคโปร์และมาเลเซียที่ทำสำเร็จไปแล้วในอดีตก่อนหน้านี้

ประเทศเวียดนามเคยแตกแยกทางอุดมการณ์ความคิด  เคยแบ่งเป็นเหนือ-ใต้ เคยรบราฆ่าฟันกันเอง  ตอนที่เวียดนามใต้แพ้สงครามให้กับเวียดนามเหนือ  มีชาวเวียดนามจำนวนมากหลบหนีออกจากแผ่นดินเกิดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย  ซึ่งส่วนใหญ่ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นประเทศในสหภาพยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้ประชากรชาวเวียดนามโพ้นทะเลที่อพยพย้ายถิ่นฐานหนีภัยสงครามไปตั้งรกรากอยู่ในประเทศอื่นในปัจจุบันนี้มีจำนวนสูงเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน  ชาวเวียดนามโพ้นทะเลเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของประเทศ  เพราะประชากรในรุ่นต่อมาล้วนแล้วแต่เกิดและโตในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น

เมื่อเวียดนามประกาศเปิดประเทศและยินดีต้อนรับชาวเวียดนามโพ้นทะเลกลับบ้าน  ประเทศเวียดนามจึงมีโอกาสได้ทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่  ซึ่งส่วนใหญ่มีมาตรฐานด้านการศึกษาและประสบการณ์ต่างๆที่ถ่ายทอดมาจากประเทศเจริญแล้วขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวของชาวเวียดนามเหล่านั้นจะอพยพไปอาศัยอยู่ในประเทศไหน!

ดังนั้น ถ้าท่านเดินทางไปเวียดนามในวันนี้  จะไม่แปลกใจเลยถ้าท่านเห็นผู้บริหารระดับสูงของเวียดนามทั้งภาครัฐและเอกชนในปัจจุบันเป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ อายุน้อยๆ แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และประสบการณ์ที่จะดูแคลนไม่ได้เลย  และทรัพยากรคนรุ่นใหม่เหล่านี้นี่แหละที่กำลังพาประเทศเวียดนามวิ่งเข้าเส้นชัย

จะถึงเมื่อไหร่คงต้องคอยดูกันต่อไป!


You must be logged in to post a comment Login